ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม: เราเผชิญไวรัสเท่ากันแต่ป้องกันได้ไม่เท่ากัน

ที่มาภาพ: https://newsone.com/3913286/coronavirus-housing-fighting-homelessness-covid-19/

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คนไร้บ้านคือกลุ่มที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากไวรัสเช่นเดียวกัน แต่พวกเขากลับไม่สามารถรับมือกับมันได้มากเทียบเท่ากับคนทั่วไป …เราเผชิญไวรัสเท่ากัน แต่ป้องกันได้ไม่เท่ากัน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาวารสารทางการแพทย์ชื่อดังของโลก The Lancet ได้ตีพิมพ์บทความว่าด้วยผลกระทบด้านสุขภาพของไวรัสโควิด 19 ที่จะส่งผลกระทบต่อประชากรคนไร้บ้าน 

ไวรัสโควิด 19 มีความเชื่อมโยงกับไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคซาร์ส (ไข้หวัดมรณะ) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ไข้หวัดเมอร์ส์) ในขณะนี้กำลังแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก แน่นอนว่าโควิด 19 จะแพร่ระบาดไปยังคนไร้บ้านด้วย และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งมีคนไร้บ้านอยู่สูงถึง 500,000 คน และ 35,000 คน ตามลำดับ

เหตุใดคนไร้บ้านจึงเสี่ยงต่อโควิด 19 ?

คนไร้บ้านอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดโรคระบาด คนไร้บ้านจำนวนมากอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยที่คนรวมตัวอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พักพิง แคมป์ หรือตึกร้าง และเข้าไม่ถึงสุขอนามัยขั้นพื้นฐานและห้องน้ำสะอาด ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลต่อการแพร่กระจายของไวรัสทั้งสิ้น ทั้งนี้คนไร้บ้านที่อายุต่ำกว่า 65 ปี มักมีอัตราการตายสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 5-10 เท่าอยู่แล้ว โควิด 19 อาจทำให้อัตรานี้แย่ลงไปอีก และจะส่งผลต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายของคนไร้บ้านด้วย

ปัญหาที่ทับซ้อน

คนไร้บ้านจำนวนมากมีอาการป่วยทางกายและทางจิตเรื้อรังอยู่แล้ว คนไร้บ้านบางคนเสพติดสารเสพติด (ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตอย่างหนึ่ง) บางครั้งใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และคนไร้บ้านก็มักจะเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลต่อการคัดกรอง รักษา และกักตัวคนไร้บ้านที่ป่วยจากโควิด 19 นอกจากนี้คนไร้บ้านยังเป็นกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนมากกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป ทำให้ยากที่จะเฝ้าระวัง ติดตามตัวและป้องกันการแพร่เชื้อ ทั้งนี้เชื้อโควิด 19 ยังสามารถแพร่กระจายผ่านอุจจาระและปากได้ แต่คนไร้บ้านขาดแคลนห้องน้ำ ทำให้ต้องทำธุระในที่สาธารณะ ซึ่งก็สร้างความเสี่ยงให้แก่คนไร้บ้านเองและคนทั่วไปด้วย 

หากเมืองถูกปิด?

ในกรณีที่เมืองถูกปิด พื้นที่สาธารณะถูกปิด การเดินทางนอกบ้านถูกจำกัด และถนนใหญ่ถูกปิด อาจส่งผลในทางลบอย่างมากต่อคนไร้บ้าน ยังไม่มีอะไรแน่ชัดว่าคนไร้บ้านจะถูกนำไปอยู่ที่ไหนและอยู่อย่างไร ในกรณีเช่นนี้ที่อยู่อาศัยที่มีคนหนาแน่นอย่างศูนย์พักพิงอาจก็ถูกปิด และส่งผลให้คนไร้บ้านต้องออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

จะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

ความเปราะบางทั้งหลายเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลและวางแผนจัดการ และเราสามารถเรียนรู้การจัดการได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ดังเช่น การจัดการกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้วโดยบุคลากรที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้าน จะต้องมีการแจกชุดตรวจโควิด 19 และฝึกอบรมบุคลากรที่ทำงานกับคนไร้บ้านให้รู้วิธีการสังเกตอาการโควิด 19 และจะต้องมีพื้นที่เตรียมไว้เพื่อกักตัวและรักษาคนไร้บ้านที่ป่วย

ที่มา: https://www.thelancet.com/journals/lanpub/article/PIIS2468-2667(20)30053-0/fulltext