“บ้าน” ด่านหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ที่อยู่อาศัยคือแนวหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19” ผู้เชี่ยวชาญ UN กล่าว

กรุงเจนีวา (18 มีนาคม 2020) – ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังพึ่งพาการให้คนอยู่กับบ้านเพื่อป้องการระบาดของไวรัสโคโรน่าเกิดใหม่ รัฐบาลก็ต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ตามตกอยู่ในสภาวะไร้บ้าน และรับรองว่าผู้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยจะสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอได้ ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติกล่าว

“ที่อยู่อาศัยได้กลายมาเป็นแนวหน้าในการป้องกันไวรัสโคโรน่า บ้านแทบไม่เคยเป็นเส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตายมากขนาดนี้มาก่อน” ไลลานี ฟาร์ฮา  เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอกล่าว

“ฉันเป็นกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะต่อประชากรสองกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่อยู่อาศัยในที่พักพิงฉุกเฉิน คนไร้บ้าน คนที่อยู่ในชุมชนแออัด และคนที่ต้องตกงานและเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะนี่อาจส่งผลให้พวกเขามีเงินผ่อนและหนี้ค้างชำระ และถูกไล่ที่”

จากที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าว มีคนประมาณ 1.8 พันล้านคนทั่วโลกอยู่ในสภาวะไร้บ้านและอยู่ในที่พักอาศัยที่ไม่เพียงพออย่างมาก พวกเขามักอาศัยอยู่ในสภาพแออัด เข้าไม่ถึงน้ำและสุขอนามัย นี่ทำให้พวกเขาเปราะบางเป็นพิเศษต่อการติดไวรัส และพวกเขาก็มีปัญหาสุขภาพหลากหลายด้านอยู่แล้วด้วย

“ฉันขอเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ดำเนินการมาตรการพิเศษเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในที่อยู่อาศัยของคนทุกคนเพื่อป้องกันโรคระบาด ตอนนี้มีแนวปฏิบัติที่ดีปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายรัฐ ซึ่งรวมไปถึงการเลื่อนการไล่ที่ออกไปหากมีหนี้เงินผ่อนหรือค่าเช่าค้างชำระอยู่ การเลื่อนชำระเงินผ่อนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส การเลื่อนบังคับไล่ที่ช่วงฤดูหนาวในชุมชนแออัด และเพิ่มการเข้าถึงสุขอนามัยและพื้นที่ศูนย์พักพิงฉุกเฉินสำหรับคนไร้บ้าน” ฟาร์ฮากล่าว

สิ่งเหล่านี้ส่งผลที่สำคัญ แต่ก็ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมมาลดความเสี่ยงให้กลุ่มคนเปราะบางและจัดการปัญหาการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติกล่าว

อย่างน้อยๆ ก็เพื่อรับรองการป้องกันดูแลผู้ที่อยู่ในสภาวะไร้บ้านหรืออยู่ในที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพออย่างมาก รัฐจะต้องยุติการไล่ที่ทั้งหมด ให้ที่พักฉุกเฉินและบริการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสและต้องแยกตัวเองออกมาจากผู้อื่น รัฐจะต้องรับรองว่าการบังคับใช้มาตรการจำกัดควบคุม (เช่น เคอร์ฟิว) จะไม่นำไปสู่การลงโทษใครก็ตามเพราะสถานะทางที่อยู่อาศัยของพวกเขา รัฐต้องทำให้คนเข้าถึงการตรวจและการบริการทางสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ต้องจัดหาที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และนี่อาจหมายความว่ารัฐต้องใช้มาตรการพิเศษตามที่เหมาะสมในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมไปถึงการใช้อาคารที่ว่างเปล่าและถูกทิ้งร้างและสถานที่ให้เช่าระยะสั้น

เมื่อคำนึงถึงผู้คนที่ตกงานและเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจ รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรง หรือต้องเลื่อนการจ่ายค่าเช่าหรือเงินผ่อน ต้องออกกฎหมายให้เลื่อนการไล่ที่เพราะค้างชำระ นำมาตรการเสถียรภาพในการเช่า (rental stabilization) หรือการลดค่าเช่ามาให้ และอย่างน้อยๆในช่วงโรคระบาด รัฐจะต้องระงับค่าน้ำค่าไฟและระงับการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติม

“ตอนนี้มีการนำมาตรการต่างๆมาใช้ และมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อไปบรรเทาภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 อย่างเช่นการลดอัตราดอกเบี้ย มีความเสี่ยงอยู่ที่มาตรการเหล่านี้จะทำให้ผู้มีอิทธิพลทางการเงินระดับโลกใช้โรคระบาดและโชคร้ายของผู้อื่นมาครอบงำตลาดที่อยู่อาศัยโดยไม่สนใจมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ดังที่พวกเขาทำหลังจากวิกฤติการเงินของโลกในปี 2008” เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติกล่าว “รัฐจะต้องป้องกันการปล้นทรัพย์เช่นนั้นที่กระทำโดยสถาบันลงทุนในพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย”

“เพื่อรับรองการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัยและมีสุขอนามัยเพียงพอ รัฐจะต้องทั้งปกป้องคุ้มครองชีวิตของคนไร้บ้านและผู้คนที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด และจะต้องช่วยป้องกันประชากรทั้งโลกโดยลดอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19” ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติกล่าวสรุป

.

ที่มา: https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25727&LangID=E

แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.