ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์
เมื่อลืมตาตื่นขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะทำ (หลังจากทำใจแล้วว่าตัวเองยังคงอยู่ในกรุงเทพมหานคร) คือเข้าไปดูว่าไทม์ไลน์บนพื้นที่โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง คงจะเหมือนคนรุ่นหนึ่งที่ทุกเช้าจะต้องหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน หรือตัวเองสมัยเด็ก ๆ ที่ฟังข่าววิทยุเวลาอยู่บนรถ ในขณะที่ผู้ปกครองฝ่าการจราจรและความง่วงงุ่นไปส่งที่โรงเรียนตอนเช้าตรู่ แต่เมื่อเข้าสู่พื้นที่โซเชียลมีเดีย เราไม่ได้ประสบแต่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกเรียบเรียงโดยสำนักข่าว หรือผู้ประกาศข่าวเพียงอย่างเดียว มันมีบทสนทนาที่เกิดขึ้นโดยทันทีตลอดเวลา โดยคนธรรมดา ๆ ทั่วไป
ประเด็นหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากไทม์ไลน์ของผู้เขียนเลย คือเรื่องของค่าครองชีพในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มวลชนต่างจำใจไหลเวียนเข้ามาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า คนในกรุงเทพมหานครรู้ดี (และรู้ซึ้งไปถึงเลือดเนื้อและจิตใจ) ว่า ใบแจ้งค้างชำระแต่ละเดือนมีมากกว่าธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ตัวเอง ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจรายงานว่า อันดับค่าครองชีพของกรุงเทพมหานครกระเถิบจากที่ 40 มาสู่ที่ 35 เพราะไม่ว่าจะบนไทม์ไลน์ของเฟซบุค หรือทวิตเตอร์ จะต้องมีคนหยิบยกประเด็นฐานเงินเดือนที่ถูกกดให้ต่ำ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งสูงจนไม่สามารถออมเงินได้และเริ่มเอื้อมไม่ถึงแล้ว โดยเฉพาะสำหรับคนที่กำลังตั้งตัว และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19
การหายไปของห้องเช่าในราคาที่จ่ายไหว เศรษฐกิจและงานที่หดตัวลงเรื่อย ๆ แนวโน้มการเลิกจ้างที่ทวีคูณขึ้น เงินเดือนที่ต่ำและไม่ขยับไปไหน มาตรการจัดการความยากจนที่กระจายไม่ทั่วถึง ทั้งหมดนี้คือสูตรสำคัญที่ช่วยผลักให้คนเข้าสู่สภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง และยิ่งทำให้คนที่อยู่กับความไม่แน่นอนทางสังคม-เศรษฐกิจเข้าใกล้สู่สภาวะไร้ที่อยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม
จริงอยู่ที่การไร้บ้านผูกพันเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจในอนาคตอย่างลึกซึ้ง แต่เราไม่อาจลืมได้ว่า อนาคตไม่ได้มีแต่เศรษฐกิจอย่างเดียว ในขณะที่เรากำลังหายใจและกวาดสายตาอ่านบทความนี้ สิ่งอื่น ๆ ที่นำภาวะเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกกำลังก่อตัวอยู่ และสิ่งเหล่านั้นอาจช่วยสร้างปรากฏการณ์คนไร้บ้านแบบใหม่ได้
ผู้เขียนจึงขอชวนให้ช่วยกันจับตาดูปัจจัยต่อไปนี้ นั่นคือ อัลกอริทึม (algorithm) ของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)
ทำไมต้องอัลกอริทึมและ AI?
