หนึ่งปีกับโควิด มีมาตรการอะไรมารองรับคนไร้บ้าน?

ผู้เขียน: บุนิกา จูจันทร์

“มาตรการรับมือวิกฤติชั่วคราวที่นานาประเทศและรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ ใช้ ช่วยพิสูจน์ว่ากฎหมายในประเทศสามารถแก้ไข หรือนำไปตีความในทางที่ปกป้องสิทธิที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้ การที่ต้องมีวิกฤติโรคเกิดขึ้น ประเทศต่าง ๆ ถึงหันใช้มาตรการสิทธิที่อยู่อาศัยจริงจังมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ขาดหายมาโดยตลอดคือความมุ่งมั่นตั้งใจ [ในการแก้ไขปัญหา]”
– Rajagopal Balakrishnan, Special Rapporteur on the right to adequate housing

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างปัญหาใหม่ พร้อมเปิดปากแผลปัญหาเก่าไปด้วย ข่าวต่าง ๆ เต็มไปด้วยเรื่องราวของความสูญเสีย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ลดลง การโดนปลดออกจากงาน  การปิดตัวลงของธุรกิจขนาดย่อย การถูกไล่ออกจากที่พัก หรือความจำเป็นต้องเปลี่ยนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยหลังจากการล็อคดาวน์ 

การสูญเสียนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ดังที่เราเห็นได้จากการประกาศมาตรการล็อคดาวน์หรือการสั่งปิดกิจการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียก็ค่อย ๆ เผยตัวออกมาในรูปแบบของสภาพสังคมที่ง่อนแง่นเต็มที ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ร่อแร่ ผู้คนจำนวนมากไม่รู้ว่าที่ทำงานจะเลิกจ้างตนเมื่อไหร่ เงินที่มีอยู่ในมือจะหมดลงเมื่อไหร่ และวันที่ไม่สามารถจ่ายค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟจะมาถึงตอนไหน วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าประชาชนอยู่ในสถานะที่เปราะบางอย่างแสนสาหัส และในขณะเดียวกันเอง มันยังชี้ไปที่สิ่งที่มีไม่มากพอ นั่นคือมาตรการของรัฐที่ทำหน้าที่เป็นตาข่ายคอยดักคนมิให้ร่วงหล่น 

ไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่จุดกำเนิดของปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย มันเป็นเพียงตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น เราอาจมีนโยบายต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อ “ผลกระทบ” จากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ แต่ผลกระทบเหล่านั้นล้วนแต่เป็นปัญหาสังคมที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย และสิทธิในที่อยู่อาศัยมั่นคงที่หายไป เราจำต้องระลึกเสมอว่า ก่อนที่โรคระบาดจะนำสังคมไปสู่สภาวะสุญญากาศ… 

  • ภาวะไร้บ้านอยู่ตรงนี้เสมอ 
  • ราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นไม่เคยหายไปไหน 
  • การไล่ที่คนและ “การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” จับมือกันเดินหน้าอย่างขันแข็งดุจขบวนมาร์ชมาโดยตลอด 
  • การโยกย้ายตัวเองไปที่ต่าง ๆ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้คือเรื่องเล่าของผู้คนจำนวนมากในเมืองใหญ่ 
  • หลายชีวิตเคยประสบสถานการณ์ที่ตนไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีที่พักไหม 
  • เงินช่วยเหลือและที่อยู่อาศัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐก็ยังคงไม่เพียงพอมาแต่ไหนแต่ไร 
  • การดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัยของรัฐไม่ยึดโยงกับประชาชน และหลังจากปีพ.ศ 2557 เป็นต้นมา ผู้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้่ำด้านที่อยู่อาศัยไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนในการวางแผนนโยบาย หรือประเมินผลกระทบและความสำเร็จของนโยบายด้านที่อยู่อาศัย

ความสูญเสียในระดับมหภาคสะท้อนไม่เพียงแต่สะท้อนความรุนแรงของภัยโรคระบาด แต่ยังเผยให้เราเห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีมาตรการบรรเทาความทุกข์ และไม่มีแนวทางในการยุติปัญหาในระยะยาวมารองรับผู้คน มีเพียงโควิด-19 เป็นชนวนให้รัฐบาลตื่นตัวจัดการปัญหาที่อยู่ตรงนั้นมาโดยตลอด 

ในระดับสากล ภารกิจหลักที่รัฐต่าง ๆ มีร่วมกันคือการลดภาวะไร้บ้านที่กำลังขยายตัว รวมไปถึงแนวโน้มที่อาจทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก  รายงานระบุว่า ในประเทศต่าง ๆ เช่นโปรตุเกส อินโดนีเซีย และฝรั่งเศส รัฐบาลได้อัดฉีดเงินให้กับมาตรการจัดหาที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วยบ้านพักฉุกเฉินของรัฐและหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร และการขยายจำนวนการเคหะของรัฐ และพื้นที่เปิดโล่งที่รองรับผู้คนจำนวนมากได้ เช่น ศูนย์กีฬา หรือหอประชุม ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนที่ประสบภาวะไร้บ้าน ที่พักที่ไม่ได้รับการจับจอง เช่น โรงแรม ได้กลายมาเป็นศูนย์คนไร้บ้านชั่วคราวเช่นกัน 

