ถ้ารัฐไม่รอบคอบ โรคระบาดหาย คนอาจไร้บ้านกันมากขึ้น

ถ้ารัฐไม่รอบคอบ โรคระบาดหาย คนอาจไร้บ้านกันมากขึ้น

เรื่อง: นลินี มาลีญากุล

.

.

ไตรมาสแรกของปีเหมือนจะไม่ใจดีกับใครเท่าไหร่นัก ยิ่งเมื่อสถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์โควิด-19 ระบาด ทุกอย่างก็กลายเป็นเหมือนโดมิโนล้มกระทบกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่ทำให้หลายภาคส่วนต้องพักการดำเนินงานชั่วคราว บางรายกำลังพิจารณาการปิดกิจการถาวร

แม้ไม่อาจคาดเดาอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคมได้เป๊ะขนาดนั้น แต่บทสนทนาระหว่าง ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ผู้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิชาการของแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. อาจพอตอบได้ว่าทำไมคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้หนีไม่พ้นแรงงานนอกระบบและแรงงานรายวัน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงคนไร้บ้านที่พึ่งพางานรายวันเป็นส่วนมาก ที่สำคัญคือเมื่อหลายภาคส่วนรณรงค์การเว้นระยะห่างทางสังคม การเข้าถึงอาหาร น้ำดื่ม และแหล่งพักพิงก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก

ยิ่งไปกว่านั้นก็เป็นไปได้ว่า กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจอื่นอาจเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบได้ง่ายๆ หากรัฐไม่มีมาตรการรับมือการตกหล่นครั้งนี้ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคระบาดที่ดีพอ

(ซ้าย) นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข
(ขวา) ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของโควิด-19

อย่างที่หลายคนตระหนักว่าภายใต้สถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ กลุ่มคนที่มีความไม่มั่นคงด้านรายได้และเข้าไม่ถึงสุขอนามัยที่ดีนักอย่างคนไร้บ้านนั้นย่อมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป

นพ.ขวัญประชา เริ่มต้นว่า “ด้วยร่างกายของคนไร้บ้านเขาไม่ได้แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางรายมีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่เหมือนกับคนทั่วไป แต่พวกเขาเลือกบริโภคได้ยากกว่าก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการเข้าไปอีก บางคนยังเป็นวัณโรครวมถึงการอุดตันของเส้นเลือด และมันก็ชัดเจนว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้มันมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายมันมาจากการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากด้วย ดังนั้นเราก็ต้องมารักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) เราต้องอยู่ในที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ทั้งหมดไม่ง่ายต่อคนไร้บ้าน การอยู่ในพื้นที่สาธารณะจึงมีความเสี่ยงสูงมาก และต่อให้อยู่ในศูนย์พักพิงเราก็รู้กันว่าความเป็นอยู่ที่แออัดนั้นก็อาจยากต่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอยู่ดี หากใครคนใดคนหนึ่งเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็อาจทำให้เกิดการแพร่ขยายของเชื้อสู่คนในวงกว้างได้ด้วย”

“ช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้มันมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายมันมาจากการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากด้วย ดังนั้นเราก็ต้องมารักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) เราต้องอยู่ในที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ทั้งหมดไม่ง่ายต่อคนไร้บ้าน การอยู่ในพื้นที่สาธารณะจึงมีความเสี่ยงสูงมาก และต่อให้อยู่ในศูนย์พักพิงเราก็รู้กันว่าความเป็นอยู่ที่แออัดนั้นก็อาจยากต่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอยู่ดี”

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย

และในช่วงการระบาดของโรคที่อะไรก็ไม่แน่นอนสักอย่าง อ.พีระ ก็ค่อยๆ เรียบเรียงว่าแนวทางที่คนทั่วไปใช้เพื่อดูแลตัวเองนั้นก็คือการหา “Prevention” หรือวิธีป้องกันไม่ให้โรคเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่นการสวมหน้ากากอนามัยและการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกฮอล์ รวมถึงการหา “Protection” หรือวิธีปกป้องหรือคุ้มครองตัวเองหากเกิดติดเชื้ออย่างไม่คาดฝันขึ้นมา เช่นการซื้อประกันภัยโควิดหลายโปรโมชั่นที่มีขายในห้องตลาดตอนนี้

“ในสถานการณ์โรคระบาดที่มันมีทั้งความเสี่ยงและความไม่แน่นอนว่าโรคอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ สิ่งที่เราต้องมีคือทั้ง Prevention และ Protection แต่ขนาดในมุมคนทั่วไปสิ่งของเหล่านี้ยังหายากเลย เพราะความต้องการบริโภคมันสูงก็ส่งผลให้สินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นอย่างที่เราเห็นกัน เรามองว่าในตอนนี้คนทั่วไปเองก็ยังลำบาก แต่กลุ่มคนไร้บ้านซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องรายได้ สิ่งที่น่ากังวลและทำให้พวกเขามีความเปราะบางมากกว่าคนทั่วไปก็คือคำถามว่าพวกเขาเข้าถึง Prevention และ Protection นี้มากน้อยแค่ไหน”

