ที่อยู่อาศัยยุคดิจิทัล และความเหลื่อมล้ำที่ตามสอดแนม

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัย และเราสามารถเห็นได้จากธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่งอกเงยอย่างต่อเนื่อง  แพลตฟอร์มสำหรับหาที่อยู่อาศัยอย่าง Airbnb ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับโรงแรมและห้อง/บ้านเช่า บริการคัดกรองผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและข้อมูลเครดิตของผู้สมัคร พร้อมสร้างอัลกอริทึมเพื่อประเมินความเหมาะสมของผู้ประสงค์เช่าที่โดยเฉพาะ โดยที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องลงแรงสืบเสาะเองเลย ในด้านของระบบรักษาความปลอดภัย กล้องกันขโมยได้ถูกพัฒนาให้มีความละเอียดสูง และสามารถทำอะไรได้มากกว่าการบันทึกภาพแล้ว ระบบสแกนหน้า (facial recognition) คนเข้า-ออก และระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนตร์ภายในอาคารถูกติดตั้งอยู่ในกล่องเหล่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอาคารได้สะดวกมากขึ้น 

ถึงอย่างนั้น นวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลดีให้กับผู้เช่าเสมอไป แม้ว่าเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิธีที่เราจัดการที่พักอาศัย แต่มันไม่ได้ขจัดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต ไม่ได้สร้างเสริมสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และไม่ได้ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างถ้วนหน้าเสมอไป

เทคโนโลยีคัดกรองผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์…หรือกีดกันด้วย data?

ธุรกิจคัดกรองผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คัดสรรผู้เช่าแทนเจ้าของที่  โดยบริษัทคัดกรองจะพัฒนาฐานข้อมูลประชากรในมิติต่าง ๆ อาทิ ประวัติการเงินและเงินเดือน ประวัติอาชญากรรมและการก่อการร้ายที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ศาล และหน่วยงานความมั่นคง ประวัติที่อยู่อาศัย และประวัติการโดนขับไล่ออกจากที่พัก หลังจากนั้นบริษัทคัดกรองผู้เช่านำข้อมูลดังกล่าวมาตัดสินใจว่าใครควรจะได้เช่าห้องตรงนี้ และใครคือ ‘คนที่มีคุณลักษณะไม่พึงประสงค์’ และสมควรโดนคัดออก 

อย่างไรก็ตาม ระบบคัดกรองผู้เช่ามักพึ่งพิงอัลกอริทึมที่เลือกสรรคนตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้แล้ว มากกว่าจะให้พนักงานพิจารณาอย่างละเอียด สิ่งที่อัลกอริทึมทำคือสร้าง ‘โปรไฟล์’ ของผู้ติดต่อขอเช่าแต่ละคน โดยอาจประเมินว่าที่อยู่อาศัยที่ผู้เช่าเคยอยู่นั้นมีสถานภาพทางเศรษฐกิจอย่างไร คนในพื้นที่ดังกล่าวมีความสามารถในการเลื่อนชั้นทางสังคมระดับไหน ชื่อของผู้ส่งคำร้องขอเช่าห้องพักบ่งบอกว่าคน ๆ นั้นมีเชื้อชาติอะไร มีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม ค้างชำระหนี้หรือค่าเช่าขนาดไหน 

ปัญหาคือ ไม่มีใครสามารถช่วยตรวจสอบได้เลยว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องขนาดไหน และการคัดกรองผู้เช่ามีความแม่นยำเพียงใด บางทีอัลกอริทึมตัดเกณฑ์ที่ประวัติอาชญากรรมอย่างเดียว โดยไม่ดูว่าเป็นความผิดประเภทใด มีความร้ายแรงขนาดไหน มีรูปการณ์คดีอย่างไร  เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีความคืบหน้าหรือความเปลี่ยนแปลงในระหว่างการดำเนินคดีอย่างไร เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสายตาของอัลกอริทึม ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกปรักปรำ อดีตจำเลยที่ถูกยกฟ้อง และใครก็ตามที่มีชื่ออยู่ในสารบบคดีมีค่าเท่ากันหมด ทุกคนจำเป็นต้องถูกปฏิเสธโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องพิจารณารายละเอียดของประวัติอาชญากรรม หรือกระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างชื่อ เพราะไม่มีการตรวจสอบว่าชื่อที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลนั้นสะกดถูกไหม ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของผู้เช่าจริง ๆ หรือว่าเป็นของบุคคลอื่น

