จากโควิดถึงเศรษฐกิจในกระเป๋า ผลักกลุ่มเปราะบางสู่ ‘คนไร้บ้าน’ เปิดผลวิจัยในเส้นแบ่งเหลื่อมซ้อน เมื่อ 1 นโยบายไม่ใช่คำตอบ

“ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ตอนมาทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้านใหม่ๆ ก็คิดแบบเสื้อตัวเดียว ใส่ทุกคน มองว่าต่อให้มีปัญหาหนักขนาดไหน ถ้ามีรายได้ดีขึ้นมาก็จะหลุดจากภาวะไร้บ้านได้ แต่พอทำไปสักพักหนึ่ง จึงรู้ว่ามีความซับซ้อนของปัญหาค่อนข้างเยอะ  คิดว่าภาครัฐไม่สามารถใช้นโยบายเดียวแก้ได้ ไม่ได้จบที่การฝึกอาชีพและสร้างรายได้”

คือคำกล่าวของ ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) หัวเรือใหญ่ของโครงการ ‘ศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม’ (Development of vulnerability indicator of homelessness) ภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านและประสานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มุ่งหน้าลงพื้นที่สำรวจ สอบถาม และพูดคุยกับทั้งคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการก้าวสู่ภาวะไร้บ้านใน 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และขอนแก่น เพื่อพัฒนาโมเดล หรือ ‘แบบจำลอง’ ทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้คน 1 คนเปลี่ยนสถานะไปสู่คนไร้บ้านอย่างเต็มตัว 

“โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อดูพัฒนาการชี้วัดโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ว่าระหว่างคนไร้บ้านกับคนเปราะบาง อะไรคือเส้นแบ่ง โดยมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลองที่มีความสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลคน 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่เป็นคนไร้บ้านอยู่แล้ว และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนเปราะบาง คือคนที่มีความเสี่ยง มีอาชีพไม่มั่นคง มีปัญหาต่างๆ เราทำแบบสอบถาม เก็บรายละเอียด ตั้งเป้าไว้ 300 คน คนไร้บ้านครึ่งหนึ่ง คนเปราะบางครึ่งหนึ่ง เพื่อเอาคาแร็คเตอร์ของเขามาเปรียบเทียบกัน 

สำหรับคนไร้บ้าน เราเก็บข้อมูลทั้งจากกลุ่มที่อยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้าน 2 แห่งใหญ่ๆของกรุงเทพ คือ ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ที่บางกอกน้อยและที่รังสิต รวมถึงพื้นที่สาธารณะด้วย ไม่ว่าจะเป็นท่าน้ำนนท์ และหัวลำโพง ส่วนที่ขอนแก่น เก็บข้อมูลจากศูนย์พักคนไร้บ้าน และในที่สาธารณะตามตัวเมืองด้วย” ผศ.ดร.พีระกล่าว 

นับแต่ก้าวแรกของโครงการที่แม้ต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด ทว่า วันนี้เดินมาถึงครึ่งทาง ล่าสุด ได้ทดลองนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตอนนี้สิ่งที่รอคอยคือการนำข้อมูลทั้งหมดไปใส่ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งจะดำเนินการต่อไป โดยคาดว่าโครงการวิจัยนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2564 

ก่อนจะถึงวันนั้น นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ มีข้อสังเกตมากมายจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงปมปัญหาน่าสนใจยิ่ง บนความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตผู้คน

ครอบครัว เศรษฐกิจ นาฏกรรมชีวิตในเงื่อนปมทับซ้อน

ทีมวิจัยลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนไร้บ้านและคนเปราะบางต่อสภาวะไร้บ้าน

เริ่มต้นด้วยข้อสังเกตสำคัญ ซึ่ง ผศ.ดร.พีระ ชักชวนให้ลองขบคิดว่า การที่คนๆหนึ่งกลายเป็นคนไร้บ้าน คนๆนั้นต้องมีปัญหาอะไรบ้าง ก่อนเฉลยคำตอบถึง 2 เงื่อนไขที่ทับซ้อน ได้แก่ ครอบครัวและเศรษฐกิจ 

“หลักๆ ถ้ามองในมุมทางเศรษฐศาสตร์ คือ ปัญหารายได้เป็นหลัก แต่ต้องมีปัญหาที่ทับซ้อนอีกหนึ่งปัญหา คือ ปัญหาครอบครัว จึงอาจกล่าวได้ว่า คน 1 คน การจะกลายเป็นคนไร้บ้าน เป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีปัญหาซ้อนกัน 2 อย่าง คือ 1. ปัญหาทางรายได้ หรือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ 2. ปัญหาทางครอบครัว 