อ.พีระ ยังเสริมว่า นอกจากการป้องกันโรคแล้ว ประเด็นเรื่องการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ “พอนึกถึงคนไร้บ้านเราจะนึกถึง ‘2 อา’ ครับ คืออาหารกับอาชีพ พูดถึงอาหารก่อนนะครับ แน่นอนว่าในสถานการณ์ปกติ คนที่ทำงานเรื่องคนไร้บ้านเองจะพอทราบว่าเฉพาะในกรุงเทพฯ เนี่ย มันจะมีสถานที่ที่เขาแจกอาหารที่คนไร้บ้านสามารถไปรับได้ ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้คนไร้บ้านได้มาก ตอนนี้พอเกิดโรคระบาดขึ้นมา เราก็มีความกังวลว่าเขายังจะแจกอาหารกันอยู่ไหม บวกกับตอนนี้ยิ่งมีการกักตุนอาหารด้วย เพราะต่อให้ยังแจกก็อาจเป็นที่ที่ทำให้คนมารวมตัวกันเยอะและถ้าหยุดแจกก็ไม่แน่ใจว่าคนไร้บ้านจะได้รับอาหารที่เพียงพอหรือเปล่า ซึ่งมันอาจะส่งผลต่อปัญหาเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยอื่นๆ ตามมา”

“พอนึกถึงคนไร้บ้านเราจะนึกถึง ‘2 อา’ ครับ คืออาหารกับอาชีพ อาหารต่อให้ยังแจกก็อาจเป็นที่ที่ทำให้คนมารวมตัวกันเยอะและถ้าหยุดแจกก็ไม่แน่ใจว่าคนไร้บ้านจะได้รับอาหารที่เพียงพอหรือเปล่า …เรื่องอาชีพมันก็ทำให้มีข้อกังวลเพิ่มเติมขึ้นมาอีกข้อ นั่นคือตอนนี้เริ่มมีคนตกงานมากขึ้น มีการเลิกจ้างมากขึ้น มันก็หมายถึงว่าเราอาจจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น”

ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์

คนทั่วไปเริ่มตกงาน อาจเสี่ยงเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น

“อาที่สองคืออาชีพ คนไร้บ้านส่วนใหญ่เขาทำงานแบบรับจ้างไม่ประจำ การที่งานหายไปก็มีผลต่อรายได้ ทีนี้พอพูดเรื่องอาชีพมันก็ทำให้มีข้อกังวลเพิ่มเติมขึ้นมาอีกข้อ นั่นคือตอนนี้เริ่มมีคนตกงานมากขึ้น มีการเลิกจ้างมากขึ้น มันก็หมายถึงว่าเราอาจจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ต้องไม่ลืมว่างานมันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการไร้บ้าน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเศรษฐกิจมีภาวะถดถอยแบบนี้จนส่งผลต่อภาวการณ์จ้างงานไปเรื่อยๆ กลุ่มเปราะบางที่แต่เดิมอาจมีงานทำแล้วถูกให้ออกจากงานหรือไม่มีการจ้างงานเกิดขึ้น ก็มีความเสี่ยงสูงที่เขาอาจจะกลายเป็นคนไร้บ้าน”

จากงานวิจัยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และตัวชี้วัดความพร้อมในการตั้งหลักชีวิตเพื่อกลับสู่สังคมของคนไร้บ้าน โดย อ.พีระ และคณะ ซึ่งได้จำลองสถานการณ์ว่าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540 อีกจะเกิดผลกระทบใดต่อคนไร้บ้านบ้าง นักเศรษฐศาสตร์พบว่า หากเทียบกับสถิติคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ประมาณ 1,484 คน ในปี 2558 และเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรลดลงประมาณ 20% ก็อาจจะทำให้มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นมาถึง 69% จากตัวเลขเดิม หรือพูดแบบหยาบที่สุดก็คือถ้ารายได้ลดลงมาเพียง 1% ก็อาจทำให้สถิติคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นมาได้ถึง 3% โดยแม้ว่าแบบจำลองนี้จะไม่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังประเมินค่าความเสียทางเศรษฐกิจอย่างแน่ชัดไม่ได้ แต่ อ.พีระ ก็พอจะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่าหากทุกอย่างยังคงย่ำแย่ จะเกิดผลกระทบใดตามมาได้บ้าง

