คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (2) “ โต้ง จากคนไร้บ้านสู่คนทำงานพัฒนา”

ทำไมเขาถึงกลายเป็นคนไร้บ้าน เป็นคำถามที่มีคำตอบมากมายนานัปการ คำตอบหนึ่งที่เราคุ้นเคย คือ ปัญหาครอบครัวและบาดแผลทางจิตใจบางอย่างบีบบังคับให้พวกเขาออกมาเป็นคนไร้บ้าน เดชา จึงอุดมชัย หรือโต้ง ก็เช่นกัน เขากลายเป็นไร้บ้านหลังจากภรรยาสุดที่รักเสียชีวิต เขาเข้ากับญาติฝ่ายภรรยาไม่ได้ จึงเลือกเดินออกมาอย่างชายผู้รักอิสระ ท่ามกลางการใช้ชีวิตอย่างหมดหวังไปวันๆ เขาก็พานพบกับจุดเปลี่ยน จุดเปลี่ยนนี้ไม่เพียงทำให้เขามีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่เปลี่ยนความคิดเขาให้ทำอะไรบางอย่างที่เหนือไปกว่าตนเอง

…และนี่คือเรื่องราวบางส่วนของเขา

ศาลาทักษิณบริเวณสถานีรถไฟเชียงใหม่ แยกทุ่งโฮเต็ล ที่โต้งใช้หลับนอนช่วงที่เขาไร้บ้าน

โต้ง เป็นคนจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันอายุ 48 ปี ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ปี พ.ศ.2548 เพราะได้ภรรยา เขาใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาเฉกเช่นเดียวกับคู่ชีวิตคู่อื่น ประกอบอาชีพค้าขายผ้าผันคอทอมือที่ไนท์บาร์ซ่าไปตามอัตภาพ แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมียล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เขาดูแลภรรยาในช่วงสุดท้ายของชีวิตเธอ 4 เดือน ก่อนภรรยาจากไป พอภรรยาเสียชีวิตเขาต้องเผชิญกับมรสุมชีวิต “ครอบครัวภรรยาไม่ค่อยต้อนรับเรา เราเข้ากันไม่ได้” จึงต้องออกมาโดดเดี่ยวอยู่ข้างนอกใช้ชีวิตตามที่สาธารณะ “มานอนที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ตรงศาลาทักษิณ ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้พักใหญ่ ประมาณ 2 ปีขึ้นไป”

ช่วงเวลาแห่งการ “ไร้บ้าน” เขานอนอยู่ในศาลา ตื่นเช้าออกไปเก็บขยะตามที่ต่างๆ ได้เงินวันละ 100 กว่าบาท วนเวียนอยู่อย่างนั้นราวสองปีกว่า ต่อมาวันหนึ่งมีคนเข้ามาหา มาเยี่ยม มาสอบถามข้อมูลบางอย่างกับเขา

“เขาบอกว่า เป็นเอ็นจีโอมาจากกรุงเทพของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ทำประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนจรจัด มาคุยกับเราเดือนหนึ่งประมาณ 4-5 ครั้ง มาหาเราอย่างต่อเนื่องได้สักระยะหนึ่ง เขาก็พาเราไปรู้จักกลุ่มคนไร้บ้านที่ลานประตูท่าแพ เป็นการประชุมกลุ่มย่อย ในการประชุมมีการเสนอทำโครงการต่างๆ เช่น ธนาคารคนไร้บ้าน สวัสดิการรักษาวันละบาท เขาชวนเราเข้าร่วม”

“ตอนแรกบอกตรงๆ เราไม่ไว้ใจ แต่พอเข้าร่วมประชุมบ่อยๆประมาณ 3 อาทิตย์ เราตัดสินใจเข้าร่วมโครงการต่างๆกับเขา เริ่มจากเข้าร่วมโครงการออมทรัพย์ มีเท่าไหร่ก็ออมเท่านั้น ตอนนั้นผมเก็บขยะขาย มีรายได้อยู่บ้างแต่ไม่มาก ได้วันหนึ่งประมาณ 100 กว่าบาท ขยะที่เก็บขายจะเน้นพวกขวดกับกระดาษ เพราะได้ราคาดี จึงร่วมสวัสดิการออมวันละบาท และสิทธิในการรักษาวันละบาท เราร่วมสองโครงการนี้ก่อน ตอนนั้นก็เข้าร่วมแบบกล้าๆกลัวๆ แต่พอเราเก็บเงินออมไปเรื่อยๆความรู้สึกก็เริ่มดีขึ้น พบว่า เขาไม่ได้มาหลอกเราไปทำงาน หรือเอาเราไปค้ามนุษย์ ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับโครงการเขาอย่างเต็มรูปแบบ เข้าไปอยู่ในระบบ คือ เขาไปอยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้านตอนนั้นอยู่ลอยเคราะห์ซอยสามเมื่อปีพ.ศ.2553”

พี่โต้งเล่าอีกว่า ในศูนย์คนไร้บ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเก็บขยะ 99 เปอร์เซ็นต์ อีก 1 เปอร์เซ็นต์ไปยืนรอรับจ้างที่กาดคำเที่ยง ใกล้เจเจมาร์กเกต แม้เขาจะเลือกประกอบอาชีพเดิม แต่เขาเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในงานแบบเดียวกัน แต่ต่างกันจากงานที่ทำคนเดียวกับงานที่ทำเป็นกลุ่ม