ทั้ง 2 ปัญหานี้ ต้องซ้อนกันอยู่ หรือมีพร้อมๆกัน ถึงจะบีบให้คน 1 คนกลายเป็นคนไร้บ้านได้  ถ้ามีเพียงปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่อีกด้านยังเข้มแข็ง เขาจะยังไม่เป็นคนไร้บ้านในทันที เช่น ถ้ามีปัญหาในครอบครัว แต่ยังทำงานได้ ก็แค่ออกจากครอบครัวไปหาบ้านเช่า ในขณะเดียวกัน ถ้าตกงาน แต่ครอบครัวเข้มแข็ง ยังกลับไปขอความช่วยเหลือจากครอบครัวได้ ก็ยังไม่เป็นคนไร้บ้านในทันที ผมเลยมองว่า คนไร้บ้านคือดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนึ่ง”  

นอกจากนี้ ยังย้อนเล่าถึงการสัมภาษณ์คนไร้บ้านที่แน่นอนว่า มี 2 ปัญหาข้างต้น แต่คำถามที่ว่าปัญหาใด คือ ‘ปัญหานำ’ ของบุคคลคนนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญเพื่อการวิเคราะห์อย่างลงลึกในมิติต่างๆ กระทั่งพบว่า คนไร้บ้านที่ ‘อายุน้อย’ คือต่ำกว่า 20 ปีจนถึงราว 40 ปี กับคนไร้บ้านที่ ‘อายุมาก’ คือ 40 ปีขึ้นไป ให้คำตอบที่แตกต่าง 

“ข้อสังเกตสำคัญคือ กลุ่มที่อายุเยอะ ส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้านเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจนำ กล่าวโดยง่ายคือ ตอนที่เขาอายุน้อย ยังไม่เป็นคนไร้บ้าน เพราะมีงานทำ แต่มีความเปราะบางทางครอบครัว อยู่ตัวคนเดียว เมื่อวันหนึ่งอายุมากขึ้น  อาจทำงานแบบเดิมไหว เช่น เดิมรับจ้างขนของในตลาด ซึ่งไม่ใช่งานที่พัฒนาทักษะให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอเจ็บป่วย หรือ มีอายุมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักเหมือนเดิมไหว ทำให้ขาดรายได้ จึงต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน จริงๆแล้ว เขาอาจมีครอบครัวแต่ไม่อยากกลับ หรือกลับไม่ได้ 

ในขณะที่กลุ่มอายุน้อย จะสลับกัน คือ เป็นคนไร้บ้านด้วยปัญหาครอบครัวนำ เนื่องจากออกจากบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ความรู้และการพัฒนาทักษะยังมีไม่พอ งานที่ทำได้จึงเป็นระดับใช้แรงงาน รายได้ไม่สูง ทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะบ้านก็กลับไม่ได้ รายได้จากการทำงานก็ไม่มากพอที่จะให้หลุดจากภาวะไร้บ้าน เราจะเห็นความแตกต่างของ 2 กลุ่มนี้ค่อนข้างชัดเจน” ผศ.ดร.พีระอธิบาย 

บ้าน 3 หลังในฝั่งฝัน สัญญาณ ‘ใจ’ หลุดภาวะไร้บ้าน

ทีมวิจัยลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนไร้บ้านและคนเปราะบางต่อสภาวะไร้บ้าน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่งานวิจัยชิ้นนี้บ่งชี้ได้ถึงข้อสังเกตอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแนวนโนบายภาครัฐ นั่นคือสัญญาณของ ‘ใจ’ ที่อยากหลุดจากภาวะคนไร้บ้านของกลุ่มอายุที่แตกต่าง 

“ในงานวิจัยของเรา นอกจากทำแบบสอบถามแล้ว ยังมีการทดสอบคนไร้บ้าน โดยจำลองบ้านให้เลือก 3 แบบ แบบที่ 1 คือแบบสถานที่พักพิงของรัฐ นอนรวมกัน ไม่สามารถจับจองพื้นที่ของตัวเองได้ ต้องลงทะเบียนเข้าตอนเย็น เพื่อนอนค้างคืนฟรี ตอนเช้าต้องลงทะเบียนออก มีอาหารให้ มีห้องน้ำรวม ในไทยเคยมีคือบ้านอิ่มใจ ที่แยกแม้นศรี

แบบที่ 2 คือแบบภาคประชาสังคม หรือศูนย์พักเอกชน เราใช้โมเดลของศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู คือ มีพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้มีห้องส่วนตัว แต่มีฉากกั้น ห้องน้ำรวม มีกฎระเบียบ 