“ต้องบอกว่าการกลายเป็นคนไร้บ้านมันคือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งนะครับ ลองคิดดูว่าคนๆ หนึ่งถ้าต้องมาเป็นคนไร้บ้านแสดงว่าเขาจะต้องลำบากมาก การที่คนๆ หนึ่งจะต้องไม่มีที่อยู่อาศัยเนี่ยแสดงว่าเขามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะไปหาที่อยู่อาศัย แม้จะเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูกมากก็ตาม เขาไม่ได้มีรายได้ระดับนั้น และสองคือบางคนไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีที่ให้พึ่งพิง ไหนจะต้องแบ่งเงินมายังชีพในด้านอื่นอีก เพราะฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านก็อาจชี้วัดความยากจนและความล้มเหลวของการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นกระทบต่อระบบสังคมโดยรวมแน่นอน”

“ต้องบอกว่าการกลายเป็นคนไร้บ้านมันคือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งนะครับ ลองคิดดูว่าคนๆ หนึ่งถ้าต้องมาเป็นคนไร้บ้านแสดงว่าเขาจะต้องลำบากมาก การที่คนๆ หนึ่งจะต้องไม่มีที่อยู่อาศัยเนี่ยแสดงว่าเขามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะไปหาที่อยู่อาศัย แม้จะเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูกมากก็ตาม เขาไม่ได้มีรายได้ระดับนั้น และสองคือบางคนไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีที่ให้พึ่งพิง ไหนจะต้องแบ่งเงินมายังชีพในด้านอื่นอีก”

ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์

คนไร้บ้านคือพลเมืองที่รัฐต้องใส่ใจและมีมาตรการดูแลคู่กันไปตั้งแต่วันนี้

มาถึงตรงนี้ ทั้ง นพ.ขวัญประชา และ อ.พีระ เห็นตรงกันว่า รัฐควรมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยาวเพื่อดูแลรวมถึงเยียวยาคนไร้บ้านและเสี่ยงจะไร้บ้านจากโรคระบาดตั้งแต่วันนี้ และต้องดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันกับทุกนโยบายที่รัฐกำลังทำอยู่ หนึ่งเพราะคนไร้บ้านและแรงงานนอกระบบไม่ควรเป็นประชากรกลุ่มที่ตกการสำรวจ และสองคือที่ใครสักคนหลุดออกจากระบบการพัฒนาย่อมหมายถึงความไม่เสมอภาคในฐานะมนุษย์ด้วยกัน

อ.พีระ อธิบายว่า “สำหรับคนที่กลายมาเป็นคนไร้บ้าน เราพบว่าถ้ารัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรีบช่วยให้เขากลับมามีงานทำ มีมาตรการดูแลที่ดีและเพียงพอ เขาก็จะกลับมามีชีวิตปกติหรือกลับเข้าสู่สังคมได้เร็วและสูงขึ้น แต่ถ้าเกิดปล่อยให้เป็นคนไร้บ้านนานเข้า โอกาสที่จะกลับก็ยากมากแล้วครับ เพราะมันมีเรื่องของสภาพที่เขาพบเจอ สภาพจิตใจและความเจ็บปวดทางสังคมและเศรษฐกิจหลายอย่าง ผลกระทบต่างๆ ก็จะทำให้เขากลับสู่ภาวะปกติได้ยากขึ้นไปด้วย”

ยิ่งในปัจจุบัน การเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น โดย นพ.ขวัญประชา ขยายว่าผลกระทบต่อเนื่องของโรคระบาดและเศรษฐกิจโดยรวมจะยิ่งทำให้คนไร้บ้านยิ่งไร้สิทธิความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น นั่นเพราะต่อให้ประเทศไทยจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง แต่กฎเกณฑ์เช่นการระบุสถานรับบริการที่ไม่สอดคล้องกับถิ่นที่อยู่อาศัยจริงก็เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสาธารสุขที่มีคุณภาพอยู่ดี

“คนไร้บ้านส่วนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน บางคนเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาบริการ อีกส่วนหนึ่งต่อให้มีบัตรทอง มีสิทธิการรักษา แต่การเข้าสู่ระบบการบริการสุขภาพในขณะนี้ก็ไม่ง่ายนัก มันมีค่าใช้จ่าย ยิ่งพออยู่ในเมืองใหญ่มันหมายความว่าถ้าคุณมีบัตรทองอยู่ตอนนี้ คุณก็รักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการใกล้บ้านไม่ได้ เพราะสิทธิของคุณดันไปผูกอยู่กับสถานบริการอื่นที่รับรองคุณไว้ ซึ่งมันอาจจะอยู่ห่างจากบริเวณที่พักอาศัยไป หรือบางคนสิทธิบัตรทองก็อยู่ต่างจังหวัดไปเลย ซึ่งการเดินทางไปรับบริการมันมีค่าใช้จ่าย คนไร้บ้านเขาไม่ได้มีทั้งเวลาและเงินทองมากขนาดนั้น เขาไม่มีต้นทุนมากพอ เขาก็ต้องเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดและถูกปฏิเสธน้อยที่สุดคือการรักษาตัวเองด้วยยาพื้นฐานที่ราคาไม่แพงนักก่อน”