“พอไปอยู่ในศูนย์ฯ ผมเก็บขยะเหมือนเดิมตามปกติ แต่ในกลุ่มทำให้ขยะมีค่ามากกว่าเดิม จะมีการคัดแยกขยะในศูนย์ฯ ปกติเวลาเราเก็บขาย เราจะไปขายร้านข้างนอกเองราคาถูก แต่ถ้ารวมกลุ่มกันมีการคัดแยกแล้วไปขายที่โรงงานเลยจะได้ราคาดีกว่า ดังนั้น เราจะเก็บขยะแล้วนำมาขายให้กับกลุ่มเรา เพื่อให้กลุ่มนำไปขายต่อ พอเราได้เงินก็ออมกับธนาคารคนไร้บ้าน แล้วผมทำงานคัดแยกขยะให้ศูนย์ฯก็ได้เงินมาอีกทาง ทำมาได้สักระยะหนึ่ง ผมก็ซื้อรถเข็นเก็บขยะเอง มันเหมือนได้พัฒนาตัวเราเรื่อยๆ ”

ภาพภายในศูนย์พักพิงคนไร้บ้านเชียงใหม่/ประชาธรรม

ในระหว่างอยู่ที่ศูนย์ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เป็นกิจกรรมสมัครใจ ไม่บังคับ โต้งเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเห็นว่ากิจกรรมแต่ละอย่างช่วยพัฒนาตัวเขา

“ผมตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเดินกาแฟ(เดินเยี่ยมคนไร้บ้านในเชียงใหม่) เริ่มแรกก็ไปสังเกตการณ์ ไปดูก่อนว่าเขาทำงานแบบไหน ก็คือ การไปเดินพบปะคนไร้บ้านเพื่อพูดคุย ถามไถ่สาระทุกข์สุขดิบว่า เก็บขยะได้เยอะไหม กินข้าวกินปลาอย่างไร เป็นไข้รึเปล่า พอทำไปมันให้ความรู้สึกว่ากิจกรรมแบบนี้ดีเนอะ มันทำแล้วมันช่วยเหลือสังคมได้ด้วย”

กิจกรรมต่อมาที่เข้าไปร่วมก็โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต การทำน้ำยาอีเอ็ม และปลูกผักอินทรีย์ เกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการออมทรัพย์ และธนาคารคนไร้บ้าน(ที่กลุ่มตั้งขึ้นมา)(อ่านรายละเอียด คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์: เปิดตัวน้ำยาอีเอ็ม -ผักอินทรีย์ ฝีมือคนไร้บ้านเชียงใหม่)

โต้งกับรถพ่วงคู่ใจ ระหว่างเดินทางไปทำกิจกรรมเดินกาแฟ/ธีรมล บัวงาม

ภาพความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านเชียงใหม่/กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่

ปัจจุบัน โต้ง คือ สมาชิกเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ และกำลังจะอยู่ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านเชียงใหม่ถาวรที่ตัวเองร่วมผลักดันมา ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านพอช. จัดทำเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว และพัฒนาคุณภาพชีวิต มีกำหนดการสร้างเสร็จในช่วงต้นปีพ.ศ. 2561  ศูนย์แห่งนี้โต้งมีส่วนร่วมในการออกแบบ มันจึงเสมือเป็นบ้านหลังที่สองของเขา เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องคำถาม คือ โต้งยังเป็นคนไร้บ้านอยู่หรือไม่

“ผมเป็นคนไร้บ้าน ที่ไม่ “ไร้บ้าน” ตอนตัดสินใจเข้ากลุ่มฯ มันทำให้เราได้รู้ว่า เราได้ทำสิ่งที่เหนือตัวเราไปแล้ว เราเหมือนเราได้ทำเพื่อสังคม ทุกคนเหมือนกันหมด พอเราได้ทำงาน พี่น้องทุกคนในกลุ่มคิดเหมือนกัน จากเมื่อก่อนที่เคยอยู่คนเดียวไม่พูดคุยกับใคร พอเราทำงานร่วมกัน ก็ต้องมีการพูดคุยปรึกษาหารือ จึงทำให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น พอเราได้คุยกันมากขึ้นมันเหมือนเราได้ใช้สมองเกิดปัญญาเพื่อแก้ปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้าน นี่จึงเป็น “บ้าน” ของเรา”

“อีกอย่างเมื่อเข้ากลุ่มมา เราเรียนรู้ว่า ยังมีโอกาสให้กับคนแบบพวกเรา คนที่ไปสมัครงานตามห้างร้านก็ไม่มีใครเอา เพราะอายุเกิน แต่เรากลับมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้ เพียงแค่เรารวมกลุ่ม เข้าร่วมกลุ่ม อย่างน้อยมีโอกาสพูดคุย ระบายสาระทุกข์สุขดิบ ได้พัฒนาสมอง พัฒนาตนเอง สร้างอาชีพ   ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับผมและคนในศูนย์ มันทำให้เราเริ่มคิดอะไรที่มากกว่าตัวเอง เรามีความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกับเรา ภายใต้ความคิด ทุกคนทำได้ ทุกคนมีศักยภาพสามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะเราก็ผ่านจุดนั้นมาแล้ว”

 

โต้ง หรือ เดชา จึงอุดมชัย