ที่อยู่อาศัยคือ “สิทธิมนุษยชน” เราจึงต้องมีที่พักสำหรับทุกคน

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มขึ้นอยู่บนพาดหัวข่าวของสื่อสำนักต่าง ๆ คำว่า “New Normal” คืออีกคำหนึ่งที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้าสู่กระแสสำนึกของผู้คน บนพื้นที่ออนไลน์ ผู้คนร่วมแลกเปลี่ยนวิธีปรับตัวกับมาตรการ Work From Home ความอึดอัดที่โดนจำกัดอิสระในการใช้ชีวิตและการเคลื่อนไหว การเฟื่องฟูของธุรกิจเดลิเวอรี่ และการล่มสลายของเศรษฐกิจหลายภาคส่วน ท่ามกลางหัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจเห็นข่าวของผู้คนจำนวนมากที่โดนบีบให้ออกจากงาน และในที่สุด จำเป็นต้องออกจากที่พัก เนื่องจากขาดรายได้สำหรับมาจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่บริการและการสั่งห้ามเดินทางข้ามจังหวัด 

ภาพของคนที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รอรับของบริจาคตามจุดต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็น “เรื่องปรกติ” สอดคล้องกับการคาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งระบุว่าตัวเลขของผู้ประสบภาวะไร้บ้านจะสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 30% สถานการณ์เช่นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าวิกฤติที่อยู่อาศัยหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับประเทศ และหนึ่งในหนทางยุติปัญหานี้คือนโยบายรัฐที่ช่วยทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้  โดยเฉพาะคนที่สถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมต่ำ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “affordable housing”

Affordable housing คือแนวคิดที่ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีที่พำนักอาศัยอย่างมั่นคง

ไม่ว่าจะมีรายได้น้อยขนาดไหน ทุกคนต้องเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ การทวงคืนความเป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัยนั้นมักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับกระแสพัฒนาเมืองที่ส่งผลให้เกิดย่านเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้สูงมากขึ้น เราสามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้จากสัญญาณต่าง ๆ  เช่น 

  • เคยเห็นร้านอาหารแถวบ้านที่เปิดมาเป็นสิบ ๆ ปีปิดตัวลงหรือเปล่า? 
  • เคยเห็นที่ที่คนในชุมชนเคยใช้ทำกิจกรรมกลายเป็นอาคารชุดและพื้นที่สำหรับใช้เชิงพาณิชยกรรมไหม? 
  • ร้านที่เข้ามาใหม่มีราคาที่สูงขึ้น และดึงคนข้างนอกเข้ามาสู่พื้นที่ของชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไหม?
  • คนเก่าแก่ที่เคยอยู่ทยอยออกไปอยู่พื้นที่อื่นหรือไม่? 
  • จู่ ๆ ก็มีคอนโดมีเนียมขึ้นมาเป็นแถบ กลายเป็นโซนที่พักอาศัยแทนที่บ้านคนหรือร้านค้าอื่น ๆ ไหม?  
  • มีบริษัทต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาเปิดออฟฟิศมากขึ้นผิดหูผิดตาไหม?
  • ราคาที่ดิน/ค่าเช่าที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้นไหม?

เมื่อบางพื้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีโครงการก่อสร้างที่ดึงเม็ดเงินเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับชนชั้นกลางระดับสูง หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ mixed-use เป็นเรื่องปรกติที่ที่ดินส่วนนั้นจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาด และถูกขายให้กับคนที่มีกำลังซื้อมากที่สุด แต่ในสมการของการซื้อขายที่ดินในลักษณะนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ ผู้ขาย และผู้ซื้อ เรายังมีผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมอยู่อีกด้วย 

การหลั่งไหลเข้ามาของทุนพัฒนาที่ดินและผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมดีกว่าจึงปะทะกับชุมชนดั้งเดิมผู้มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในบริเวณนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเข้ามาของแพลตฟอร์มเช่าห้องระยะสั้นเช่น Airbnb การเช่าห้องรายวันเช่นนี้ทำกำไรให้กับเจ้าของพื้นที่มากกว่าการเช่าอาศัยระยะยาว การเช่าห้องระยะสั้นจึงมีแนวโน้มเติบโตแซงหน้าการเช่าห้องอยู่ในระยะยาว และสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ขับไล่ผู้เช่าระยะยาวออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เช่าระยะสั้นเข้ามาแทน

เมื่อผู้คนหน้าใหม่ ๆ มาพร้อมกับอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่สูงกว่าคนเก่าแก่ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ค่าครองชีพของชุมชนนั้น ๆ พุ่งสูงขึ้นในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นร้านรวงที่เข้ามาเปิดใหม่เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้ย้ายเข้ามาหน้าใหม่ หรือราคาของที่อยู่อาศัยเอง ทำให้คนในชุมชนดั้งเดิมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องย้ายออกไป เพื่อหนีความทันสมัยวิลิศมาหราราคาแพงซึ่งเข้ามาแทนที่ประวัติศาสตร์ที่เคยมีมา และหากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่กดดันผู้เช่าด้วยการขึ้นค่าเช่าที่ พวกเขาก็มีวิธีที่ “ครีเอทีฟ” ในการไล่คนออกไป เช่น

  • ตั้งใจเอาคนเข้ามาทำงานรื้อถอนหรือก่อสร้างภายในอาคารทั้งวันทั้งคืน จนผู้เช่าไม่สามารถทนมลพิษทางเสียงได้อีกต่อไป
  • ไม่ยอมซ่อมแซมบำรุงอาคาร ปล่อยให้อาคารอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในอาคาร จนกระทั่งผู้เช่าไม่สามารถทนอยู่อาศัยได้อีกต่อไป 
  • อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายขับไล่คนออกจากที่พักด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่นไม่ยอมรับค่าเช่าในรูปแบบของเช็ค ทำให้คนที่ได้รับเช็คช่วยเหลือค่าบ้านจากหน่วยงานรัฐไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านได้ และถูกโดนไล่ออกจากที่พักอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผล “ค้างชำระค่าเช่า”

นอกจากผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว การเข้ามาของโรคระบาดโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจเองทำให้ปัญหาการขับไล่คนออกจากพื้นที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับผู้เช่าอย่างทั่วถึง หรือไม่มีนโยบายที่ประกาศพักชำระค่าเช่าประกาศออกมา ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินและสภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงมากที่สุด คือชุมชนของคนที่มีรายได้น้อย

จริงอยู่ที่นับวันประชากรในเมืองใหญ่และเมืองที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้การจับจองที่อยู่อาศัยกลายเป็นการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่การสร้างที่พักมากขึ้น เพื่อตอบสนองกับขนาดของประชากรที่ขยายตัวกลับไม่สามารถยุติปัญหานี้ได้เลย ณ ปัจจุบัน การแผ่ขยายของโซนที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ ยังคงมีอยู่ บ้านจัดสรรและคอนโดมีเนียมยังคงรอให้คนเข้าไปจับจอง ธุรกิจใหม่ ๆ ยังคงเกิดรอบที่พักที่เพิ่งสร้างหรือเปลี่ยนโฉม 

เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของที่อยู่อาศัยอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าที่อยู่อาศัยชนิดต่าง ๆ นั้นอยู่ในช่วงราคาที่เข้าถึงได้ไหม โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย และมีการคุ้มครองไม่ให้เกิดการขับไล่คนออกจากพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมด้วยหรือเปล่า เพื่อสนับสนุนสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง เราจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรับมือกับวิกฤติขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ผู้คนจากทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้จริง ๆ 

ถึงเวลาผู้เช่า-ผู้ซื้อ-คนในชุมชนรวมตัวกัน! : 

หนึ่งในวิธีคลาสสิคเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง คือการรวมตัวกันประท้วงเพื่อรักษาสิทธิของตน ลองหาคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเดียวกับเรา แล้วสร้างขบวนการขึ้นมาเพื่อหาหนทางในการเจรจาและต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของเรา เช่น การเก็บหลักฐานที่อยู่อาศัยเพื่อร้องเรียน การศึกษาการทำงานของกฎหมายที่กำกับราคาที่อยู่อาศัย  รวมไปถึงกลไกในการร้องเรียนร่วมกับผู้มีประสบการณ์มาก่อนหรือทนายความที่เชี่ยวชาญด้านนี้

มีนโยบายควบคุมค่าเช่าที่: 

เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นค่าเช่าจนสูงเกินไป ภาครัฐต้องมีกฎหมายที่กำหนดเพดานค่าเช่า และกำกับอัตราการขึ้นของค่าเช่าในแต่ละปี พร้อมกับกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มค่าใช้จ่ายกับผู้เช่าโดยไม่จำเป็น เช่น การบีบบังคับให้ผู้เช่าแบกรับภาระค่าบำรุงที่พักอาศัย

มีนโยบายป้องกันไม่ให้เกิดการโยกย้ายไม่เป็นธรรม

ในพื้นที่ที่มีมูลค่าที่ดินสูง มีแนวโน้มว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะขับไล่ผู้เช่าออกเพื่อเปิดโอกาสให้เม็ดเงินจากที่อื่นเข้ามา โดยเพิกถอนหรือไม่ต่อสัญญาเช่า หรือเมื่อเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้เช่าอาจไม่สามารถชำระค่าเช่าที่พักได้ จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองกับผู้เช่า โดยการันตีสิทธิที่จะต่อสัญญาเช่าโดยไม่ต้องเผชิญกับค่าเช่าที่สูงขึ้นจนเกินไป หรือไม่เจอกับการเพิกถอนสัญญาโดยไม่เป็นธรรม  รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติโรคระบาดผ่านเงินช่วยเหลือต่างๆ

เพิ่มเคหะชุมชน (social housing): 

เคหะชุมชนคือที่อยู่อาศัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐและ/หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งมีบทบาทในการกำกับควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินกว่าศักยภาพการซื้อ-เช่าของคนรายได้น้อย  ทำให้เคหะชุมชนไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่เอาไปเก็งกำไรหรือหาผลประโยชน์ได้  หากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเต็มที่ เคหะชุมชนจะสามารถบรรเทาทั้งวิกฤติภาวะไร้บ้าน ทั้งสภาวะที่เสี่ยงผลักให้คนเป็นคนไร้บ้าน