สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับการผลักไสคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

GETTY IMAGES

ในรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤศจิกายน ชายวัยกลางคนใช้ถุงใส่ก้อนหินทำร้ายผู้หญิงคนหนึ่งที่นั่งอยู่ตรงป้ายรถประจำทางจนเสียชีวิต ต่อมาชายคนนั้นเข้ามามอบตัวกับตำรวจพร้อมให้การว่า เขาไม่มีเจตนาที่จะฆ่าผู้หญิงคนนั้น เขาแค่อยากให้เธอรู้ว่าเธอไม่เป็นที่ต้องการที่นี่ มิซาโกะ โอบายาชิ ผู้เสียชีวิตนั้นเป็นคนไร้บ้าน ผู้ต้องสงสัยยังกล่าวอีกว่าก่อนที่จะลงมือ เขาได้เอาเงินไปให้เธอและขอให้เธอออกไปจากที่นั่น เมื่อผู้เสียชีวิตปฎิเสธเขาจึงโมโห

เหตุการณ์สะเทือนขวัญเหล่านี้ทำให้เกิดบทความต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นโหดร้ายเท่าใดกับสมาชิกของสังคมที่เปราะบางที่สุดโดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดซึ่งทำให้สมาชิกในสังคมยิ่งเปราะบางมากขึ้น

ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตายมากนัก ก่อนเสียชีวิต โอบายาชิเคยทำงานในซุปเปอร์มาร์เก็ต จนกระทั่งตกงานในเดือนกุมภาพันธ์ เธอมีน้องชายที่ไม่ได้ติดต่อกันมาเป็นปี ตอนที่เสียชีวิตเธอมีมือถือและเงินติดตัวอยู่เพียง 8 เยน ด้วยข้อมูลเกี่ยวกับเธอมีน้อยมาก บทความส่วนใหญ่จึงเน้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเธอมากกว่าสาเหตุที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นคนไรบ้าน

บาทหลวงโทโมชิ โอคุดะ เขียนบทความมีเนื้อหาว่า จากประสบการณ์ของเขา คนทั่วไปไม่เข้าใจว่าสถานการณ์ของคนไร้บ้านเป็นอย่างไร เขาเคยถามคนไร้บ้านที่สวดมนต์ภาวนาก่อนนอนทุกคืนว่าเขาเป็นคริสเตียนหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่คนไร้บ้านตอบคือเขาสวดมนต์เพื่อเขาจะไม่ต้องตื่นมาเผชิญโลกอันโหดร้ายในวันรุ่งขึ้น

แต่สิ่งที่ตราตรึงใจในบทความของโอคุดะที่สุด คือ ม้านั่งที่โอบายาชินั่งอยู่ตอนถูกทำร้าย โอคุดะมองว่าม้านั่งนั้นเป็นตัวแทนของความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นที่เกิดเหตุแล้วม้านั่งแคบ ๆ ยังถูกแบ่งครึ่งด้วยราวเหล็กเพื่อกันไม่ให้คนเอนตัวลงนอน โอคุดะกล่าวว่า เก้าอี้น่าเกลียดนี้ออกแบบมาเผื่อผลักไสคนกลุ่มหนึ่ง และสะท้อนสังคมญี่ปุ่นที่ไม่ต้องการคนอย่างโอบายาชิ

โอบายาชิก็รับรู้ถึงความรู้สึกกีดกันคนไร้บ้านในสังคม คนในท้องที่นั้นเล่าว่า โอบายาชิจะมาที่ป้ายรถประจำทางหลังจากรถคนสุดท้ายหมดลง และรีบตื่นออกไปก่อนรถคันแรกจะมาถึงเพราะเธอไม่อยากรบกวนใคร

ม้านั่งแข็ง ๆ ตัวนั้นกว้างเพียง 22 เซนติเมตร ผู้นั่งไม่สามารถเอนตัวไปพิงผนังได้ เมื่อผู้สื่อข่าวคนหนึ่งลองนั่งบนม้านั่ง เขานั่งได้เพียงชั่วโมงเดียวก็ต้องลุกเพราะทนเจ็บไม่ไหว

ม้านั่งตัวนั้นเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร (hostile architecture) ซึ่งถูกนำมาใช้มากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อภาวะไร้บ้านเริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น

รายการ No Hate TV กล่าวว่า ตัวอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรในญี่ปุ่นคือ หลังจาก “ชุมชนกล่องกระดาษลัง” ในทางเดินใต้ดินรอบ ๆ สถานีชินจูกุย้ายออกไป เจ้าหน้าที่ก็จัดการปลูกเสาเตี้ย ๆ โดยอ้างว่ามันเป็น “ศิลปะ”

นอกจากนี้ รายการเสนอยังว่า สังคมญี่ปุ่นรังเกียจคนไร้บ้านเสียเหลือเกิน และผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นบางคนไม่มีความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร ในขณะที่นักเคลื่อนไหวชาวยุโรปและอเมริกาออกมาประท้วงต่อต้านสถาปัตยกรรมเหล่านี้

ซาชิโยะ อิเกะดะ นักเคลื่อนไหวเพื่อคนไร้บ้านที่เข้าร่วมรายการ No Hate TV ทวีตว่า คนไร้บ้านไม่ได้อยากอยู่ในภาวะนี้ ความเชื่อว่าคนไร้บ้านเลือกที่จะออกมาอยู่ตามที่สาธารณะเองทำให้คนเกลียดชังคนไร้บ้านมากขึ้น

ในยุคโควิด อิเกะดะย้ำว่าความพยายามอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับภาวะไร้บ้าน ภาวะไร้บ้านยังเป็นผลมาจากการเมืองและสังคมที่ไม่มีหลักประกันเมื่อคน ๆ หนึ่งเกิดมรสุมปัญหาชีวิต

คอลัมน์ข่าวเกี่ยวกับการฆาตกรรมโอบายาชิใน Magazine 9 เสนอแนะว่า ควรมีวิชาในโรงเรียนรัฐบาลเกี่ยวกับการสร้างชีวิตตัวเองใหม่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเพราะไม่ว่าจะเป็นพลเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็มีแนวโน้มว่าจะไม่เข้ามาช่วยเหลือเมื่อพวกเขาตกอับ

ที่มา: https://www.japantimes.co.jp/news/2020/12/12/national/media-national/homeless-bench-designs/