พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ, การศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม (กรุงเทพฯ: แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2564).
การศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม เป็นวิจัยที่สำรวจประเด็นคนไร้บ้านโดยมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์โอกาสการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ข้อ ดังนี้
- เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบลักษณะของกลุ่มที่มีความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านกับคนภาวะไร้บ้าน
- เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม
การพัฒนาตัวชี้วัดโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านจากข้อมูลปฐมภูมิด้วยวิธีการวิจัยภาคสนาม ของโครงการวิจัยฉบับนี้ได้ทำการรวบรวมปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางสังคม จากทั้งกลุ่มข้อมูลที่แตกต่างกันสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะไร้บ้าน (Homeless) และ กลุ่มคนเปราะบางที่มีความเสี่ยงจะเป็นคนไร้บ้าน (Pre-Homeless) จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบคุณลักษณะของข้อมูลที่แตกต่างกันด้วยแบบจำลองทางเศรษฐมิติ (Econometrics Model) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ สภาวะ พฤติกรรม ตลอดจนการตัดสินใจของมนุษย์ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ
ผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรที่บ่งชี้โอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านนั้น สามารถจัดแบ่งประเภทออกเป็น 4 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ตัวชี้วัดทางสังคม หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า ตัวชี้วัดทางครอบครัว
- ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
- ตัวชี้วัดทางนโยบาย ประกอบไปด้วยนโยบายทางการคลังของรัฐบาล (Fiscal policy)
- ตัวชี้วัดส่วนบุคคล ประกอบไปด้วยลักษณะส่วนบุคคลต่าง ๆ (Individual’s characteristic)
สรุปได้อีกอย่างว่า ครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ นโยบายทางการคลังของรัฐ และลักษณะส่วนบุคคลคือตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่จะช่วยชี้ว่าคนคนหนึ่งมีโอกาสการกลายเป็นผู้ไร้บ้านมากน้อยเพียงใด