แบบที่ 3 เป็นห้องเช่าราคาถูก มีอิสระ เอาของเข้าไปอยู่ได้ ห้องน้ำในตัว  เราตั้งเป้าไว้ว่า คนที่เลือกแบบที่ 3 คือคนที่มีใจอยากออกจากภาวะไร้บ้านกลับมาเป็นคนทั่วๆไป ซึ่งคนไร้บ้าน 84 คนใน 130 คนเลือกแบบนี้ ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนไร้บ้านอายุน้อย เลือกแบบที่ 3 เยอะมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในกลุ่มอายุมากตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเราเริ่มเห็นสัญญาณของการไม่อยากกลับ   คือบางคนบอกว่า ไม่เลือก ไม่อยากอยู่ทั้ง 3 แบบ อยากอยู่แบบปัจจุบันคือ พื้นที่สาธารณะ บางคนก็เลือกแบบที่ 1 และแบบที่ 2 สะท้อนว่า เป้าหมายของคนไร้บ้านที่อายุเยอะ คือ อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย มีเพื่อน มีคนที่ดูแล ไม่ได้อยากกลับไปมีบ้านหรือกลับสู่สังคมแล้ว”  ผศ.ดร.พีระตั้งข้อสังเกตอันนำไปสู่แนวคิดที่ว่า การช่วยเหลือคนไร้บ้าน อาจไม่สามารถนำนโยบายเดียวไปใช้กับคนทุกกลุ่มได้ 

“รัฐอาจมองว่า อยากให้คนไร้บ้านกลับสู่สังคม แค่ให้ฝึกอาชีพ ทุกอย่างจบ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ถ้าอยากผลักดันคนไร้บ้านให้คืนสู่สังคม กลุ่มที่ควรได้รับการสนับสนุน คนไร้บ้านอายุน้อย เพราะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอยากกลับ จึงควรส่งเสริมทักษะทางอาชีพ เพื่อให้ยกระดับรายได้ตัวเอง ในขณะที่คนไร้บ้านอายุมาก อาจต้องเน้นนโยบายการช่วยเหลือด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของรัฐ” 

ผู้คนบนความเปราะบาง เมื่ออาชีพ ‘ว่างงาน’ รั้งอันดับ 2

ทีมวิจัยลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนไร้บ้านและคนเปราะบางต่อสภาวะไร้บ้าน

ปิดท้ายด้วยประเด็นของกลุ่มคนเปราะบาง  ซึ่งแม้ยังมีบ้าน แต่อยู่ในภาวะเสี่ยง ด้วยงานที่ไม่มั่นคง รายได้ไม่ต่างจากคนไร้บ้านมากนัก หากตกงาน ก็อาจก้าวสู่ภาวะไร้บ้านได้ในทันที 

จากการรวบรวมข้อมูลในโครงการวิจัยครั้งนี้ ผศ.ดร.พีระ พบว่า ในขณะที่คนไร้บ้านมีรายได้เฉลี่ยราว 4,700 ต่อเดือน คนเปราะบาง มีรายได้ราว 8,000 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มนี้ยังไม่เป็นคนไร้บ้าน 

อาชีพฮิตอันดับ 1 ของทั้งคนไร้บ้านและคนเปราะบางคือ รับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้แรงงาน หาเช้ากินค่ำ ส่วนที่ตามมาติดๆเป็นอันดับ 2 คือ ‘อาชีพว่างงาน’ 

“ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือช่วงโควิด อาชีพท็อปฮิตอันดับ 2 ของคนเปราะบางคือ ว่างงาน บางคนเพิ่งมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะเคยทำงานห้าง พอห้างปิด ถูกเลิกจ้าง บางคนอาจมีบ้านต่างจังหวัด แต่คิดว่าจะยังไม่กลับ เลยกลายเป็นคนไร้บ้าน ยิ่งถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหามาก” 

จากที่กล่าวมาข้างมาข้างต้น นำพาให้ย้อนกลับสู่จุดมุ่งหมายของโครงการวิจัยซึ่งอย่างน้อยการประมาณการจะช่วยให้เห็นทิศทาง เพื่อหาแนวทางรับมือให้ได้ 

“หากได้ตัวแบบจำลองความเสี่ยงในการเป็นคนไร้บ้านแล้ว อาจปรับให้ใช้งานง่ายขึ้น แล้วมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย รวมทั้งภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนเปราะบางใช้ในการประเมินความเสี่ยงว่าคนนี้เสี่ยงมากหรือน้อย ความช่วยเหลือควรเข้าไปในด้านใด ตัวแบบจำลองน่าจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้ และการที่มีแบบจำลองใช้ในการเตือนว่าจะเกิดภาวะไร้บ้าน จะเป็นการเตือนสังคมให้เห็นว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ อาจมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้ป้องกันได้อย่างทันท่วงที” 

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่งก่อนถึงวันที่แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์จากโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมไทยในวันพรุ่งนี้