พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการสอดส่องคุกคาม

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลได้ทยอยประกาศมาตรการบรรเทาความเสียหายจาก ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุพรก. ฉุกเฉิน (ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563) สู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด, การปิดตายพื้นที่เสี่ยงและสถานประกอบการ, การจำกัดสิทธิในการรวมตัวกันใช้พื้นที่สาธารณะ, การคัดกรองประชาชนเวลาเข้า-ออกจากพื้นที่ต่าง ๆ  และการ “สนับสนุน” ให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อติดตามการเดินทางของประชาชน 

และสำหรับประชาชนมาที่จากประเทศเพื่อนบ้าน การเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ว่าบุคคลที่ตกค้างในพื้นที่นั้นจะทำงานหรืออยู่อาศัยที่อื่นก็ตาม และไม่ว่าสถานที่ที่หน่วงเหนี่ยวคนเอาไว้จะขาดแคลนทรัพยากรยังชีพขนาดไหน หรือมีสภาพที่ไม่ปลอดภัยและไม่ถูกสุขอนามัยแค่ไหนก็ตาม ในขณะที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้คอยสอดส่องหาพื้นที่เสี่ยง และ “ศึกษาวงจรชีวิตของแรงงานพม่า เช่น การเดินทางของแรงงานไปตามสถานที่ต่าง ๆ” เพื่อจะได้เข้าไปตรวจตราพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

มาตรการควบคุมระดับประเทศดังกล่าวสะท้อนแนวทางการทำงานในอดีตของรัฐบาลอยู่หลายจุด ในช่วงแรกเริ่มของการระบาด รัฐบาลได้จำกัดเวลาใช้พื้นที่นอกบ้านอย่างเข้มงวด ปิดพรมแดน ให้อำนาจตัดสินใจล็อคดาวน์จังหวัดแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทยอยปิดสถานที่ที่เสี่ยง และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกอ. รมน. ลาดตระเวณตามพื้นที่สาธารณะ พร้อมกับพื้นที่คนใช้สัญจรอย่างสถานีขนส่งและถนนหนทาง ณ ปัจจุบัน แนวทางจำกัดอิสระในการเคลื่อนไหวและใช้พื้นที่ร่วมกับผู้อื่นยังคงดำเนินต่อไป แล้วสภาวะแบบนี้บอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับสภาพของ “พื้นที่สาธารณะ” ในประเทศไทย? 

หากเราตัดคำว่าโควิดออกไป นี่ฟังดูเหมือนเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ก่อการร้ายมากกว่า เพราะมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้คือแนวทางรักษาความสงบเรียบร้อย มันถูกดีไซน์ออกมาเพื่อรักษา “ความมั่นคงของประเทศ” ผ่านการควบคุม สอดส่อง และปราบปราม “ภัยคุกคาม” พรก. ฉุกเฉินได้นำตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างใกล้ชิดกว่าเดิม ดังที่เราได้เห็นจากมาตรการเคอร์ฟิว ซึ่งเปลี่ยนการอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งให้เป็นอาชญากรรมที่มีบทลงโทษ และเปิดโอกาสให้ชุดสายตรวจและหน่วยงานความมั่นคงกระจายตัวไปตามมุมต่าง ๆ คอยตรวจค้น สืบสวนผู้คนนับหมื่นคน และดำเนินคดีกับประชาชนนับร้อย, การตั้งจุดสกัดคัดกรองประชาชนรอบ ๆ พื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะตามเส้นทางคมนาคมสัญจรต่าง ๆ หรือการเข้าจับกุมผู้ไปพื้นที่เสี่ยงและไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจโรคโควิด-19 ได้ 

อาจกล่าวได้ว่า เมืองแต่ละเมืองได้กลายเป็นห้องทดลองสำหรับการสอดส่องควบคุมผู้คน นี่อาจดูเป็นปรากฏการณ์ใหม่หรือ “new normal” ในช่วงการแพร่ระบาด แต่ที่จริงแล้ว การใช้อำนาจและกฎหมายควบคุมและสอดส่องประชาชนในพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะสำหรับผู้ประสบภาวะไร้บ้าน

