ผู้เขียน: อลิษา ลิ้มไพบูลย์
ในฐานะผู้อาศัยอยู่ในเมือง พวกเราทุกคนมีสิทธิ
สิทธินี้เรียกว่า สิทธิการอยู่ในเมือง หรือ Right to the City เสนอโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Henri Lefebvre ตั้งแต่ปี 1968 และได้รับการตีความและต่อยอดโดยองค์กรมากมายทั่วโลก แม้ในรายละเอียดจะแตกต่าง แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ สิทธินี้เกิดมาจากการใช้งานเมืองจริงๆ มากกว่าการเป็นประชาชนอย่างเป็นทางการของเมืองนั้น หรือเป็นเจ้าของพื้นที่ในเมืองนั้นด้วยซ้ำ
ว่าง่ายๆ คือ ต่อให้ไม่ได้มีอสังหาริมทรัพย์ในเมือง หรือไม่ได้เป็นพลเมืองของชาตินั้นๆ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ยังจะมีสิทธินี้
หากสงสัยว่าในเชิงปฏิบัติแล้ว สิทธินี้มีความสำคัญอย่างไร เราขอหยิบยกส่วนหนึ่งของสิทธิการอยู่ในเมืองขึ้นมาพูดคุย นั่นคือพื้นที่สาธารณะ นิยามโดยทั่วไปของพื้นที่สาธารณะคือ พื้นที่ที่เข้าถึงได้โดยทุกคนในชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน ในนิยามนี้มีความจริงซ่อนอยู่ว่า ชาวเมืองทุกคนควรมีโอกาสใช้งานพื้นที่เหล่านี้ได้โดยไม่ถูกกีดกันด้วยสถานะทางการเงิน เพศ เชื้อชาติ ข้อจำกัดทางกายภาพ หรือลักษณะประจำตัวอื่นใด
เมื่อมองไปทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าพื้นที่สาธารณะถูกคุกคามด้วยพื้นที่ส่วนตัว ของกลางที่เป็นของทุกคน กลับถูกยึดครองโดยคนบางกลุ่ม และทำให้การเข้าถึงได้ต้องใช้เงิน พอเป็นแบบนี้ สิทธิการอยู่ในเมืองจึงโดนจำกัดด้วยทรัพย์สิน ใครมีทรัพย์สินมากกว่าก็ดูจะมีข้อต่อรองในฐานะประชาชนของเมืองมากกว่า ทำให้การเป็นคนเมืองที่ไม่มีทรัพย์สินนั้นลำบากกว่าเยอะ ตามตรรกะนี้ คนที่รับผลกระทบหนักที่สุดกลุ่มหนึ่ง จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนไร้บ้าน ที่ดูราวกับว่าไม่มีสิทธิ์ต่อรองใดๆ ทั้งนั้น แม้ว่าพวกเขาจะมีสิทธิการอยู่ในเมืองไม่ต่างจากเราก็ตาม
เราขอเวลาสั้นๆ ของคุณ มาลองอ่านว่าตัวอย่างพื้นที่สาธารณะมีอะไรบ้าง และเราจะพัฒนาที่ต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตเมืองที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงกันได้อย่างไรบ้าง
สวน
การสำรวจในปี 2019 พบว่าในกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะทั้งหมด 8,000 กว่าแห่ง รวมตั้งแต่เกาะกลางถนน ไปจนถึงสวนระดับเมือง คิดอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรกรุงเทพฯ แล้ว ออกมาเป็นประมาณ 6.9 ตารางเมตรต่อคน เมื่อเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอไว้ 9 ตารางเมตรต่อคน ก็ชัดเจนเลยว่าไม่ปริมาณสวนไม่เพียงพอ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตีรัศมีรอบสวนใหญ่ๆ ที่คนเข้าไปใช้งานได้ จะพบว่ามีชาวบ้านหลายส่วนในเมืองที่ต้องเดินทางไกลถึง 5 กิโลเมตรเพื่อไปสวน! เมื่อสวนไม่อยู่ในระยะที่เดินถึงได้ โอกาสในการใช้งานก็ลดลงไปอีก
