ศิลปะยืนยาว… ชีวิตศิลปินไร้บ้านแสนสั้น

(ด้านหน้าและด้านหลังภาพวาดของ ไคล์ฟ ดาลริมเพิล ซื้อโดย เคที คาวาแนก ภาพถ่าย: @KatyCavaz)

ภาพวาดเรือลำเล็กโลดแล่นกลางพายุในมหาสมุทรดูจะสะท้อนชีวิตของไคล์ฟ ดาลริมเพิล จิตรกรคนไร้บ้านผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในวัย 52 ปี ด้านหลังภาพวาดสวยสดงดงามดังกล่าว เขาลงลายมือไว้ว่า “คนไร้บ้านแมนเชสเตอร์ 12/12/2016” 

“ไคลฟ์คือหนึ่งในล้าน เราตั้งหน้าตั้งตาออกไปหาและแจกอาหารให้เขาทุกคืน เขาสุภาพมากและเขาจะไม่ยอมให้ใครมาปฏิบัติตัวไม่ดีกับคุณ” อมีรา แรมแซน ผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือคนไร้บ้านที่ถูกลืมกล่าว เธอดูแลไคล์ฟเป็นเวลากว่าสองปีจนเขาเสียชีวิต นำเสื้อผ้าอาหารไปให้ รวมถึงเอาสี ผ้าใบและขาตั้งวาดภาพไปให้ด้วย ภาพวาดของ ไคล์ฟ ดึงดูดผู้คนมากมาย นักเรียนศิลปะจะไปนั่งเรียนรู้การวาดภาพจากเขาตรงที่ประจำของเขาที่ไชน่าทาวน์

เมื่อไคล์ฟเสียชีวิต เขากลับไม่มีญาติห้อมล้อมอยู่เลย แต่อมีราไม่ยอมให้เรื่องราวของไคล์ฟจบลงเช่นนั้น เธอสืบเสาะจนไปเจอญาติของเขา และบินไปลิเวอร์พูลพร้อมด้วยโลงศพของไคล์ฟเพื่อพบกับพี่ชายและครอบครัวซึ่งมาจากทั่วเกาะอังกฤษ และบางส่วนก็บินมาจากสหรัฐอเมริกา

หลังอมีราพูดคุยกับญาติของไคล์ฟ ประวัติชีวิตเขาก็ถูกคลี่ออกมาทีละเล็กทีละน้อย แม้จะไม่ทั้งหมด เธอพบว่าไคล์ฟมีพี่น้องถึง 12 คนจากพ่อเดียวกัน แต่คนละแม่  ไคล์ฟเองโตมากับพ่อเลี้ยงและแม่แท้ๆ เขามีพี่สาวแม่เดียวกันชื่อโอเว่นส์ โอเว่นส์เล่าว่าพวกเขามีชีวิตวัยเด็กที่มีความสุขแม้จะเผชิญกับการถูกเหยียดเชื้อชาติเพราะพวกเขามีเชื้อสายคนดำ กระนั้นเธอก็เล่าว่าการถูกเหยียดเชื้อชาติกระทบกระเทือนจิตใจไคล์ฟอย่างมาก

ไคล์ฟหนีออกจากบ้านพร้อมกับพี่ชายเมื่ออายุ 13 ปี พี่น้องคนอื่นๆแทบไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือทราบถึงสาเหตุว่าทำไมเขาหนีไป โอเว่นส์ผู้ซึ่งภายหลังย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกากับแม่เองก็ไม่รู้ พวกเขามารู้เอาภายหลังเมื่อพี่ชายที่หนีออกจากบ้านไปกับไคล์ฟเล่าให้ฟังว่า ไคล์ฟกับเขาหนีออกจากบ้านที่กลาสโกว์ไปลิเวอร์พูลซึ่งเป็นบ้านของพ่อผู้ให้กำเนิด ไคล์ฟนั่งรออยู่หน้าบ้านพ่อขณะที่พ่อยังไม่กลับมา พอพ่อกลับมาเห็นไคล์ฟ เขาก็ถามว่า “แกมาทำอะไรที่นี่?” พ่อให้ไคล์ฟกินข้าว จากนั้นก็พาขึ้นรถขับไปส่งที่ทางด่วนแล้วบอกกับเขาว่า “โบกรถกลับไปสก็อตแลนด์ซะ” พี่ชายเล่าไปร้องไห้ไปและกล่าวว่า “ผมน้ำตาไหลขึ้นมาพอคิดว่าพ่อแม่ที่ไหนทำอย่างนั้นกับลูกตัวเองได้”

ถึงแม้แมนเชสเตอร์จะมีโครงการ “ที่นอนตอนกลางคืน” เพื่อรองรับคนไร้บ้าน โดยมีพื้นที่ส่วนรวมและถุงนอนให้คนไร้บ้านมานอน แต่ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น คนไร้บ้านหลายคนมีปัญหาทางด้านจิตใจ เสพยา หรือติดเหล้า ซึ่งต้องการความช่วยเหลือมากกว่าการให้ที่นอน ในขณะเดียวกันในปี 2018 ก็เป็นปีที่จำนวนคนไร้บ้านที่เสียชีวิตในอังกฤษพุ่งขึ้นสูงที่สุด ถึงกว่า 726 คน โดยแมนเชสเตอร์เป็นสถานที่ที่คนไร้บ้านเสียชีวิตมากเป็นอันดับสาม พรรคแรงงานของอังกฤษกล่าวว่าการตายของคนไร้บ้านที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลมาจากการตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งทำให้รายได้ต่อหลังคาเรือนในแมนเชสเตอร์ลดลงกว่า 926 ปอนด์

ที่มา: https://www.theguardian.com/cities/2019/dec/03/when-clive-dalrymple-died-homeless-he-left-his-paintings-do-they-hold-clues-to-his-death