นอกจากนี้เอง ตัวข้อมูลอาชญากรได้แต่สะท้อนอัตราการจับกุมคนเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่โดนจับกุม โดนดำเนินคดี และโดนคุมขังเป็นผู้กระทำผิด ในปี 2018 Connecticut Fair Housing Center และ National Housing Law Project  ได้ฟ้องร้องบริษัทคัดกรองผู้เช่าที่ชื่อว่า CoreLogic เนื่องจากบริษัทดังกล่าวใช้ประวัติอาชญากรรมในการคัดกรองผู้เช่า มีรายงานว่า CoreLogic มีประวัติอาชญากรรมของประชากรทั่วสหรัฐมากถึงร้อยละ 70 และสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของสถานกักกันมากกว่า 2,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ 

เมื่อพิจารณาอัตรการการดำเนินคดีและจองจำที่ CoreLogic รวบรวมได้ ตัวเลขของกลุ่มคนผิวดำและกลุ่มคนลาติโน่กลับมากกว่าคนผิวขาวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกลุ่มคนสองกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายของการจับกุมและสอดส่องของระบบตำรวจ ซึ่งมีปัญหาด้านการกดขี่เชื้อชาติที่ไม่ใช่คนผิวขาวมายาวนาน ตัวเลขการจับกุมดำเนินคดีจึงไม่ใช่ข้อมูลที่เที่ยงตรง ไม่ใช่ข้อมูลที่สามารถสะท้อนการบังคับใช้กฎหมายอย่างชอบธรรมหรือคุณลักษณะที่บกพร่องของบุคคล แต่เป็นดัชนีบ่งบอกอคติของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า การใช้ข้อมูลอาชญากรรมมาคัดกรองผู้เช่าจึงกีดกันประชากรชายขอบจากโอกาสในการหาที่อยู่อาศัยโดยปริยาย       

บางทีอัลกอริทึมก็ใช้ประวัติเครดิต ประวัติรายได้ และข้อมูลทรัพย์สินเป็นตัวคัดกรอง บางครั้งอัลกอริทึมประมวลผลโดยใช้ข้อมูลการฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่พักอาศัย แต่นั่นหมายความว่า คนที่ไม่มีหลักฐานทางการเงินอย่างต่อเนื่อง คนที่เคยโดนฟ้องแต่ไม่ได้โดนไล่ออกไปจริง ๆ คนที่โดนขับไล่ออกจากที่พักอาศัยเพราะค้างชำระค่าน้ำค่าไฟและค่าเช่า หรือเพราะร้องเรียนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ คนที่ยากจน หรือคนไม่มีเงินเดือนจะถูกปฏิเสธทันที ผู้ (เคย) ประสบภาวะไร้ที่อยู่อาศัยจึงได้รับผลกระทบจากการประมวลผลโดยอัลกอริทึมมากเป็นพิเศษ กลายเป็นว่าคนที่ใกล้ชิดกับความเหลื่อมล้ำและจำเป็นต้องมีที่อยู่โดยด่วนที่สุดกลับเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่โดนกีดกันออกไป

สิ่งที่น่ากังวลของระบบคัดกรองผู้เช่าคือ ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างภายในอัลกอริทึมเหล่านั้น ไม่มีใครสามารถตรวจทานได้ว่าข้อมูลที่ถูกป้อนให้อัลกอริทึมถูกต้องแม่นยำขนาดไหน หลายครั้งเอง บริษัทคัดกรองผู้เช่าไม่ได้เปิดเผยที่มาที่ไปของข้อมูลอย่างโปร่งใส รู้ตัวอีกที ผลการตัดสินโดยบริษัทคัดกรองผู้เช่าก็เสร็จสิ้น และชะตากรรมของผู้เช่าก็ถูกประเมิน ชั่งตวง ให้คุณค่า และจำแนกตามกล่อง ‘คนที่มีคุณสมบัติเพียงพอ’ กับ ‘คนที่ขาดคุณสมบัติ’ เรียบร้อยแล้ว โดยที่เราไม่สามารถเข้ามาจัดการก่อนได้เลย

ระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย

ในปี 2018 ผู้อยู่อาศัยในตึก Atlantic Plaza Tower ในนครนิวยอร์กต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  นั่นคือการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยและสอดแนมแบบใหม่ที่ประตูทางเข้า จากเดิมที่ผู้เช่าแต่ละคนจะต้องใช้กุญแจรีโมทหรือ ‘key fob’ แตะที่ประตู เปลี่ยนมาเป็นเดินผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและกล้องวงจรปิดที่จับใบหน้าของคนนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินผ่านประตู ระบบสแกนหน้าคนจะทำหน้าที่เปิดประตูให้ผู้เช่าโดยอัติโนมัติ นี่เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เน้นประสบการณ์ที่ลื่นไหล ต่อเนื่อง ไม่มีการติดขัด (frictionless technology)  ในระหว่างการใช้งาน แต่ความสะดวกสบายดังกล่าวกลับไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เช่าดังที่เจ้าของตึกคาดหวัง สิ่งที่เทคโนโลยีสแกนหน้านำเข้ามาสู่ตึก Atlantic Plaza Tower คือความกลัวและความกังวลเรื่องการสอดส่องผู้เช่าที่อาจยกระดับมากขึ้น และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเกี่ยวกับผู้เช่าแต่ละราย

ก่อนที่ระบบสแกนหน้าจะเข้ามา กล้องวงจรปิดที่เห็นได้ทั่ว 360 องศา ถูกติดตั้งอยู่ทั่วตึกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางกล่องจดหมาย ทางเดินในชั้นต่าง ๆ ลิฟต์ ลานจอดรถ หรือพื้นที่กำจัดขยะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม กล้องวงจรปิดจะคอยจับตามอง และบันทึกพฤติกรรมของผู้เช่า ตัวกุญแจรีโมทเองบันทึกข้อมูลเข้า-ออกของผู้เช่าแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ ผู้อยู่อาศัยบางคนจึงรู้สึกเหมือนโดนจับตาอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้น ปราศจากซึ่งความเป็นส่วนตัวและอิสระในการเคลื่อนไหวภายในตึก และเมื่อเทคโนโลยีสแกนหน้าถูกติดตั้ง เส้นแบ่งระหว่างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวยิ่งเลือนรางกว่าเดิม 

มีรายงานว่าผู้เช่าในตึก Atlantic Plaza Tower ถูกบังคับให้ต้องถ่ายรูปลงระบบรักษาความปลอดภัย โดยที่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าการใช้กุญแจรีโมทแบบเดิมไม่เพียงพออย่างไร เจ้าของตึกสามารถทำอะไรกับรูปถ่ายใบหน้าได้บ้าง  มีมาตรการอะไรที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าของตึกเอาภาพถ่ายใบหน้าของผู้เช่าไปขายให้กับบรรดาบริษัทนายหน้าข้อมูล (data broker) หรือหน่วยงานรัฐที่ใช้ระบบสแกนหน้าเช่นกัน อาทิ ตำรวจหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่การจับกุมบุคคลภายในตึกได้

เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและการสอดแนมภายในตึก ผู้เช่าในตึก Atlantic Plaza Tower ได้รวมตัวกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่มากับระบบสแกนหน้า และเรียกร้องให้เจ้าของตึกยุติแผนการใช้ระบบดังกล่าว ถึงแม้ว่าการรณรงค์จะประสบความสำเร็จ แต่ผู้เช่าจำนวนหนึ่งต้องเผชิญกับจดหมายเตือนเรื่อง ‘พฤติกรรมปลุกปั่น’ การขู่ไล่ออกจากที่พัก และการคุกคามทางวาจาโดยเจ้าของตึก เนื่องจากกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งจับภาพการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ส่วนกลางได้ การติดตั้งระบบความรักษาความปลอดภัยไม่ใช่คำตอบสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้เช่าเสมอไป กรณีของผู้อยู่อาศัยในตึก Atlantic Plaza Tower แสดงให้เห็นว่าการใช้อุปกรณ์สอดส่องได้สร้างเสริมอำนาจในการควบคุมผู้เช่าของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มความเสี่ยงของการโดนขับไล่ออกจากที่พักอาศัย การถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยบริษัทข้อมูล หรือกระทั่งการโดนจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

อ้างอิง

Center Files Federal Lawsuit Against National Tenant Screening Company

Exclusive Exposé: The Wild West of Landlord Technology

Uploading Housing Inequality, Digitizing Housing Justice?

Landlord Tech Watch

Disruption at the Doorstep