แผนที่บันทึกความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย และความยากจนในเมือง

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เมื่อเราพูดถึงแผนที่ สิ่งที่เข้ามาในหัวอาจเป็นภาพของน้ำทะเลสีน้ำเงิน หรือภูเขาสีเขียวเข้มอ่อนสลับกันไป เราอาจจะนึกถึงภาพถ่ายดาวเทียมในกูเกิ้ลแมพ หรือภาพของตึกรามบ้านช่องและท้องถนนที่สมจริงจนเหมือนเราอยู่ในสถานที่นั้น ๆ แต่พื้นที่ธรรมชาติหรือพิกัดของอาคารบ้านเรือนไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่แผนที่เผยให้เราเห็น ในประเทศต่าง ๆ แผนที่กลายมาเป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ความอยุติธรรมด้านที่อยู่อาศัย เล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อให้ทุกคนได้บ้านและอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัย และฉายภาพให้เราเห็นว่าความเหลื่อมล้ำกำลังคุกคามผู้อยู่อาศัยที่ไหนบ้าง 

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับผู้คนที่ใช้แผนที่เพื่อสร้างเมืองที่เป็นธรรมให้กับทุกคนมากขึ้น


1.Anti-Eviction Mapping Project

กลุ่ม Anti-Eviction Mapping Project ถือกำเนิดขึ้นในปี 2013 ท่ามกลางวิกฤติที่อยู่อาศัยในซานฟรานซิสโก ณ เวลานั้น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังเบ่งบานในเขต Bay Area อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นปรากฏการ์ณที่เรียกว่า “Tech Boom 2” การเติบโตบริษัทเทคโนโลยีและ Silicon Valley ได้ดึงคนทำงานและเงินลงทุนให้หลั่งไหลเข้ามาในเขตนี้ และเมื่อมีผู้คนเพิ่มมากขึ้น การก่อสร้างและปรับปรุงอาคารเพื่อรองรับธุรกิจใหม่ ๆ และผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่จึงตามมา 

แต่ภายใต้ภาพอันอู้ฟู้ของเมืองใหญ่ที่แสนล้ำหน้า อนาคตอันรุ่งโรจน์ของบริษัทเทคโนโลยี และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่แพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อย ๆ คือราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ส่งผลให้ราคาค่าเช่าบ้านและห้องพักเฟ้อจนผู้อยู่อาศัยเดิมจ่ายไม่ไหว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ผู้คนจำนวนมากถูกบีบให้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นที่ค่าครองชีพถูกกว่า บางส่วนได้รับหมายให้ออกไปจากที่อยู่อาศัยเดิม เนื่องจากเจ้าของที่ดินอยากปรับปรุงอาคารให้เป็นพื้นที่ที่รองรับผู้เช่ารายใหม่ ซึ่งมักมีกำลังจ่ายมากกว่า 

เพื่อต่อสู้กับกระแสการพัฒนาที่ดินที่เบียดขับคนรายได้น้อยออกไปจากชุมชนของตน ประชาชนในเขต Bay Area จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่ม Anti-Eviction Mapping Project และพากันออกมาเรียกร้องสิทธิของผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงเริ่มต้นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการขับไล่รื้อถอนที่อยู่อาศัยและปากคำของผู้ได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างเหลื่อมล้ำของเมือง ณ ปัจจุบัน กลุ่ม Anti-Eviction Mapping Project ประกอบด้วยผู้เช่า นักกิจกรรม นักเรียนนักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน และอาสาสมัครต่าง ๆ จากเขต Bay Area นครนิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส แต่ละคนจะช่วยบันทึกประวัติศาสตร์การขับไล่รื้อถอนที่พักอาศัย และนำข้อมูลดังกล่าวมาเล่าผ่านสื่อหลาย ๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่การขับไล่รื้อถอนที่พักอาศัย หนังสือรวมบทความ บทกวีและบทสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยที่อยู่แถวหน้าของการต่อสู้ หรือคลังข้อมูลเรื่องเล่าของผู้คนใน 3 เมือง  

แผนที่และบันทึกทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ช่วยฉายภาพว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ขับไล่คนรายได้น้อยออกจากบ้านของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน กลุ่มทุนที่ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือนักเก็งกำไรที่ดิน  ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในสื่อชนิดต่าง ๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า…

  • บุคคลเหล่านั้นมีทรัพย์สินและกิจการอะไรในครอบครองบ้าง ใครคือทนายที่เดินเรื่องให้ ธนาคารและบริษัทไฟแนนซ์ที่ไหนบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ไล่คนออกจากที่อยู่อาศัย  
  • การขับไล่คนเกิดขึ้นในลักษณะไหน เพราะอะไร ชุมชนไหนบ้างที่ต้องเผชิญหน้ากับการขับไล่ที่ และประสบปัญหานี้กี่ครั้งนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  
  • ทางชุมชนได้รวมตัวกันโต้ตอบไปอย่างไร คนในชุมชนรู้สึกอย่างไรและใช้ชีวิตอย่างไรปัจจุบัน 
ภาพที่ 1 แผนที่การขับไล่คนออกจากที่อยู่อาศัยในซานฟรานซิสโก ตั้งแต่ปี 1997 – 2020

ข้อมูลเหล่านี้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ชีวิตของผู้อยู่อาศัยโดยตรง มันคือเรื่องเล่าที่ตรงกันข้ามกับคำโฆษณาของบริษัทเทคโนโลยีและกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพยายามบิดเบือนวิกฤติที่อยู่อาศัยให้เป็นเรื่องของการเติบโตของเมือง 

แผนที่ที่แสดงการขับไล่คนช่วยทำให้เห็นภาพรวมและความรุนแรงของปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะที่บันทึกปากคำของคนในพื้นที่ช่วยรักษาประวัติศาสตร์สามัญชนที่มักถูกลดทอนคุณค่า ไม่ปรากฏในตำราของทางการ และคืนชีวิตจิตใจให้กับแผนภาพและข้อมูลตัวเลขสถิติต่าง ๆ  

เรื่องราวที่ถูกบันทึกมักประกอบด้วยประวัติชีวิตส่วนตัว ประวัติครอบครัว และความรู้สึกของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโศกเศร้า และความหวัง ผู้คนไม่ได้เป็นเพียง data แต่ยังมีอำนาจได้เล่าความผูกพันกับที่อยู่อาศัย ได้เล่าการต่อสู้ส่วนบุคคลและในระดับชุมชน ด้วยคำพูดของตัวเอง 

ภาพที่ 2 แผนที่การขับไล่รื้อถอนในนิวยอร์กพร้อมปากคำของอดีตผู้เช่า จุดสีแดงคือการขับไล่รื้อถอนที่อยู่อาศัยที่เคยเกิดขึ้น สีน้ำเงินคือเรื่องราวของผู้อยู่อาศัยแต่ละคน

เมื่อมีการสืบเสาะข้อมูลว่าใครคือผู้ดำเนินการขับไล่คน ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการวางแผนประท้วง หรือการทำแคมเปญต่อต้านการขับไล่คนออกจากที่พักอาศัย เช่น ในปี 2015 กลุ่ม Anti-Eviction Mapping Project,  Eviction Free S.F และผู้เช่าคนอื่น ๆ พบว่านักเก็งกำไรที่ดินนาม Paolo และ Sergio Iantorno กำลังจะไล่คนออกจากที่พักอาศัย ทั้งหมด 6 ที่ ทำให้กลุ่มผู้เช่ารวมตัวกันยับยั้งแผนการของครอบครัว Iantornos 

ผู้ประท้วงกดดันครอบครัว Iantornos ด้วยการโทรเข้าไปที่บริษัทต่าง ๆ และบ้านของทั้งสองคนเพื่อขอให้ยุติการไล่คนออกจากที่พักอาศัย, เข้าไปชุมนุมในร้านรองเท้าของนาย Paolo และโพสต์เรื่องการขับไล่และคุกคามคนลงเพจร้านรองเท้า ในขณะที่กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้เช่าเช่น S.F Community Land Trust และ Mission Economic Development Agency (MEDA) ได้รวมตัวกันซื้ออาคารทั้งหมด 5 หลังจากครอบครัว Iantornos เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในนั้นยังจ่ายค่าเช่าในราคาที่ยังเอื้อมถึงได้เหมือนเดิม

อีกหนึ่งตัวอย่างคือแคมเปญ “Anti-Eviction Pledge” หรือการณรงค์ให้คนตรวจสอบว่าบ้าน/ห้องพักที่ตนสนใจนั้นเคยคนโดนขับไล่ออกมาหรือไม่ และให้หลีกเลี่ยงการสนับสนุนเจ้าของที่พักอาศัยที่เคยมีประวัติไล่คนออกมา แคมเปญนี้อ้างอิงฐานข้อมูลการขับไล่คนออกจากที่พักอาศัยที่กลุ่ม Anti-Eviction Mapping Project รวมรวมขึ้นมานั่นเอง

ภาพที่ 3 แคมเปญ “Anti-Eviction Pledge” ที่เปิดให้คนตรวจสอบประวัติที่อยู่อาศัยได้

ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ

  1. Narratives of Displacement and Resistance – Oral History Maps for SF Bay Area, LA, and NYC (มีแผนที่ประกอบ)
  2. The 2019 Worst Evictors in New York City พร้อมแผนที่ที่อยู่อาศัยที่มีการขับไล่คนออกมา (จัดทำร่วมกับ The Right to Counsel NYC Coalition และ JustFix.nyc )
  3. All San Francisco Eviction Notices, 1997-2020 (พร้อมแผนที่)
  4. COVID-19 Housing Protection Legislation & Housing Justice Action Map Project 
  5. The Anti-Eviction Pledge
  6. แผนที่ Los Angeles Ellis Act Evictions (จัดทำร่วมกับ Coalition for Economic Survival.)

2.Mapping Neo-Vagrancy Offences In Canada

เมื่อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดและกลายเป็นวาระสำคัญระดับชาติ รัฐบาลต่าง ๆ ได้ออกมาตรการจำกัดการแพร่เชื้อในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการกวดขันระยะห่างระหว่างบุคคล หรือการจำกัดระยะเวลาในการใช้สถานที่ต่าง ๆ  กฎระเบียบต่าง ๆ นั้นพึ่งพากฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคน และท้ายที่สุดได้นำไปสู่การสอดส่องวิธีที่ผู้คนใช้พื้นที่สาธารณะที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต หนึ่งในกลุ่มคนที่ประสบอันตรายจากการสอดส่องควบคุมพื้นที่สาธารณะและเสี่ยงได้รับเชื้อโควิด-19 มากที่สุดคือคนไร้บ้าน นักวิชาการเหล่านี้จึงได้รวมตัวกันในนาม “The COVID-19 Policing and Homelessness Initiative” เพื่อศึกษาผลกระทบของการลงโทษภาวะไร้บ้านในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นคือ “Mapping Neo-Vagrancy Offences In Canada” ซึ่งคือแผนที่บันทึกการใช้ “neo-vagracy by-laws” หรือกฎหมายท้องถิ่นที่มุ่งลงโทษการเร่ร่อนขอทาน ซึ่งมักถูกเอามาใช้เล่นงานกับคนไร้บ้าน หรือคนที่ดูยากจนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

แม้ว่าปัจจุบันกฎหมายควบคุมการขอทานจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญาในแคนาดาแล้ว แต่กฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีลักษณะเนื้อหาใกล้เคียงกันยังดำรงอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ และยังส่งผลกระทบเหมือนกับกฎหมายควบคุมการขอทาน กฎหมายท้องถิ่นเหล่านั้นมีตั้งแต่

  • กฎหมายปราบปรามการขอทาน ซึ่งมีการลงโทษการขอสิ่งของและเงินในที่สาธารณะ หรือจำกัดเวลา สถานที่ และท่าทางบุคลิกลักษณะต่าง ๆ ในการขอเงินและสิ่งของ (เช่น ห้ามนั่งขอทาน)
  • การลงโทษคนที่เอ้อระเหยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่ใดหรือเวลาไหนเป็นพิเศษ รวมไปถึงการกีดขวางเส้นทางจราจร และการพักผ่อนและนอนหลับในที่สาธารณะ
  • การลงโทษการเก็บของไม่ใช่แล้วอย่าง อาหาร ขวด บรรจุภัณฑ์มาใช้ต่อ 
  • การสั่งห้ามไม่ให้สร้างเพิงในที่สาธารณะ หรือจำกัดเวลาในการตั้งที่พักอาศัยชั่วคราว
  • การสร้างความไม่สงบให้แก่สังคม (ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้บังคับใช้กฎหมาย)
ภาพที่ 4 แผนที่การดำเนินคดีกับคนไร้บ้านทั่วแคนาดา สิ่งที่อยู่ในแผนที่มีกฎหมายต่าง ๆ จำนวนครั้งที่กฎหมายถูกใช้กับคนทั่วแคนาดา และพื้นที่ที่มีการใช้กฎหมายควบคุมการขอทานรูปแบบใหม่