“คนไร้บ้านส่วนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน บางคนเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาบริการ อีกส่วนหนึ่งต่อให้มีบัตรทอง มีสิทธิการรักษา แต่การเข้าสู่ระบบการบริการสุขภาพในขณะนี้ก็ไม่ง่ายนัก มันมีค่าใช้จ่าย …เขาไม่มีต้นทุนมากพอ เขาก็ต้องเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดและถูกปฏิเสธน้อยที่สุดคือการรักษาตัวเองด้วยยาพื้นฐานที่ราคาไม่แพงนักก่อน”

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย

สื่อสารกับคนไร้บ้านด้วยความเข้าอกเข้าใจ

อย่างที่กล่าวมาทั้งหมด สภาพความแออัดและการต้องพึ่งพิงระหว่างกลุ่มคนไร้บ้านด้วยกันเองอาจส่งผลต่อโอกาสการติดโรคที่เพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้เชื้อกระจายไปถึงสาธารณะได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น นพ.ขวัญประชา จึงมองว่ามาตรการเร่งด่วนที่รัฐควรทำก็คือการจัดหาที่พักชั่วคราวที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการหางานทดแทน หรือมาตรการเยียวยาต่างๆ เพื่อให้คนไร้บ้านตั้งหลักได้ไปในคราวเดียวกัน

“เราต้องหาที่พักชั่วคราวให้เขา ที่พักที่เป็นกิจลักษณะเพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้คนไร้บ้านออกไปใช้พื้นที่สาธารณะก่อนในช่วงนี้ แต่ที่พักนี้ต้องมีการอำนวยความสะดวก ต้องเอื้อกับคนไร้บ้านพอสมควรเพื่อให้เขายังดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงโรคระบาด ต้องมีอาชีพหรือการชดเชยรายได้ให้เขาเพื่อไม่บีบให้เขาต้องออกไปหางานทำในช่วงนี้ ที่สำคัญคือคนไร้บ้านส่วนหนึ่งเขามีความไม่ประทับใจกับสถานที่พักพิงที่รัฐเคยจัดหาให้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสื่อสารว่าตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ปกตินัก สิ่งที่รัฐจะจัดหาให้ต่อไปนี้จะอำนวยความสะดวกและไม่มีสภาพที่ไม่น่าประทับใจแบบเดิม”​

นพ.ขวัญประชา ยังเสนอต่ออีกว่า หากรัฐบาลสั่งปิดเมืองอย่างเข้มงวดขึ้น ก็ยิ่งต้องหามาตรกรรองรับคนไร้บ้านที่อาศัยตามที่สาธารณะอย่างรอบคอยด้วยแทนที่จะทำการจับกุมหรือขับไล่ให้ออกจากพื้นที่เมืองไปเช่นเดิม เพราะตนมองว่าเป็นการกระจายปัญหาไปยังพื้นที่อื่น ทั้งยังไม่ใช่วิธีที่ดีนักหากต้องการควบคุมโรคให้อยู่มือจริงๆ

“ผมคงต้องย้ำจริงๆ นะครับว่าในตอนนี้การทำที่พักพิงมันอาจจะดูเหมือนไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนไร้บ้าน เขาอาจจะไม่แฮปปี้ มันจึงต้องนำเสนอและสื่อสารอย่างจริงจังผ่านความเข้าอกเข้าใจที่ว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อป้องกันเขาจากเชื้อโรค ว่าเราคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไร้บ้าน เพื่อให้พวกเขาไม่ติดเชื้อและมีชีวิตอยู่ได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเตรียมมาตรการรับมือที่ไม่ซ้ำรอยเดิมที่ปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เป็นมนุษย์ เราต้องมีสวัสดิการที่ยืนยันว่าการจัดการนี้จะไม่เลวร้าย ไม่ใช่จับเขาไปขังเพราะมันไม่น่าจะใช่คำตอบที่ดีและสร้างความแออัดมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เราต้องสื่อสารกับทั้งตัวคนไร้บ้านถึงความจำเป็นของสถานการณ์และสื่อสารกับสังคมในเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจมากๆ จริงๆ ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะไปในทิศทางตรงกันข้ามเลย และมันจะน่ากังวลมากกว่าเดิม”

.

.

ผู้เขียน: นลินี มาลีญากุล

จัดทำโดย: แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายการทำงานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน