ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์
อนาคตสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ชายขอบยิ่งเลือนราง และประชากรในสังคมมีสิทธิจะร่วงหล่นสู่สภาวะเปราะบางได้ง่ายขึ้น หากไม่มีการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กับความอยุติธรรมในสังคม ทุกพื้นที่คือกายภาพแห่งความเหลื่อมล้ำ
“ตัวเลขของคนไร้บ้านจะยิ่งสูงขึ้นเพราะสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเมื่อคุณไม่มีบ้าน มันก็ยากที่จะทำงานไหนได้นาน ๆ หาเลี้ยงครอบครัว และสร้างเนื้อสร้างตัว” 1
เมื่อน้ำทะลักทลายเข้าสู่ลุ่มแน่น้ำ Bobonaza แห่งประเทศเอกวาดอร์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สายน้ำได้พัดพาเอาบ้านและชีวิตของชุมชนกลุ่มคน Sarayaku หรือกลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นไปด้วย และสิ่งที่ตามมาคือ ผู้คนกว่าสามสิบครัวเรือนประสบภาวะไร้บ้านฉับพลันทันใด
“คนควรรู้ว่า [น้ำท่วม] ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” Helena Gualinga นักกิจกรรมเยาวชนที่โตมากับการสู้เพื่อสิทธิของชุมชนคนอธิบาย “ชุมชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี้ต้องต่อสู้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และพวกสนับสนุนการขุดเจาะทรัพยากรมานานนับปี แล้วตอนนี้ชุมชนเหล่านี้ก็กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง”2
ชุมชน Sarayaku คือหนึ่งในชุมชนคนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนที่อยู่ในภาวะเปราะบาง หากเราสืบสาวหาต้นตอของ “ความเปราะบาง” ของคนในป่าฝน เราจะเห็นรอยเลือดที่นำทางเราไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งนำโดยขบวนการกวาดล้างทรัพยากรเแร่ที่มีค่าและเชื้อเพลิงพลังงานในอเมริกาใต้
การตามล่าพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นมาพร้อมกับการตัดไม้ทำลายป่าทำถนน กองกำลังติดอาวุธที่คอยอารักขาพื้นที่ทำงานของบรรษัทน้ำมัน และระเบิดนับสิบลูกที่ถูกฝังอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คน ส่งผลให้คนพื้นเมืองบางส่วนจำต้องออกจากบ้านของตน สำหรับคนที่ยืนหยัดต่อสู้ ไม่มีเงื่อนไขอื่นนอกจากการอยู่กับป่าที่เสียหาย และต่อสู้เพื่อสิทธิปกป้องและฟื้นฟูบ้านของตัวเอง3
อีกด้านหนึ่ง หน่วยคนพื้นเมืองและการพัฒนา สำนักงานเลขานุการแห่งเวทีถาวรเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ดำเนินในป่าอเมซอนได้ปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นำไปสู่สภาพอากาศที่แปรปรวน และคนแรกที่เป็นด่านหน้าสัมผัสความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง คือคนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ4
หากขยับขึ้นมาบนซีกโลกเหนือ ในประเทศแคนาดา สัตว์และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่คนพื้นเมืองใช้บริโภคและสร้างบ้านมีจำนวนลดลง ในขณะที่ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้หมู่บ้านคนพื้นเมืองบางพื้นที่และแหล่งอาหารจมหายไป เมื่อไม่มีอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีพื้นที่สำหรับหาเลี้ยงยังชีพตัวเอง คนพื้นเมืองในแถบอาร์กติกจึงหล่นลงสู่ภาวะไร้บ้านในที่สุด คนพื้นเมืองส่วนหนึ่งต้องระหกระเหินกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ (climate refugee)5
พื้นที่ของคนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและอาร์กติกคือหนึ่งในพื้นที่ที่ขาดการสนับสนุนด้านทรัพยากร และสาธารณูปโภค และยังคงได้รับผลกระทบจากการกดขี่ทางเชื้อชาติ เมื่อถูกกีดกันออกจากสายตาของรัฐตั้งแต่ต้น การปรับตัวเข้ากับสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงดูไม่ได้เป็นเพียงแค่ความจำเป็น แต่ยังเป็นภาระที่ถือกำเนิดขึ้นเพราะความไม่เท่าเทียมกัน
ตามประวัติศาสตร์ คนพื้นเมืองเป็นตัวแทนของคนชายขอบที่ปราศจากความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยตั้งแต่ต้น สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนยิ่งทวีคูณความสาหัสของปัญหานี้ เพราะภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนเร่งให้คนเข้าสู่สภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงที่รุนแรงมากที่สุด ซึ่งคือ สภาวะไร้บ้าน และความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงของปฏิทินชีวิต และวิถีชีวิตที่เคยมีมา
ใครจะเป็นคนสุดท้ายในสังคมที่ยืนหยัดได้ หากทุกอย่างถูกกวาดราพณาสูร?
ภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงเพราะสภาพภูมิอากาศคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกลุ่มคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ทางสังคม ไม่ได้รับการปันส่วนทรัพยากรจากภาครัฐ มักจะบาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
รายงาน Global Report on Internal Displacement (GRID) ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2562 เหตุการณ์ภัยพิบัติได้ทำให้ผู้คนจำนวน 5.1 ล้านคนใน 95 ประเทศทั่วโลกต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นฐาน ตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขของผู้ที่พลัดถิ่นเพราะความรุนแรงถึงสามเท่า และหากเจาะจงลงไปในปีพ.ศ. 2562 เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกว่า 2,000 กว่าครั้งส่งผลเกิดการย้ายถิ่นฐานใหม่มากถึง 24.5 ล้านครั้งทั่วโลก6
หนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขผู้พลัดถิ่นมากที่สุดในโลกคือประเทศอินเดีย ด้วยตัวเลขผู้ประสบภัยจำนวน 590,000 คนโดยประมาณ ในขณะเดียวกันเอง อินเดียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างเห็นได้ชัด
ตามรายงานของอ็อกแฟม อินเทอร์เนชั่นแนล กลุ่มท็อป 10% ของประเทศอินเดียเป็นเจ้าของความมั่งคั่งระดับประเทศถึง 77% ในขณะที่ทุก ๆ ปี ผู้คนจำนวนถึง 63 ล้านคนร่วงสู่ความยากจนเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และคนที่รับค่าแรงขั้นต่ำในชนบทจะต้องใช้เวลา 941 ปีถึงจะได้เงินที่ผู้บริหารบริษัทผลิตเสื้อผ้าหาได้ในภายในระยะเวลา 1 ปี7
นอกเหนือไปจากขอบเขตของเศรษฐกิจ เมื่อสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบรรจบกับการกดขี่ทางชนชั้นเศรษฐกิจ-วรรณะ และเพศ ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งหยั่งรากลึกลงกว่าเดิม8 บทความ “The Influence of Caste, Class and Gender in Surviving Multiple Disasters: A Case Study from Orissa, India March” ของ Nibedita Shankar Ray-Bennett ระบุว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวรรณะสูงจำนวนหนึ่งจะได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติน้อยกว่า เนื่องจากว่าที่พักอาศัยของตนสร้างด้วยคอนกรีตที่มั่นคง และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่สูงกว่าคนอื่น ทั้งยังมีเครือข่ายญาติพี่น้องและกลุ่มคนในละแวกเดียวกันที่มีทรัพยากร สามารถให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤติได้9
แต่หากหันหลังกลับไปมองกลุ่มผู้หญิงที่โดนทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง เช่น ผู้หญิงที่วรรณะต่ำกว่า กระทั่งวิ่งไปขอความช่วยเหลือคนที่เพียบพร้อมกว่าท่ามกลางพายุยังเป็นไปไม่ได้ เพราะการแตะเนื้อต้องตัวกันข้ามวรรณะคือเรื่องที่คอขาดบาดตาย ยิ่งกว่าวาตภัย
แม้แต่ในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สภาวะไร้บ้านก็เหลื่อมล้ำ…
อ้างอิง
- Forbes, “Climate Change Is Already Helping To Drive Up Homelessness”
- Democracy Now, “Indigenous People Left Homeless by Flooding in Ecuador’s Amazon Region Blame Climate Change”
- Amnesty International, “Indigenous women demand more protection in decades-long fight for Amazon homelands”
- The Indigenous Peoples and Development Branch/Secretariat of the Permanent Forum on Indigenous Issues, “Climate Change”
- Thistle, J, “Indigenous Defnition of Homelessness in Canada”
- The Internal Displacement Monitoring Centre (IDMC), 2020 Global Report on Internal Displacement (GRID)
- Oxfam International, “India: extreme inequality in numbers”
- Indian Express, “India is a country with pervasive inequality, pockets of deep deprivations and vulnerable populations”
- Nibedita Shankar Ray-Bennett, “The Influence of Caste, Class and Gender in Surviving Multiple Disasters: A Case Study from Orissa, India”