ค่าครองชีพในเมืองใหญ่ที่สูง คนไร้บ้านกับต้นทุนชีวิตที่ต่ำ รัฐควรทำอย่างไร?

เมื่อปี ค.ศ. 1933 นักเขียนชาวอังกฤษชื่อดังอย่างจอร์จ ออร์เวลเล่าว่า “ผมเคยนอนตรงริมแม่น้ำ” และถึงแม้ว่ามันจะเสียงดัง เปียกและหนาวเหน็บ “ก็ยังดีกว่าไม่ได้นอนเลย” ออร์เวลเล่าว่าเห็นคนราว 50 คนนอนอยู่ใต้สะพานชาร์ริง ครอส ใครจะเชื่อกันว่าอีก 90 ปีต่อมา ภาพที่ออร์เวลเคยพบเห็นจะยังคงถูกฉายซ้ำอีกครั้ง บริเวณริมแม่น้ำและชาร์ริง ครอส ยังคงมีคนไร้บ้านนอนเรียงรายอยู่เต็มไปหมดแม้แต่ในเดือนที่หนาวเหน็บที่สุดอย่างเดือนธันวาคม 

นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา จำนวนคนไร้บ้านในลอนดอนพุ่งสูงขึ้นถึงสามเท่าตัว นี่คือปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในประเทศร่ำรวยหลายประเทศ จำนวนคนไร้บ้านในแทบทุกประเทศทั่วยุโรปกำลังทวีจำนวนมากขึ้น ส่วนในประเทศอเมริกานั้น แม้จำนวนคนไร้บ้านโดยรวมทั้งประเทศจะลดลงแต่ในเมืองที่ร่ำรวยกลับมีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น มีคนไร้บ้านนอนอยู่ในที่สาธารณะในซาน ฟรานซิสโกถึง 5,000 คน และจำนวนนี้นับว่าเป็นจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 19 ในเวลาเพียงสองปีที่ผ่านมา

บางคนอาจกล่าวว่านโยบายแบบ “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” อย่างกฎหมายห้ามเมาเหล้าในที่สาธารณะ หรือการไม่ให้เงินคนไร้บ้าน แต่ไปให้กับองค์กรการกุศลแทนจะเป็นวิธีการที่ดีและได้ผลในการแก้ปัญหา แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีการเหล่านี้แทบจะไม่ช่วยอะไรเลย เพราะปัญหาที่แท้จริงคือราคาที่อยู่อาศัยที่สูงเกินไป และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ศาลสูงของอเมริกายืนกรานว่าผู้ออกกฎหมายไม่ควรออกกฎหมายให้การนอนในที่สาธารณะเป็นความผิด

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนไร้บ้านในอเมริกามีจำนวนน้อยมากเสียจนนักสังคมวิทยาคาดการณ์ว่าคนไร้บ้านจะหมดไป แต่ ณ เวลานั้นที่อยู่อาศัยมีราคาถูก ผู้เช่าเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ใช้จ่ายเงินมากกว่าร้อยละสามสิบของรายได้ไปกับค่าเช่าที่อยู่อาศัย ส่วน ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้เช่ากว่าครึ่งได้ใช้จ่ายเงินมากกว่าร้อยละสามสิบของรายได้ไปกับค่าเช่าบ้าน มีหลักฐานและข้อค้นพบมากมายที่แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่าหากราคาที่อยู่อาศัยในเมืองที่ค่าครองชีพสูงมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จำนวนคนไร้บ้านในเมืองนั้นจะพุ่งขึ้นร้อยละ 8 เลยทีเดียว

ในความเป็นจริงแล้ว รัฐสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เนื่องด้วยสาเหตุที่คนไร้บ้านในอังกฤษเพิ่มนั้นขึ้นอาจเป็นเพราะรัฐตัดเงินช่วยเหลือค่าที่อยู่อาศัยให้คนจน ซึ่งในกรณีนี้ หากรัฐจ่ายเงินช่วยเหลือค่าที่อยู่อาศัยในจำนวนที่เหมาะสมก็อาจเป็นการลดรายจ่ายของรัฐเอง เพราะค่าใช้จ่ายที่ลงไปกับการรักษาพยาบาลและตำรวจก็จะลดลง และผู้คนก็จะมีโอกาสหางานทำได้มากขึ้น อีกทางหนึ่งก็รัฐต้องลงทุนสร้างอาคารที่อยู่อาศัย อย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ที่แทบไม่มีคนไร้บ้านเพราะร้อยละ 80 ของผู้อยู่อาศัย อาศัยอยู่ในแฟลตรัฐบาลราคาไม่แพง ฟินแลนด์เองก็สร้างที่อยู่อาศัยโดยรัฐเพิ่มมากขึ้นและสนับสนุนให้คนไร้บ้านไปอยู่ในอพาร์ทเม้นของตนเองมากกว่าที่จะให้คนไร้บ้านไปอยู่ศูนย์พักพิง ฟินแลนด์ไม่ได้กำหนดให้คนไร้บ้านต้องเลิกดื่มเหล้าหรือเลิกเสพยาก่อนที่จะให้ไปอยู่ในอพาร์ทเม้นของตน แต่พาคนไร้บ้านไปอยู่ในอพาร์ทเม้นก่อน จากนั้นจึงให้การช่วยเหลือให้คนไร้บ้านแก้ปัญหาส่วนตัวของตนได้ และผลคือจำนวนคนไร้บ้านในฟินแลนด์มีอัตราลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ

ที่มา: https://www.economist.com/leaders/2019/12/18/how-to-cut-homelessness-in-the-worlds-priciest-cities