เมื่อนับรวมพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสวนสาธารณะ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรสูงขึ้นเป็น 34.33 ตารางเมตรต่อคน ข้อดีของการมีพื้นที่สีเขียวเยอะๆ คือการเพิ่มปริมาณเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติให้แก่เมืองก็จริง แต่หากลองตั้งคำถามว่าทำไมตัวเลขถึงแตกต่างกันมากขนาดนั้น ก็จะได้คำตอบว่า มีพื้นที่สีเขียวอีกมากมายที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น สนามกอล์ฟ หรือสวนประจำที่อยู่อาศัย แปลว่าไม่ใช่ใครก็จะเดินดุ่มๆ เข้าไปใช้ได้นั่นเอง
นอกจากสวนควรจะเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ก็ควรมีองค์ประกอบการใช้งานที่ครบวงจร ง่ายและสำคัญที่สุดคือ สวนควรได้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หลบหนีจากวันเครียดๆ ในเมือง หรือพักรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง แทนที่จะเข้าห้างสรรพสินค้าอยู่ตลอด เราควรมีสวนเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องใช้เงินด้วย
อีกหน้าที่ของสวนคือควรเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม เช่น การสร้างสรรค์หรือจัดแสดงงานศิลปะ หรือการพบปะนัดเจอและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมือง
และที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ สวนควรเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ออกกำลังกายในสวนให้มากพอ ไม่ว่าจะเป็นทางวิ่ง ทางปั่นจักรยาน หรือแม้แต่ลานกีฬาและสระว่ายน้ำ เป็นวิธีรักษาสุขภาพคนเมืองที่ง่ายที่สุดแล้ว หากมีสวนดีๆ ก็ไม่ต้องคอยห่วงเรื่องค่าสมาชิกฟิตเนสอีกต่อไป
เมื่อมองจากมุมของคนไร้บ้าน ที่แม้ไม่มีบ้านแต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือความต้องการพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สวนที่มีทั้ง 3 รูปแบบการใช้งานนี้จะเปิดโอกาสให้เขาได้ออกกำลังกาย และเติมเต็มด้านจิตวิญญาณผ่านงานศิลปะ ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นได้หลายด้านในที่เดียว
ทางเท้า
ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะออกแบบมาด้วยแนวคิดที่เอื้อให้คนขับรถมากกว่าคนเดินเท้า ทั้งๆ ที่จากการสำรวจพบว่า ชาวกรุงที่มีและไม่มีพาหนะส่วนตัว มีจำนวนเท่าๆ กันเลย
ไม่ใช่คนทุกคนที่มีรถเป็นของตัวเอง และต่อให้มีรถ การเดินเท้าก็เป็นวิธีการสัญจรที่สะดวก ง่าย ประหยัดพลังงาน และใช้ต้นทุนต่ำที่สุดแล้ว เมื่อคิดเช่นนี้ ทางเท้าที่สะดวก ใช้งานง่าย และเข้าถึงได้ทุกคน จึงเป็นอีกพื้นที่สาธารณะที่เราควรได้รับตามสิทธิในฐานะคนเมือง
ปัญหาคนโดนรถจักรยานยนต์ชนบนทางเท้าเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังของเมืองกรุงเทพฯ ในปี 2562 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงว่ามีการจับกุมผู้ขับขี่บนทางเท้าเฉลี่ยมากถึงเกือบ 1,000 รายต่อเดือน หากเราเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการทำเครื่องกีดขวางเพื่อให้จักรยานยนต์ขับบนทางเท้าไม่ได้ ก็ต้องเป็นการออกแบบเครื่องกีดขวางโดยคำนึงด้วยว่าแล้วกลุ่มคนที่เปราะบาง เช่นผู้พิการทางสาย และผู้นั่งรถเข็น จะยังใช้ทางเท้าได้หรือไม่