ที่ผ่านมา คนที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะนั้นโดนปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากร เนื่องจากกฎหมายได้อนุญาตให้ตำรวจดำเนินคดีกับคนที่ใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อพักผ่อน หลับนอน ขับถ่าย หรือทำมาหากิน ไม่ว่าจะด้วยการจำคุก ปรับเงิน หรือทั้งจำและปรับ แต่ในขณะเดียวกันเอง เทศบาลเมืองหรือรัฐบาลยังไม่สามารถจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะ หรือหากสิ่งเหล่านั้นถูกติดตั้งแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าจะอยู่ในสภาพที่ดีเสมอไป ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยถาวรสำหรับคนจนเองก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่คนไร้บ้านจำนวนมากไม่อาจทำตามได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหลักฐานทางการเงิน เงินหลักหมื่นที่ต้องเตรียมไว้ก่อน หรือกระทั่งการยื่นบัตรประชาชน ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำหรับธุรกรรมต่าง ๆ อาทิ การลงทะเบียนคนจน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) การเปิดบัญชีธนาคาร  การรับเงินเยียวยา หรือการเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากคนไร้บ้านหลายคนไร้ชื่อในระบบทะเบียนราษฎรด้วย ทำให้ทางเขตไม่สามารถออกบัตรประชาชนให้ได้

อคติและมายาคติเกี่ยวกับคนไร้บ้านยังช่วยสร้างสังคมที่เพ่งเล็งคนไร้บ้านเป็นพิเศษ คนไร้บ้านถูกตีตราว่าเป็นคนสกปรกที่คอยทำลายทัศนียภาพเมือง คนมีอาการทางจิต คนอันตราย และส่วนเกินของสังคม สมควรเผชิญกับการใช้กำลังเบียดขับให้ออกไปจากพื้นที่สาธารณะ หรือเผชิญกับการถูกผลักไสเข้าระบบสงเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนไร้บ้านทุกคนต้องการ 

เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด และต้องรักษาระยะห่างเพื่อลดการแพร่เชื้อ การสอดส่องและควบคุมคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ ในช่วงที่ยังมีการประกาศมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 22.00 – 04.00 น. การกวาดจับคนไร้บ้านที่พักอาศัยอยู่ในที่สาธารณะเริ่มต้นขึ้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในเชียงใหม่ มีคนไร้บ้านอย่างน้อย 10 ที่โดนจับกุมและดำเนินคดี และมีอย่างน้อย 2 คนที่โดนจำคุกรอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี เสียค่าปรับตั้งแต่ 1,500 – 3,000 และ “ห้ามออกจากเคหสถาน […] โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง” 

หลังจากที่คนไร้บ้านถูกกักตัวในสถานตำรวจ 1 คืนและถูกพาขึ้นศาลในวันถัดไป คำพูดสุดท้ายที่ศาลฝากไว้ก่อนจบกระบวนการทางกฎหมายคือ “วันหลังอย่าเดินออกจากบ้านเวลา 4 ทุ่ม น่ะ” 

นอกจากนี้เอง การแจกจ่ายอาหารในที่สาธารณะยังเป็นเรื่องต้องห้าม  ทำให้ผู้เดือดร้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้โดนเลิกจ้างหรือคนไร้บ้านไม่สามารถรับอาหารได้ และหากใครต้องการให้ความช่วยเหลือ ต้องเดินเรื่องผ่านสำนักงานเขตก่อน

นับตั้งแต่รัฐบาลทำสงครามกับโรคโควิด-19 ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล การควบคุมผู้คนไม่ให้ออกไปไหนยามค่ำคืนและการปิดสถานประกอบการต่าง ๆ ได้ไปจากคนไร้บ้าน เนื่องจากแหล่งรายได้หลักของคนไร้บ้านมาจากการว่าจ้างงานทำงานทั่วไปรายวัน โดยเฉพาะงานใช้แรงงาน และการเก็บของเก่าขาย[1], [2]  ซึ่งจะดำเนินในช่วงกลางคืนจนก่อนฟ้าสาง ร้านรวงที่พากันปิดตัว นักท่องเที่ยวที่หายตัวไป และตลาดที่นิ่งสนิทเท่ากับรายได้ที่กลายเป็นศูนย์ เมื่อไม่มีเงินยังชีพ ผู้คนจึงไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป และถูกบีบให้ออกมาข้างนอกในที่สุด นักวิชาการคาดการณ์ว่าอัตราคนไร้บ้านในประเทศไทยจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว นั่นแปลว่าสังคมไทยจะมีคนไร้บ้านหน้าใหม่หรือคนไร้บ้านอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ภาวะไร้บ้านในปี 2563 แล้ว การจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะนั้นไกลจากการบรรเทาความทุกข์ยากของคนไร้บ้าและการยุติภาวะไร้บ้านมากโข

ในบทความ “แนวคิดสาธารณะของพื้นที่สาธารณะในเมือง” ศุภชัย ชัยจันทร์และณรงพน ไล่ประกอบทรัพย์ช่วยสรุปคำอธิบายสั้น ๆ ของพื้นที่สาธารณะไว้ดังนี้

“พื้นที่สาธารณะ” (Public Space) […] เป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทุกๆ คน เปิดรับ สามารถเข้าถึงได้หรือแบ่งปันร่วมกันกับสมาชิกทุกๆ คนในชุมชน และถูกจัดเตรียมด้วยภาครัฐเพื่อสาธารณชน ดังนั้น พื้นที่สาธารณะจึงเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ในเชิงกายภาพซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทุกคนและมีการเข้าถึงได้มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ทางเท้า ถนน สวนสาธารณะ ลานชุมชน ลานเมือง เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต”

ความเปิดกว้าง ความเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทุกคนมีร่วมกัน ความเสมอภาคในการใช้พื้นที่สาธารณะ การทำกิจกรรมในฐานะพลเมืองร่วมกัน – สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียกว่ากันว่า “พื้นที่สาธารณะ” ไม่ว่าใครจะมีพื้นเพชีวิตแบบไหน ไม่ว่าจะมีเพศอะไร มีเชื้อชาติหรือมาจากกลุ่มชาติพันธุ์อะไร มีอายุเท่าไหร่ และในมือและกระเป๋าพกพาความมั่งคั่งมาเท่าใด ทุกคนควรมีสิทธิได้ใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเสรีและปลอดภัย 

แต่เมื่อเรากลับมาทบทวนประสบการณ์การใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนไร้บ้าน มันช่างต่างจากแนวคิดข้างบนเหลือเกิน เพราะพื้นที่สาธารณะของคนไร้บ้านนั้นมาคู่กับปฏิบัติการการใช้อำนาจและกฎหมายควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็น พรก. ฉุกเฉิน, พรบ. ควบคุมการขอทาน, พรบ. คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือแผนจัดการคนเร่ร่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว พื้นที่สาธารณะของคนไร้บ้านมาพร้อมกับการลงโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในประเทศ ด้วยข้อหา “พยายามเอาชีวิตรอด” พื้นที่สาธารณะของคนไร้บ้านมาพร้อมกับการบอกคนไร้บ้านว่า “คุณไม่ใช่พลเมือง” “ที่ตรงนี้ไม่ใช่ของคุณ” “คุณไม่มีสิทธิและไม่สมควรที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้” “ชีวิตของคุณมีคุณค่าน้อยกว่าสิ่งประกอบภูมิทัศน์ที่กินไม่ได้ หายใจไม่ได้ ใช้ชีวิตไม่ได้” และ “ไม่ควรมีใครมองเห็นคุณ” 

ในพื้นที่สาธารณะ สิ่งที่คนไร้บ้านต้องเผชิญคือการปฏิบัติกับชีวิตของคนจนเฉกเช่นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่อากาศที่บริสุทธิ์ของพื้นที่สีเขียว ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนหย่อนใจ หรือความเพลิดเพลินจากการใช้เวลาร่วมกับคนอื่น การยืนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเท่ากับการยืนอยู่บนความไม่เท่าเทียม และจนกว่าเราจะเอาการสอดส่องคุกคามออกไป และผลักดันให้เกิดการยุติความเหลื่อมล้ำในระดับโครงสร้าง พื้นที่สาธารณะก็จะยังไม่เป็นของประชาชนทุกคนจริง ๆ