บนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าชีวิตใครก็ต้องได้รับการดูแล: ว่าด้วยความเป็นมาของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนไทยไร้สิทธิ

ผศ. ภญ. ดร.ยุพดี ศิริสินสุข

ผู้เรียบเรียง: บุณิกา จูจันทร์

คนไทยทุกคนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลตามประกันสังคม หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท (หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “บัตรทอง”) แต่ใครสักกี่คนจะรู้ว่าสิทธิบัตรทองคือความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีเป้าหมายว่า “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า” ดังนั้นประชาชนคนไทยจึงควรได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเสมอหน้ากัน

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดายนัก โดยเฉพาะคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน และกำลังรอให้ทางภาครัฐพิสูจน์ความเป็นคนไทย ผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนนี้รู้จักกันสั้น ๆ ในอีกนามว่า “คนไทยไร้สิทธิ” คือผู้ที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และไม่มีหลักฐานอะไรมาช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ชีวิตของตนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง 

การตกหล่นไปจากหลักประกันสุขภาพคือบาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนหายขาด แม้แต่มาตรการช่วยเหลือผู้คนท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังต้องใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งทำให้คนที่มีปัญหาสถานะหมดสิทธิโดยปริยาย

แม้ว่าอุปสรรคในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพและระบบทะเบียนราษฎรจะยังคงดำรงอยู่ แต่ใช่ว่าความพยายามจัดการปัญหาเหล่านี้จะไม่มีเสียเลย บทความนี้กำลังจะพาคุณไปรู้จักการทำงานผลักดันการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน ผ่าน ผศ. ภญ. ดร.ยุพดี ศิริสินสุข หรืออาจารย์ยุพดี หนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ ผู้คอยผลักดันการแก้ไขปัญหาสารบบทะเบียนราษฎรและหลักประกันสุขภาพที่ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกชีวิต

ก้าวแรกบนหนทางสู่สถานะการเป็นคนไทย และความเท่าเทียมทางการรักษาพยาบาล 

หลังจากมีการค้นพบว่าคนไทยจำนวนหนึ่งไม่มีชื่ออยู่ในสารบบทะเบียนราษฎรของรัฐ ในปี พ.ศ. 2561 “คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ” จึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยคณะทำงานที่ก่อตั้งขึ้นมานั้นเกิดมาจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมและฝั่งวิชาการ  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกดังนี้:

  1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
  2. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
  3. องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
  4. สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  5. เครือข่ายผู้บริโภค
  6. หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50 (5) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของอาสาสมัคร และภาคประชาชน  [ต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า หน่วย 50 (5) – ผู้เขียน]
  7. ทีมสร้างองค์ความรู้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย และอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส.

เมื่อเวลาผ่านไป เป็นที่ประจักษ์แน่ชัดว่า คนไทยที่มีปัญหาด้านทะเบียนมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือทีละกรณีได้ ทางคณะทำงานจึงหันไปสนใจต้นตอจริง ๆ ของปัญหา หรือระบบทะเบียนราษฎรและหลักประกันสุขภาพที่ยังมีช่องโหว่ ปล่อยคนหลุดร่วงออกไปจากระบบรักษาพยาบาล ยุทธศาสตร์การทำงานใหม่นี้เองได้นำไปสู่การสำรวจเก็บข้อมูลผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยได้กลุ่มอาสาสมัครและหน่วย 50 (5)  ประจำในแต่ละพื้นที่ และคอยพาหน่วยงานภาคประชาชนกลุ่มอื่นเข้ามาช่วยเหลืองาน 

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะริเริ่มระบบลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิภายในโรงพยาบาล ระบบลงทะเบียนนี้จะช่วยบันทึกข้อมูลผู้มารักษาที่ไม่มีตัวตนอยู่ในสารบบทะเบียนราษฎร ผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสำหรับผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน

การพาคนเข้าสู่ระบบลงทะเบียนนี้จะเป็นความรับผิดชอบของนักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลต่าง ๆ และการลงทะเบียนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล เพราะจะสามารถเบิกค่ารักษาของคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียจากกองทุนได้

ในวาระแรกเริ่มของการทำงานนั้น หน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบทะเบียนราษฎรไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ เมื่อการพิสูจน์สถานะการเป็นคนไทยเข้าสู่กระบวนการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และมีเพียงไม่กี่ที่ที่กระทรวงมหาดไทยให้การรับรองผล สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงให้ความช่วยเหลือและร่วมมือเป็นอย่างดี โดยส่งทีมตรวจดีเอ็นเอมาช่วยพิสูจน์สถานะความเป็นคนไทย

อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่ามีหลายกรณีที่ถูกบีบให้ตรวจดีเอ็นเอโดยไม่เหมาะสม เช่น กรณีเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีเครือญาติหลงเหลืออยู่ ทำให้ไม่มีคนที่สามารถให้ดีเอ็นเอมาเทียบเคียงกันได้ หรือกรณีไม่มีเงินเป็นค่าเดินทางไปตรวจดีเอ็นเอ กระบวนการพิสูจน์สถานะจึงมักเจอกับทางตันในที่สุด  

นอกจากนี้เอง คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการฯ ก็ได้ลงสำรวจศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้พบคนที่ไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตนอีกจำนวนมาก ท่ามกลางคนเหล่านี้ หลายคนเป็นผู้มีปัญหาด้านจิตเวชที่ไม่สามารถจำเรื่องราวชีวิตของตนได้ ครอบครัวและคนใกล้ชิดทอดทิ้ง จึงไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันสถานะความเป็นคนไทย แม้ว่าคนเหล่านี้จะพูดภาษาไทย เกิด และเติบโตในผืนแผ่นดินไทย

เพื่อส่งเสริมการทำงานของคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการฯ หน่วยงานรัฐจึงถูกเชิญมาเป็นส่วนหนึ่งของ “คณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ซึ่งประกอบด้วย

  1. กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
  2. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 
  3. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
  4. สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
  5. กรุงเทพมหานาคร 
  6. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
  7. กระทรวงสาธารณสุข 

จนในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคประชาสังคม และนักวิชาการได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสถานะทางทะเบียนเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ดูแลด้านสาธารณสุข ด้านทะเบียนราษฎร กฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมือง และการพิสูจน์ตัวตน

ภาคส่วนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันบูรณาการการทำงานอย่างจริงจัง อาจารย์ยุพดี ได้เสริมว่า หลังจากที่บันทึกความร่วมมือถือกำเนิดขึ้น เสียงสะท้อนจากคนทำงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดเป็นไปในทางบวก เพราะเวลาประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีปัญหาทางทะเบียนสามารถอ้างอิงบันทึกความร่วมมือ ทำให้การทำงานลุล่วงโดยสวัสดิภาพมากขึ้นและเจ้าหน้าที่รัฐเองก็เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ

อีกหนึ่งภารกิจที่กำลังเดินหน้าคือการก่อตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับไทยไร้สิทธิ เนื่องจากโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครต้องแบกรับค่าใช้จ่ายให้กับคนไทยไร้สิทธิ หากมีกองทุนที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลของคนไทยไร้สิทธิ ก็จะลดภาระที่เคยตกอยู่กับหน่วยงานบริการ เพราะเงินกองทุนจะถูกใช้ชำระค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลแทน 

ก้าวต่อไปของหลักประกันสุขภาพ จะไปในทิศทางไหน?