อีกปัญหาที่ทุกคนคงเคยประสบกันมา นั่นคือการเดินเท้าที่ถูกกีดกันด้วยเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หรือการชำรุดเสียหายของฝาท่อและอิฐปูทาง ทำให้แม้แต่คนที่ใช้งานขาได้เต็มประสิทธิภาพยังเดินไม่สะดวก แปลว่ายิ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเข้าไปใหญ่เมื่อนึกถึงผู้สูงอายุ หรือผู้ที่นั่งบนรถเข็น เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ทางเท้าไม่ได้มีไว้สำหรับคนเดินเท้าอย่างเดียว แต่ยังมีโจทย์การใช้งานอื่นๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาของรัฐได้ชั่วคราว โดยเฉพาะปัญหาที่อาจต้องใช้ทั้งระยะเวลาและทรัพยากรในการทำให้เกิดขึ้น ระหว่างนั้น ก็ลงทุนทำทางเท้าให้เหมาะสมไปก่อนได้ ทางเท้าที่ดีอาจเป็นสนามเด็กเล่นในกรณีที่ยังมีสนามเด็กเล่นไม่เพียงพอ เป็นพื้นที่พบปะพูดคุยของคนบนท้องถนนในย่านที่พื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะมีจำกัด รวมถึงเป็นที่หยุดพักผ่อนระหว่างการร่อนเร่ของคนไร้บ้านก็ได้ หากรัฐยังไม่อาจจัดสรรที่อยู่อาศัยที่เพียงพอให้ทันท่วงที
ทางเท้าในฝันจึงไม่ได้เกิดจากการเลือกว่าคนกลุ่มไหนควรได้ใช้งาน แต่ต้องเหมาะสมกับการใช้งานทุกรูปแบบโดยไม่เบียดเบียนกัน
ที่นั่ง
ดูเผินๆ แล้วที่นั่งอาจไม่ได้สำคัญอะไร แต่ชีวิตในกรุงนั้นช่างเมื่อยและเหนื่อยล้า ไม่ว่าใครก็ต้องขอโอกาสนั่งพัก ลองคิดทบทวนกลับไป คุณเคยโมโหไหมเวลาที่ทำอะไรหนักๆ มาทั้งวันแล้วแค่อยากพักสักนิด แต่กลับไม่มีเก้าอี้สาธารณะว่างอยู่เลย หรือบางทีแม้ยอมนั่งลงบนพื้น ก็โดนพนักงานมาห้ามอีก
เมืองหลายเมืองทั่วโลกมีวิธีคิดว่า เมืองต้องหน้าตาสะอาดเรียบร้อย ทำให้แม้จะมีที่นั่ง ก็เป็นที่นั่งแบบไม่เป็นมิตร (hostile furniture) นั่นคือการออกแบบที่นั่งให้นอนไม่ได้ เช่น มีพนักวางแขนกั้นตรงกลางระหว่างเก้าอี้ แทนที่จะเป็นม้านั่งยาวให้ทอดตัวลงได้ หรือเก้าอี้ที่เป็นเหล็กลื่นๆ ให้เอาตัวไปแปะพิงเฉยๆ แทนที่จะนั่งได้แบบเต็มตัว หรืออย่างที่เห็นในไทยก็เช่นการแปะป้ายโต้งๆ เลยว่า บริเวณนี้ห้ามนอน ชวนให้เราสงสัยว่า ถ้าเหนื่อยแล้วจะขอเอนตัวสักหน่อยไม่ได้เลยหรือ
ข้อดีของการทำเช่นนี้คือ คนไม่สามารถจับจองที่นั่งได้นานๆ และทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย แต่เป็นการแลกมาด้วยการทำร้ายคนอีกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนไร้บ้านที่ไม่มีที่พักจัดแจงเป็นที่ทาง ผู้ควรได้ใช้ประโยชน์จากเก้าอี้สาธารณะมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ กลับโดนตัดทางเลือกนั้นออก หรือต่อให้ไม่ได้ไร้บ้าน แต่คนที่ทำงานมาเหนื่อยๆ อยากพักผ่อนซักงีบก่อนการเดินทางกลับบ้านอันยาวนาน ก็ต้องอดใช้ม้านั่งเหล่านี้เป็นที่เอนหลังลง
ที่นั่งที่เพียงพอและใช้ได้หลากหลายสื่อถึงเมืองที่เป็นมิตรกับพลเมือง เพราะสิทธิในการพักผ่อนควรจะเป็นของเราทุกคน
ห้องน้ำ
ปฏิเสธได้ที่ไหนว่าคนเราทุกคนต้องเข้าห้องน้ำ
ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเวลาอยู่นอกบ้าน ห้องน้ำสาธารณะดีๆ นั้นช่างเป็นของหายาก ผลการสำรวจของกรมอนามัย จากปี 2558 พบว่า คนทั่วไปเลือกเข้าห้องน้ำมากที่สุด 3 ที่คือ ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน และแหล่งท่องเที่ยว ว่าง่ายๆ คือห้องน้ำที่ใช้ได้แทบทั้งหมดเป็นของเอกชน และเอกชนหลายแห่งก็จำกัดไว้ว่า หากไม่ได้เป็นผู้ใช้บริการ ก็ไม่ควรจะได้รับสิทธิในการใช้ห้องน้ำที่ทำไว้เพื่อให้ผู้ใช้บริการเท่านั้น
แล้วตัวเลือกอื่นๆ สำหรับเข้าไปทำธุระส่วนตัว และทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะการล้างมือในช่วงเชื้อ COVID-19 แพร่ระบาดนี้ล่ะ ถ้าโชคดีหน่อยอยู่ใกล้ศาสนสถานที่ทำห้องน้ำดีๆ ก็แวะไปเข้าได้ แต่ถ้าไม่อย่างนั้น ห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เงินจ่ายเพื่อเข้าถึง เช่น ห้องน้ำที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าเข้าคนละ 5 บาท สำหรับคนหลายคน เงินจำนวน 5 บาทแสนมีค่า คงยอมเสี่ยงไม่ล้างมือดีกว่า เพราะจะได้เก็บหอมรอมริบไปซื้ออย่างอื่นที่จำเป็น
อีกตัวเลือกหนึ่งที่หากทำให้เข้าถึงได้โดยคนทุกประเภท จะช่วยแก้ปัญหาห้องน้ำสาธารณะไปได้มาก คือห้องน้ำในสถานที่ราชการ เช่น ห้องน้ำในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ปรับปรุงให้สะอาดน่าใช้ และเปิดให้บริการทุกคน
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำสาธารณะคือ ความสะอาด และความปลอดภัย โดยเฉพาะเวลาเรานึกว่า ผู้ใช้บริการห้องน้ำสาธารณะนั้นมีหลากหลาย คนบางคนอาจแวะเข้าห้องน้ำระหว่างทางอยู่นอกบ้าน ในขณะที่คนบางคนใช้ห้องน้ำนี้เป็นห้องน้ำประจำเพราะไม่มีบ้านให้กลับ ลองคิดดูว่าหากเป็นคนไร้บ้าน ห้องน้ำสาธารณะจะเป็นที่เดียวที่ให้โอกาสเขาได้ทำความสะอาดร่างกาย และเมื่อร่างกายสะอาด เขาก็จะได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างภาคภูมิใจ
ห้องสมุด
ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือหาความรู้ด้วยรูปแบบอื่น ดูเหมือนเราจะต้องใช้เงินซื้อความรู้ตลอด ถ้าหากมีแหล่งรวบรวมข้อมูลและหนังสือให้เข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียเงินก็คงดี พอคิดดีๆ จะพบว่า สิ่งนั้นมีอยู่แล้วภายใต้ชื่อเรียก ห้องสมุดสาธารณะ หรือในไทยอาจคุ้นเคยกับชื่อ ห้องสมุดประชาชน
กรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะที่ทำหน้าที่นี้ประมาณ 50 แห่ง ประกอบด้วยหอสมุดภายใต้หอสมุดแห่งชาติ 11 แห่ง และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้อีกจำนวน 37 แห่ง ในขณะที่ทั้งประเทศไทยมีหอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค 11 แห่ง บวกกับห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดและอำเภออีก 900 กว่าแห่ง ถ้าเทียบกับสหราชอาณาจักร ประเทศแห่งการอ่านและการจดบันทึกที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรใกล้ๆ กันกับเรา เพียงแค่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของเขาก็มีห้องสมุดรวมกันกว่า 350 แห่งแล้ว และทั้งประเทศรวมกันประมาณ 4,000 กว่าแห่งเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ห้องสมุดในกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาคล้ายพื้นที่สีเขียว นั่นคือหากนับรวมห้องสมุดทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ ตัวเลขจะขึ้นไปถึงเกือบ 170 แห่ง แต่ห้องสมุดส่วนใหญ่เป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ห้องสมุดที่ต้องสมัครสมาชิก แปลว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงนั่นเอง
ถึงจะมีไม่มาก แต่ห้องสมุดในไทยก็ไม่น้อย คำถามที่น่าคิดมากกว่าคือ แล้วทำไมเราถึงไม่ชินกับการไปห้องสมุด ทั้งๆ ที่ห้องสมุดควรจะทำหน้าที่แทนร้านกาแฟหรือพื้นที่ทำงานอื่นๆ ได้ นั่นคือเป็นพื้นที่นั่งค้นคว้าข้อมูล ทั้งในด้านดั้งเดิมแบบการหยิบยืมหนังสือ และด้านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การมีปลั๊กเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ หรือมีคอมพิวเตอร์ให้บริการ โดยเฉพาะสำหรับคนไร้บ้าน นี่คือโอกาสเข้าถึงความรู้ เข้าถึงการศึกษา ที่เขาอาจไม่เคยมีโอกาสได้รับจากที่อื่นใดเลยตลอดชีวิต
นอกจากนั้น หอสมุดบางแห่งอาจเข้าใช้ได้ฟรีก็จริง แต่ต้องใช้บัตรประชาชนในการผ่านประตู หมายความว่าคนไร้บ้านหรือคนที่ไม่มีตัวตนอยู่ในระบบก็จะเข้าถึงบริการเหล่านี้ไม่ได้ หนำซ้ำระเบียบการใช้ห้องสมุดโดยทั่วไปมักถือการแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเป็นข้อสำคัญ ทำให้คนบางกลุ่มที่ไม่อาจแต่งตัวสะอาดสวยได้ทุกวันถูกกีดกันออกไป
——
นอกเหนือจากตัวอย่างที่กล่าวมาเบื้องต้น ยังมีพื้นที่สาธารณะที่เป็นสิทธิของพวกเราชาวเมืองอีกมากมาย เช่น จัตุรัสกลางเมือง สถานีรถสาธารณะ รวมถึงสาธารณูปโภคที่ติดตั้งอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ เช่น จุดดื่มน้ำหรือเติมน้ำสะอาด เป็นต้น
พื้นที่แต่ละประเภทมีจุดประสงค์การใช้งานและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว พวกเราประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ใช้อย่างเท่าเทียมกัน
นอกเหนือไปจากนี้ ก็อยากชวนคุณคิดเพิ่มเติมด้วยว่า หลายคนอาจมีโอกาสได้เบือนหน้าหนีจากปัญหาเหล่านี้ ด้วยการกลับเข้าไปสู่พื้นที่ส่วนตัวของเรา นั่นคือบ้าน ในขณะที่มีคนอีกหลายคนซึ่งไร้บ้าน แปลว่าพวกเขาต้องเผชิญหน้าปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่อาจหลีกหนีได้ เขาจะต้องเหนื่อยแค่ไหนกันนะ
หากมองโดยเผินๆ อาจดูเหมือนว่าวิธีการใช้พื้นที่สาธารณะของคนไร้บ้านเป็นการไม่เคารพกฎในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ทำให้พวกเขาดูทำลายภาพลักษณ์ของเมือง แต่หากมองอีกมุม เราจะพบว่า การพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมจะช่วยเหลือให้ทั้งคนมีบ้านและคนไร้บ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน
เพราะไม่ว่าจะมีจะจน สิทธิการอยู่ในเมืองก็เป็นของเราทุกคน
อ้างอิง
http://faculty.washington.edu/mpurcell/jua_rtc.pdf
https://www.jstor.org/stable/25149779
https://journals.openedition.org/interventionseconomiques/2441?lang=en#tocto1n2
http://203.155.220.118/green-parks-admin//
World Health Organization, 2010. Urban planning, environment and health: from evidence to policy action. In W. R. O. f. Europe (Ed.) (p. 119).
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/827206
https://www.bbc.com/thai/thailand-52044469
https://sites.google.com/site/thaaneiybhxngsmudprachachn/home
http://www.bangkok.go.th/upload/user/00000102/Download/LibraryManual.pdf