ส่องมาตรการป้องกันภาวะไร้บ้านจากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา และแคนาดา (2)

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

จากบทความ ส่องมาตรการการป้องกันภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด (1) เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างมาตรการการป้องกันภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงจาก 4 ประเทศต่อไปนี้ ได้แก่ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยจะเล่าให้ฟังถึงทั้งนโยบายของรัฐบาลกลางแต่ละประเทศ และมาตรการให้ความช่วยเหลือระดับท้องถิ่นที่เคยประกาศใช้ในปี 2563 

ประเทศฝรั่งเศส 

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยืดระยะเวลาพักชำระหนี้ในช่วงฤดูหนาว (winter moratorium) ให้สิ้นสุดในช่วงฤดูร้อน (10 กรกฎาคม 2563) โดยการคุ้มครองผู้เช่าไม่ให้โดนไล่ออกเนื่องจากค้างชำระค่าเช่านั้นรวมอยู่ในมาตรการพักชำระหนี้ด้วย

สำหรับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย รัฐบาลฝรั่งเศสได้เช่าห้องพักในโรงแรมให้ และมอบคูปองส่วนลดสำหรับซื้อสิ่งของที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไขอีกด้วย

ในกรุงปารีส หน่วยงานเทศบาลเมืองได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง จัดทำรายชื่อคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และร่วมมือกับรัฐบาลและเอ็นจีโอเปิดที่พักชั่วคราวให้กับคนไร้บ้านในเมืองทั้งหมด 14 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดศูนย์สุขภาวะเพื่อรองรับคนไร้บ้านที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล โดยผู้ที่เข้ารับการรักษานั้นจะได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นก่อน 

เนื่องจากเมืองอื่น ๆ ในฝรั่งเศสมีอิสระในการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ทำให้องค์การปกครองส่วนจังหวัดและเทศบาลท้องถิ่นแต่ละท้องที่มีแผนรับมือภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงต่างกันไป 

  • ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส
    • เทศบาลเมืองแรนส์ (Rennes) ได้ออกแผนปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับผู้มีสถานะทางสังคมเปราะบางที่สุดขึ้นเอง 
    • เทศบาลเมืองน็องต์ (Nantes) ดูแลกลุ่มคนไร้บ้านร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มทรัพยากรทางอาหารให้กับคนที่เดือดร้อน ทางเขตเทศบาลเมืองน็องต์ได้เปลี่ยนพื้นที่สีเขียว เรือนกระจก สวนร้าง หรือสวนของเทศบาลให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก เมื่อรวมกันแล้ว พื้นที่ทั้งหมดที่ถูกใช้ปลูกผักนั้นมีขนาด 25,000 ตารางเมตร และสามารถให้ผลผลิตขนาด 25 ตัน ผักต่าง ๆ ที่ได้จะถูกกระจายไปทั่วธนาคารอาหารในเมืองอีกที 
  • ในฝั่งของตะวันตกเฉียงใต้ เทศบาลเมืองตูลูส (Toulouse) ร่วมมือกับรัฐบาลกลางทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับคนไร้บ้าน 

ประเทศญี่ปุ่น 

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งกองทุนแบ่งเบาภาระค่าเช่าเพื่อความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย (Rent Relief Grants) โดยเงินจากกองทุนดังกล่าวจะถูกนำไปชำระค่าเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน หลังจากนั้น หากผู้ลงทะเบียนยังเข้าข่ายคนที่อยู่ในสถานะที่เปราะบาง เงินสนับสนุนจะถูกปันส่วนให้ทุก ๆ 3 ถึง 9 เดือน และเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชน รัฐบาลได้ประกาศให้หน่วยงานการไฟฟ้า ประปา และก๊าซหุงต้ม พักชำระค่าบริการต่าง ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดและขอความช่วยเหลือได้จากหน่วยงานต่าง ๆ โดยตรง หรือติดต่อผ่านเทศบาลท้องถิ่น 

ในเขตเทศบาลเมืองโตเกียว ได้มีการเปิดที่พักชั่วคราวให้กับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยทางเทศบาลได้เช่าโรงแรมและเปิดบ้านที่เทศบาลเป็นเจ้าของให้คนเข้ามาอยู่แทน ส่วนในจังหวัดโยโกฮามา เทศบาลเมืองได้มอบเงินอุดหนุนให้กับผู้เช่าห้องพัก/บ้านพักที่สูญเสียรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค

ประเทศแคนาดา

รัฐบาลกลางแคนาดาได้อัดฉีดงบประมาณให้กับแผนงานบรรเทาภาวะไร้บ้าน “Reaching Home Program” เป็นสองเท่า งบประมาณดังกล่าวนั้นจะถูกปันส่วนออกมาเป็นเงินช่วยเหลือในระยะสั้น (เช่น เงินค่าเช่าที่พักอาศัยและเงินชำระค่าสาธารณูปโภค) เงินอุดหนุนการบริการด้านสุขภาวะ เงินสำหรับซื้อของอุปโภคบริโภค และเงินทุนสำหรับบริหารจัดการปัญหาที่อยู่อาศัยและความเป็นอยู่ดีในชุมชน นอกจากนี้ รัฐบาลกลางแคนาดายังประกาศโครงการ Rapid Housing Initiative (RHI) หรือโครงการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย (affordable housing) โดยจะมีการก่อสร้างแบบโมดูลาร์ (การนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของอาคารไปประกอบเป็นบ้านสำเร็จรูป) การซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย

ในระดับจังหวัด รัฐบาลกลางได้ให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลกลุ่มคนชายขอบ เช่น Indigenous Services Canada (ISC) ที่ดูแลสวัสดิภาพของกลุ่ม First Nations และชุมชนของคนอินูอิต (Inuit) ส่วนในระดับเทศบาล เมืองโตรอนโตได้สร้าง “isolation centre” หรือศูนย์รองรับคนไร้บ้านที่รอผลตรวจเชื้อ และเช่าโรงแรมให้กับคนที่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน แทนการส่งตัวไปบ้านพักชั่วคราว ในขณะเทศบาลเมืองมอนทรีอัลได้จัดทำแผนช่วยเหลือคนไร้บ้านโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุงคุณภาพของบ้านพักชั่วคราว การจัดเตรียมสินค้าอนามัย การจัดเตรียมส้วมเคมี (chemical toilet หรือส้วมที่ทำลายเชื้อโรคในสิ่งปฏิกกูลด้วยสารเคมี) การจัดเตรียมอาหาร การให้ความดูแลคนในช่วงหน้าหนาว และการเพิ่มจำนวนบ้านพักชั่วคราว

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลางได้ออกกฎหมาย “Coronavirus Aid, Relief and Economic Security Act” เพื่อคุ้มครองผู้เช่าไม่ให้โดนขับไล่จากที่พักอาศัย กฎหมายข้อนี้จะถูกนำไปใช้ประกอบกับมาตรการระงับการไล่คนและมาตรการห้ามขึ้นราคาค่าเช่าของรัฐบาลท้องถิ่นต่อไป นอกจากนี้ กฎหมาย Coronavirus Aid เองยังให้เงินช่วยเหลือคนที่โดนเลิกจ้าง ซึ่งทำให้คนมีเงินสำหรับจ่ายค่าเช่าต่อไปได้ในระยะหนึ่ง

รัฐต่าง ๆ เช่น คอนเน็คติกัต และเวอร์จิเนีย ได้เปิดที่พักชั่วคาวให้กับคนไร้บ้านในที่พักแรมต่าง ๆ เช่น โรงแรม และหอพัก ในเมืองซานโฮเซ (San Jose) รัฐแคลิฟอร์เนีย มาตรการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านประกอบด้วย การสั่งห้ามไม่ให้บุกทำลายแคมป์คนไร้บ้าน การจัดตั้งพื้นที่ล้างมือ ห้องน้ำสาธารณะ และจุดบริการน้ำสะอาดให้กับผู้อยู่ในแคมป์ การยืดระยะเวลาทำการของบ้านพักที่เปิดตามฤดู (seasonal shelters) การส่งทีมเข้าไปอธิบายวิธีป้องกันตัวจากโรคระบาด การประสานให้ศูนย์พักพิงขององค์กรศาสนายืดระยะเวลาทำการ การแยกคนไร้บ้านที่อายุมากกว่า 50 ปีและมีปัญหาสุขภาพรุนแรงออกมาพักรักษา และการพัฒนามาตรการส่งตัวคนไร้บ้านไปสถานพยาบาล ในกรณีที่จำเป็นต้องแยกตัวออกมา

จุดแข็งที่แต่ละประเทศมีร่วมกันนั้นคือการให้อำนาจบริหารจัดการกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรระดับเทศบาลสามารถออกมาตรการรับมือกับภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงได้โดยตรง ด้วยความใกล้ชิดกับชุมชน หน่วยงานเทศบาลสามารถดีไซน์แผนงานที่เหมาะสมกับบริบทสังคม ตรงกับความต้องการของคนในท้องที่นั้น ๆ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานและกลุ่มคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ง่าย สำหรับจุดอ่อน สิ่งที่ปรากฏอยู่ในทุกประเทศคือประสิทธิภาพและระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือ 

อย่างไรก็ตาม การรื้อที่ การไล่คนออกจากห้องเช่า/บ้านเช่า และบุกทำลายแคมป์ของคนไร้บ้านยังคงดำเนินอยู่ทั่วโลก ส่วนมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ การสั่งห้ามมิให้ไล่คนออกจากที่พัก เงินสนับสนุน ล้วนแต่เป็นมาตรการเฉพาะหน้า นโยบายรัฐต่าง ๆ นั้นช่วยคนที่ว่างงานและไม่มีที่อยู่อาศัยโดยตรง แต่แค่ในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปคือแผนจัดหาที่อยู่อาศัยถาวร 

ถึงหนทางสู่โลกที่ทุกคนมีที่อยู่อาศัยอย่างมีความสุขจะยังห่างไกล แต่ความพยายามบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละประเทศได้แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ ถ้าอยากให้ความช่วยเหลือบังเกิด มันก็อาจบังเกิดได้ อยู่ที่ว่าคนจัดสรรงบประมาณอยากจะเจียดเงินมาแก้ปัญหาหรือเปล่า เท่านั้นเอง

มาตรการรับมือกับภาวะไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดกลั่นกรองจาก :

  1. Rajagopal Balakrishnan, 2020, Report: COVID-19 and the right to housing: impacts and way forward
  2. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2020, Cities Policy Responses
  3. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2020, Housing amid Covid-19: Policy responses and challenges
  4. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2020, The territorial impact of COVID-19: Managing the crisis across levels of government