“ที่พี่ทำงานมาตลอด เพราะว่ามีความเชื่อส่วนตัว ว่าการทำงานของภาครัฐจะสำเร็จได้ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคผู้มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ”

ข้างต้นคือคำกล่าวของอาจารย์ยุพดี เมื่อรำลึกถึงยามช่วยประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน อาจารย์ยุพดีกล่าวว่า การขับเคลื่อนเพื่อสิทธิสุขภาพนั้นมีอยู่สามขั้นตอน ในช่วงแรกเริ่มนั้น ผู้ได้รับการบริการทางการแพทย์จะได้รับการสนับสนุนให้รู้สิทธิ ใช้สิทธิ และพิทักษ์สิทธิของตนเอง เพื่อที่จะเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล และได้รับสิทธิได้อย่างถูกต้อง แต่ระบบการรักษาเองจะพัฒนาได้ต่อเมื่อผู้รับบริการมีส่วนในการเข้ามาบริหาร อาจารย์ยุพดีเสริมว่า ที่ผ่านมาตนได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับประชาชนคนอื่น หลังจากที่ผู้รับบริการมีพื้นที่ในการบริหารระบบแล้ว สิ่งต่อไปคือการขยับจาก ‘ผู้ร่วมบริหาร’ มาเป็น ‘ผู้ร่วมให้บริการ’   

อาจารย์ได้ยกตัวอย่าง “เครือข่ายผู้พิการ” ซึ่งได้รับอนุมติให้เป็นหนึ่งในส่วนของหน่วยร่วมให้บริการ เครือข่ายผู้พิการพยายามผลักดันการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ (independent living) ในกลุ่มคนพิการด้วยกันเอง เนื่องจากว่ามีผู้พิการหลายคนที่ต้องการทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เครือข่ายผู้พิการจึงต้องการจะจัดการกับปัญหา “ทำอย่างไรให้ดำรงชีวิตอิสระได้?” โดยส่งผู้พิการที่อบรมแล้วไปสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้พิการคนอื่น อาทิ เรื่องการดูแลสุขภาพ สุขภาวะการขับถ่าย การเดินทางในเมืองด้วยรถสาธารณะ  อาจารย์ยุพดียืนยันว่า “คนที่ไม่พิการสอนคนพิการไม่ได้ คนพิการเป็นผู้สอนที่ดีที่สุดในการดำรงชีวิตอิสระ” 

นอกจากนี้ อาจารย์ยุพดียังกล่าวถึง ศูนย์องค์รวม (ศอร.) ภายใต้การดำเนินการของเครือข่ายผู้ติดเชื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดยอาสาสมัครที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ภารภิจดั้งเดิมของศูนย์ฯ คือการช่วยดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้กินยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการดื้อยา แต่ปัจจุบันเครือข่ายผู้ติดเชื้อได้เข้าไปทำงานเรื่องความเป็นอยู่ดีของผู้ติดเชื้อ และคอยประสานงานกับเจ้าหน้าที่หากผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสูตรยาที่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพของตน อีกทั้งยังไปช่วยพูดคุย ให้กำลังใจให้ผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดี ในสังคมที่ยังตีตราและมีอคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี 

หลังจากศูนย์องค์รวมพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งที่ตรวจพบเชื้อ HIV หลังจากที่ตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ซึ่งสะท้อนว่าแม้แต่คนที่มีประสบการณ์มีบุตร ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีพอ ศูนย์จึงก้าวออกจากโรงพยาบาลสู่พื้นที่ชุมชนและคลินิกฝากครรภ์ เพื่อรณรงค์เรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชน  และสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนสิ่งที่ศูนย์องค์รวมทำคือ เชิญผู้นำชุมชนมามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา จัดตั้งทีมให้ความรู้ส่งเสริมการป้องกันการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการลดปัญหาตีตราผู้ป่วยโดยผู้คนรอบข้าง 

ความโปร่งใสและประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพเริ่มต้นเมื่อผู้รับบริการรู้สิทธิ เข้าใจสิทธิ กลายมาเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบริหารระบบหลักประกัน และร่วมให้บริการ อาจารย์ยุพดีกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาและสร้างระบบที่มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมชีวิตทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย