.
.
โดย ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
.
.
.
สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว ในบริบทภาพจำของคนไร้บ้านที่หลายคนนึกถึง มักจะมีความเป็นเมืองห้อมล้อมคนไร้บ้านอยู่เสมอๆ ทั้งถนน ฟุตบาท สวนสาธารณะ และอื่น ๆ จึงอยากชวนหันมาดูรายละเอียดย่อยลงจากระดับจังหวัดลงมาสู่พื้นที่ที่เล็กลงในระดับตำบลและแขวง พบว่าคนไร้บ้านมักจะอยู่ในเขตพื้นที่เมือง อาจด้วยทั้งปัจจัยผลัก (push factor) และปัจจัยดึงดูด (pull factor) หลากหลายด้าน ปัจจัยผลัก เช่น การแข่งขันของตลาดแรงงานที่มีสูงกว่าในเมือง ความเปราะบางทางสังคมที่มีสูงกว่า ในขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยดึงดูด เช่น ความสะดวกต่อการใช้ชีวิต หาอาหารและการหางาน ความช่วยเหลือที่อาจได้รับจากหน่วยงาน ประชาชน หรือองค์กรต่างๆ เป็นต้น จากผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า 15 จาก 30 พื้นที่ที่มีคนไร้บ้านมากที่สุดในประเทศอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนพื้นที่ที่เหลือล้วนเป็นพื้นที่ในเขตเมืองของจังหวัดต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ หาดใหญ่ อุดรธานี เป็นต้น ในรายละเอียดแขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านสูงที่สุดจากทั่วประเทศ คือ 333 คน ตามมาด้วยแขวงศาลเจ้าพ่อเสือ ในเขตเดียวกัน 115 คน และลำดับที่สามคือ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 75 คน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีเขตเมืองอื่นๆ เช่น ในเมืองขอนแก่นพบ 70 คน ในเมืองนครราชสีมาพบ 43 คน หาดใหญ่พบ 33 คน ช้างม่อยเมืองเชียงใหม่พบ 32 คน แสนสุขเมืองชลบุรีพบ 29 คน เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากความเป็นเมืองจะมาคู่กับความเหลื่อมล้ำต่างๆ แล้ว คนไร้บ้านก็มักเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดในเมืองเช่นเดียวกัน (สามารถดูผลแจงนับและสำรวจคนไร้บ้านทั้งประเทศได้ที่นี่)
.
.
หากลงลึกเข้าไปในระดับความเป็นเมืองที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่ชั้นในใจกลางกรุงเทพฯ มีความเป็นเมืองมากที่สุด และใจกลางเมืองภูมิภาค ได้แก่ ขอนแก่น โคราช เชียงใหม่ และหาดใหญ่ อาจจะมีความเป็นเมืองพอๆ กับพื้นที่ชั้นกลางของกรุงเทพฯ หรือเมืองที่เล็กลงมาอีกอาจจะมีความเป็นเมืองเทียบเท่ากับชานเมืองกรุงเทพฯ เป็นต้น โดยตีความนามธรรมของ “ระดับความเป็นเมือง” เหล่านี้ด้วยความหนาแน่นของถนนในพื้นที่ 1 ตร.กม. กล่าวคือ คำนวณระยะทางถนนรวมภายใน 1 ตร.กม. หากในพื้นที่ 1 ตร.กม. มีถนนอยู่หนาแน่นหลายเส้น ก็น่าจะแสดงความเป็นพื้นที่เมืองมากกว่าพื้นที่ 1 ตร.กม. ที่มีความหนาแน่นถนนน้อย
.
.
เมื่อนับจำนวนคนไร้บ้านตามระดับความเป็นเมืองต่างๆ พบว่าคนไร้บ้านมักพบอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองปานกลาง เช่น ใจกลางเมืองของเมืองหลักภูมิภาคต่างๆ หรือเมืองเก่าในกรุงเทพฯ ความสัมพันธ์นี้ ชี้ให้เห็นถึงมิติการพัฒนาที่มักจะมีผลพลอยได้เชิงลบ (negative by product) ควบคู่มาด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาเมืองให้เจริญเติบโตเฟื่องฟู เฉกเช่นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับจังหวัดข้างต้น จึงต้องคำนึงถึงการเพิ่มมาตรการดูแลคนกลุ่มเปราะบางควบคู่กับการพัฒนาเช่นเดียวกัน
.