3.Mapping DefensiveTO

เมื่อพูดถึง “เมืองน่าอยู่” เราอาจจะนึกถึงเมืองที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรงและอาชญากรรม นักออกแบบเมืองบางส่วนเชื่อว่าเราจะมีเมืองที่ดีได้ หากเราออกแบบสภาพแวดล้อมที่สามารถลด “พฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์” หรือ “ความไม่เรียบร้อย” ที่อาจนำไปสู่อาชญากรรมได้ เช่น การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่โล่งมากขึ้น เพื่อที่จะได้สอดส่องบุคคลไม่พึงประสงค์ได้ง่าย การติดตั้งรั้ว จัดทำทางเข้า-ทางออกเพื่อควบคุมการไหลเวียนของผู้ใช้พื้นที่ และการสร้างเขตแนวชัดเจนว่าตรงไหนคือพื้นที่ที่คนเข้าไปใช้ได้ ตรงไหนคือพื้นที่หวงห้าม โดยอาศัยทางเท้า ร่องน้ำ หรือต้นไม้ที่ประดับภูมิทัศน์  แนวคิดการออกแบบเมืองเช่นนี้เรียกว่า “การป้องกันไม่ให้อาชญากรรมเกิดขึ้นผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อม” (Crime Prevention Through Environmental Design: CPTED)  

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกตีตราว่าเป็น “อาชญากรรม” หรือ “สิ่งไม่พึงประสงค์ของสังคม” นั้นกินความหมายต่าง ๆ บางครั้งมันหมายถึงการเล่นสเก็ตบอร์ดเฉย ๆ บางครั้งมันหมายถึงการยืน นั่ง นอน พิงสิ่งประกอบภูมิทัศน์ในพื้นที่สาธารณะ เช่น การนั่งบนกำแพงหรือขอบหน้าต่างที่ยื่นออกมา หลายครั้งมันหมายถึงชีวิตของคนยากจนในพื้นที่สาธารณะ เช่น คนไร้บ้านที่สร้างเพิงหรือตั้งแคมป์ตามทางเดินหรือสวนสาธารณะ

เพื่อกำจัดผู้ใช้พื้นที่สาธารณะที่ไม่พึงประสงค์ เมืองได้ถูกออกแบบให้เป็นสถานที่ที่ไม่เป็นมิตรกับทุกคนนัก  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือลวดหนามและขอบเหล็กที่ถูกติดตั้งในพื้นที่เปิดโล่งเพื่อกันไม่ให้คนเข้าไปใช้ พนักแขนที่ขั้นตรงกลางม้านั่งเพื่อกันไม่ให้คนทอดตัวลงนอน  หรือประตูสวนสาธารณะที่ถูกปิดตาย ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเข้าไปใช้ได้

ภาพที่ 5 แผนที่สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับผู้คนในเมืองโตรอนโต

เพื่อบันทึกว่าสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ (hostile architecture) มีหน้าตาอย่างไรบ้าง และสามารถทำร้ายผู้ใช้งานได้อย่างไร Cara Chellew จาก Toronto Public Space Committee ได้สร้างแผนที่ขึ้นมา และเปิดให้คนส่งพิกัดและรูปของาสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในสวนสาธาณะ จตุรัส หรือพื้นที่เอกชนที่เปิดให้สาธารณชนเข้าไปใช้ได้ (privately owned publicly-accessible spaces ;POPS) สิ่งของและการออกแบบพื้นที่ที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานนั้นประกอบด้วย

  • ที่นั่งที่ถูกออกแบบมาให้นั่งไม่สบาย
  • ลวดหนาม หรือขอบเหล็ก
  • รั้ว กำแพง หรืออะไรก็ตามที่กั้นไม่ให้สาธารชนเข้าไปใช้พื้นที่เปิดได้ 
  • พื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ ที่ทำให้คนไม่สามารถเอนพิง หรือเข้าใกล้ได้
  • การใช้แสง-สี-เสียงเพื่อรบกวนผู้ใช้พื้นที่ 
  • กล้องวงจรปิด
  • “Ghost Amenities” หรือพื้นที่สาธารณะที่ถูกออกแบบมาให้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไม่มีห้องน้ำ น้ำพุ หรือมานั่ง

อ้างอิง

Anti-Eviction Mapping Project (2018) AEMP Handbook by The Anti-Eviction Mapping Project (AEMP). In: Capous-Desyllas M., Morgaine K. (eds) Creating Social Change Through Creativity. Palgrave Macmillan, Cham. https://doi.org/10.1007/978-3-319-52129-9_16

Chellew, Cara. “Bars, Barriers and Ghost Amenities: Defensive Urban Design in Toronto.” Torontoist, 14 Feb. 2018, torontoist.com/2018/02/public-works-defensive-urban-design-spotted-around-toronto/.

McElroy, Erin. “The Digital Humanities, American Studies, and the Anti-Eviction Mapping Project.” American Quarterly, vol. 70 no. 3, 2018, p. 701-707. Project MUSE, doi:10.1353/aq.2018.0055.