“อัลกอริทึมของ AI จะรับข้อมูลมา แล้วเอาไปใช้ประมวลกับโมเดลทางคณิตศาสตร์ ออกมาเป็นคำทำนาย ซึ่งคำทำนายเหล่านั้นมีตั้งแต่ ‘เพลงไหนที่คุณอาจจะชอบ’ จนไปถึง ‘คน ๆ หนึ่งควรจะใช้เวลาในเรือนจำกี่ปี’ โมเดลเหล่านี้ถูกพัฒนาและดัดแปลงโดยอ้างอิงข้อมูลในอดีตและความสำเร็จของโมเดลที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่หรือกระทั่งคนที่ออกแบบอัลกอริทึมเองบางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ข้างในโมเดลมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่”
– Anjana Susarla, “The new digital divide is between people who opt out of algorithms and people who don’t”
หากกล่าวโดยง่าย สิ่งที่เรียกว่า AI คือเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เหมือน ‘สมอง’ ของมนุษย์ สามารถควบคุมการทำงานของระบบ กรองและวิเคราะห์ข้อมูล หรือทำการตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ และอัลกอริทึมคือ ‘กระบวนการคิด’ หรือขั้นตอนการทำงานที่ถูกวางมาให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ใช้ประมวลผลข้อมูล และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบ
ที่ผ่านมา ประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิดิจิทัลทั่วโลกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอัลกอริทึมและ AI ต่อความอยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจเทคโนโลยีในการสอดแนมและจัดการกับอาชญากรรมกำลังเติบโต ในปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อัลกอริทึมและ AI อยู่รอบตัวเรา ภายใต้เพลย์ลิสท์ของเพลงที่สปอติฟายเลือกสรรมาให้เรา ภายใต้แผนการเดินทางที่กูเกิ้ลแมปคิดให้เราในขณะที่กำลังประมวลสภาพการจราจรแบบทันควัน และในไม่ช้า ประเทศไทยอาจจะได้เห็นการพยาการณ์อาชญากรรมโดยเครื่องมือเทคโนโลยีก็เป็นได้1
ในรายงาน “Poverty Lawgorithms: A Poverty Lawyers Guide to Fighting Automated Decision-Making Harms on Low-Income Communities” ซึ่งจัดทำโดย Michele Gilman พบว่า การประมวลผลอัตโนมัติได้ส่งผลกระทบต่อมิติต่าง ๆ ในชีวิตคนรายได้น้อยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย
ในปี 2013 หน่วยงานการประกันการว่างงานประจำมิชิแกน (Michigan Unemployment Insurance Agency) ได้เปลี่ยนไปใช้ระบบคัดกรองและตรวจสอบทุจริตโดยอัติโนมัติที่ชื่อว่า MiDAS (Michigan Integrated Data Automated System) ซึ่งนำไปสู่การปรักปรำผู้บริสุทธิ์จำนวน 40,000 กว่าคน สิ่งที่เกิดตามมาคือการหักเงินจากบัญชีค่าจ้างและเงินคืนภาษีโดยตรงเป็นจำนวนสี่เท่าของเงินที่ได้มาจากการ‘ทุจริต’ ทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าสู่สภาวะล้มละลาย ถูกไล่ออกจากที่พักอาศัย กลายเป็นบุคคลไร้บ้าน หรือฆ่าตัวตาย
ในด้านของการเช่าห้องพัก ระบบคัดกรองผู้เช่าอัตโนมัติคือปัจจัยสำคัญในการกีดกันคนที่มีรายได้น้อยออกไป เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานและข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจอัตโนมัตินั้นมักไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และมีแนวโน้มว่าจะตัดสินคนจากประวัติการพักอาศัยและถูกขับไล่ออกจากที่พัก การเงิน และอาชญากรรม ซึ่งไม่ได้มีการคัดกรองความถูกต้องของข้อมูลก่อน จนทำให้บุคคล ๆ หนึ่งอาจติดอยู่ในแบล็คลิสต์โดยไม่เป็นธรรมได้
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสอดแนม เช่น การติดกล้องวงจรปิดและระบบการจดจำใบหน้า (facial recognition system) ไม่ได้นำไปสู่ความรู้สึกอุ่นใจ ใกล้ชิดกับความปลอดภัยเสมอไป เพราะกลุ่มคนที่รายได้น้อยมักจะโดนจับตาในการใช้ชีวิต เพื่อตรวจสอบ ‘พฤติกรรมอาชญากรรม’ และหาข้ออ้างในการไล่ออกจากที่อยู่อาศัย
ดูเหมือนว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อความแม่นยำและความถูกต้องในการตัดสินใจไม่ได้เพียงแต่ล้มเหลวเท่านั้น มันยังเพิ่มความไม่มั่นคงของชีวิต และผลักให้คนออกสู่ท้องถนนมากขึ้นอีกด้วย
แล้วการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกี่ยวอะไร?
“ตอนที่เฮอร์ริเคนแซนดี้เข้าถล่มมหานครนิวยอร์กในปี 2012 และทำให้ชาวเมืองที่รายได้น้อยและอยู่ในภาวะเปราะบางต้องขาดไฟฟ้า ไม่สามารถเข้าถึงการบรรเทาสาธารณสุข สำนักงานใหญ่ของบริษัท Goldman Sachs กลับห้อมล้อมไปด้วยกระสอบทรายนับหมื่น และมีไฟฟ้าใช้เองจากเครื่องปั่นไฟภายในตึก”
– Philip Alston, “Climate change and poverty: report of the Special Rapporteur on Extreme Poverty and Human Rights”
ในรายงานพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความยากจนอย่างรุนแรง นาย Philip Alston รายงานว่า ความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงขึ้นแน่นอน และคนยากจนในประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากถึง 80% เพราะคนที่ประสบกับภาวะยากจนนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (climate hotspot) อยู่แล้ว นอกจากนี้ กลุ่มคนยากจนยังขาดทรัพยากรที่จะช่วยให้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง และอยู่ในที่พักที่มีสภาพไม่คงทน หรือไม่มีที่พักอาศัยตั้งแต่แรก
นาย Alston คาดการณ์ว่า โลกกำลังเข้าสู่สภาวะ “climate apartheid” หรือสถานการณ์ที่ “คนรวยจ่ายเงินเพื่อหนีอากาศร้อนจัด ความหิวโหย และความขัดแย้ง ในขณะที่คนอื่นบนโลกต้องทนรับผลกระทบต่อไป” สภาวะนี้ยังสอดคล้องกับปรากฏการณ์ “climate gentrification” หรือการขับไล่คนรายได้น้อยออกจากพื้นที่ที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าที่อื่น รายงานข่าวโดยมหาวิทยาลัย Northeastern ระบุว่า ในไมอามี่ ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่สูงถูกกดดันโดยนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่ค่าเช่าที่พักค่อย ๆ ขยับสูงขึ้น ความต้องการใช้สอยที่ดินและพัฒนาพื้นที่สูงเกิดขึ้นหลังจากที่ไมอามี่ประสบปัญหาน้ำท่วม อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดโต่ง2
คนยากจนคือกลุ่มคนที่สูญเสียมากกว่าคนอื่น และมีต้นทุนทางสังคม-เศรษฐกิจที่น้อยกว่าใคร ไม่เพียงพอจะช่วยให้ฟื้นคืนจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชีวิต รายงานโดยสำนักข่าว Scalawag กล่าวว่าในฝั่งใต้ของสหรัฐอเมริกา การย้ายออกจากพื้นที่อาศัย โดยเฉพาะที่พักที่รัฐสนับสนุน จนไปถึงการเป็นคนไร้บ้านเริ่มเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ3 แต่แผนงานรัฐสำหรับป้องกันพื้นที่ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยนั้นยังไม่ถูกบังคับใช้จนทั่ว
หรือหากมีใช้แล้วในพื้นที่นั้น ๆ แผนดังกล่าวยังมีการประเมินความเสี่ยงและความเสียหายที่ต่ำเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น บ้านพักสำหรับคนรายได้น้อยเองกลับถูกทิ้งร้างหลังจากเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ไม่ได้รับการซ่อมแซมให้กลับมาพักอาศัยได้ ทำให้ผู้เช่าจำนวนมากต้องพากันย้ายออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาตลอด ไปเผชิญกับความไม่แน่นอนในเบื้องหน้าแทน และกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด
“เค้า [เจ้าหน้าที่รัฐ] ปล่อยให้ Trent Court [บ้านพักสำหรับคนมีรายได้น้อย] อยู่ในสภาพคนป่วยเป็นผัก อยู่ในโรคระยะสุดท้าย รอให้ตายไป…แล้วเค้าก็ไมให้ความช่วยเหลืออะไรสักอย่างเลย ในขณะที่มันกำลังตายแบบนี้” คือสิ่งที่หนึ่งในผู้อยู่อาศัยคนหนึ่งกล่าวอยากคับข้องใจ
เรื่องราวเหล่านี้ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่า คนไร้บ้านคือ “คนบ้า” “ไม่เอาไหน” “ไม่พยายามทำตัวให้ดีเอง จะได้ยกระดับชีวิตตัวเองได้” ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ภาวะไร้บ้านสะท้อนให้เราเห็นถึงการทอดทิ้งประชาชนชายขอบโดยรัฐ ไม่เพียงแต่ธรรมชาติจะลงโทษมนุษย์ แต่โครงสร้างสังคมทั้งหมดกำลังลงโทษคนที่ติดอยู่กับความยากจน ด้วยการยืนดูดาย ปล่อยให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศบ่อนทำลายชีวิตคนไปเรื่อย ๆ
อ้างอิง
- Thailand Institute of Justice, “OPEN DATA และ AI เครื่องมือสู่ความยุติธรรม”, วันที่ 15 พ.ย. 2561, เข้าถึงผ่าน: https://www.tijthailand.org/th/highlight/detail/7
- Global Resilience, “Climate gentrification: why we need to consider social justice in climate change planning”, เข้าถึงผ่าน: https://globalresilience.northeastern.edu/climate-gentrification-why-we-need-to-consider-social-justice-in-climate-change-planning/
- Scalawag, “Poor southerners are joining the globe’s climate migrants”, วันที่ 21 มกราคม 2562, เข้าถึงผ่าน: https://scalawagmagazine.org/2019/01/new-bern-hurricane-part-1/
- ฐานเศรษฐกิจ, “ค่าครองชีพ กทม. สูงติดอันดับ 35 ของโลก”, วันที่ 13 มิถุนายน 2563, เข้าถึงผ่าน: https://www.thansettakij.com/content/normal_news/438287
- The Conversation, “The new digital divide is between people who opt out of algorithms and people who don”, วันที่ 17 เมษายน 2562, เข้าถึงผ่าน: https://theconversation.com/the-new-digital-divide-is-between-people-who-opt-out-of-algorithms-and-people-who-dont-114719
- Michele Gilmann, “Poverty Lawgorithms: A Poverty Lawyers Guide to Fighting Automated Decision-Making Harms on Low-Income Communities”, เข้าถึงผ่าน: https://datasociety.net/wp-content/uploads/2020/09/Poverty-Lawgorithms-20200915.pdf
- Philip Alston, “Climate change and poverty : report of the Special Rapporteur on Extreme Poverty and Human Rights”, 2019, เข้าถึงผ่าน: https://digitallibrary.un.org/record/3810720?ln=en