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมยังเป็นผู้ช่วยรัฐรับมือกับวิกฤติไร้บ้านระดับชาติที่ไม่อาจมองข้ามได้ ในประเทศเกาหลี องค์กรเอนจีโอต่าง ๆ ทำงานเคียงข้างกับหน่วยงานบริการสังคมของภาครัฐในการจัดการศูนย์คนไร้บ้าน และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ได้กระจายไปทั่วถึงทุกคน โดยเฉพาะคนชายขอบ

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากว่ามาตรการรับมือกับเชื้อโควิด-19 บังคับให้ทุกคนต้องมีระยะห่างจากกันและกัน แต่พื้นที่ในศูนย์คนไร้บ้านมีอยู่จำกัด เช่นเดียวกับจำนวนของพื้นที่รองรับคนไร้บ้าน ความแออัดภายในศูนย์คนไร้บ้านจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล นอกจากนี้ มาตรการต่าง ๆ นั้นถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองกับปัญหาเฉพาะหน้า และมีอายุการประกาศใช้งานที่จำกัด 

เนื่องจากภาวะไร้บ้านถูกปฏิบัติในฐานะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งที่ขาดหายไปคือนโยบายยุติปัญหาการไร้บ้านในระยะยาว อาทิ การจัดหาที่อยู่อาศัยถาวรให้กับคนไร้บ้าน การเพิ่มจำนวนของเคหะแห่งชาติ มาตรการสนับสนุนที่พักอาศัยสำหรับคนรายได้น้อยที่รวมไปถึงการควบคุมค่าเช่า การส่งเสริมสหภาพผู้เช่าที่อยู่อาศัยและสิทธิต่าง ๆ ของผู้เช่า และมาตรการควบคุมการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ ณ ตอนนี้ ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ถูกทิ้งไว้กับคำถามที่ว่า “หมดโควิดแล้วไงต่อ?” คนไร้บ้านจะถูกผลักกลับไปสู่ที่สาธารณะไหม? หรือจะต้องอยู่ในศูนย์คนไร้บ้านต่อไปอย่างไม่มีกำหนด? นโยบายฉุกเฉินจะถูกใช้ไปตลอด จนกลายเป็นนโยบายถาวรหรือไม่?

อีกหนึ่งปัญหาสังคมที่ยังตามคุกคามคนไร้บ้านไม่จบไม่สิ้น คือการปฏิบัติกับคนไร้บ้านดุจอาชญากร (criminalization of homelessness) ในบริบทปัจจุบัน มาตรการรับมือกับเชื้อโควิด-19 ใช้บทลงโทษเพื่อกระตุ้นให้คนปฏิบัติตามกฎของรัฐ อาทิ การบังคับให้เสียค่าปรับ การส่งเข้าเรือนจำเป็นเวลาสั้น ๆ หรือการไล่คนออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจรวมไปถึงการบุกทำลายแคมป์ของคนไร้บ้าน การกระทำที่รุนแรงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนไร้บ้าน และเมื่อหลังจากเชื้อโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก ภาครัฐได้ใช้ความเร่งด่วนในการจัดการกับโรคระบาดเป็นใบเบิกทางในการคุกคามคนไร้บ้าน 

ในแง่ของการลดภาวะไร้บ้าน มาตรการสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ “การยับยั้งการไล่ผู้เช่าออกจากที่อยู่อาศัย” การฟ้องขับไล่คนออกจากที่อยู่อาศัย ถูกระงับชั่วคราวในประเทศต่าง ๆ อาทิ อาร์เจนติน่า มาเลเซีย ออสเตรีย โคลอมเบีย อิตาลี สเปน และแอฟริกาใต้ นโยบายที่ถูกประกาศใช้นั้นมีตั้งแต่…

  • การสั่งพักศาลไม่ให้ดำเนินการคำร้องขอไล่ที่คน จนกว่าจะมีประกาศยุติมาตรการนี้ 
  • ผู้ให้เช่าที่อยู่อาศัยถูกสั่งห้ามไม่ให้รื้อทำลายที่ หรือไล่ผู้อยู่อาศัยออกไป โดยเฉพาะเมื่อผู้เช่าเป็นนักเรียนหรือคนทำงาน และมีสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การไล่บุคคลดังกล่าวอาจเป็นความผิดที่มีบทลงโทษได้ 
  • ห้ามดำเนินการยุติสัญญาเช่าในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าผู้เช่าจะสามารถจ่ายค่าเช่าได้หรือไม่ก็ตาม 
  • มีการประกาศให้ต่อสัญญาเช่าที่ใกล้จะสิ้นสุด หรือสิ้นสุดไปแล้วโดยอัตโนมัติ 
  • มีการประกาศละเว้นการชำระค่าสาธารณูปโภค และห้ามไม่ให้มีการตัดน้ำตัดไฟ
  • ห้ามการฉวยโอกาสขึ้นค่าเช่าในช่วงวิกฤติ
  • มีการให้เงินช่วยเหลือสำหรับคนที่มีหนี้สินผ่อนชำระบ้าน หรือประกาศพักการชำระหนี้และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นเวลาชั่วคราว
  • การเก็บค่าเช่าของการเคหะแห่งชาติถูกยกเลิกเป็นเวลาชั่วคราว

เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาพร้อมกับหายนะ และการเปิดโปงความจริงที่ถูกละเลยไป คือ

“ที่อยู่อาศัยไม่ใ่ช่สิทธิพิเศษ ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย และไม่ใช่ภาระที่ปัจเจกบุคคลต้องแบกรับและโดนบดขยี้เพียงลำพัง ที่อยู่อาศัยคือความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยคือสิทธิมนุษยชน และคือสิ่งที่รัฐต้องส่งเสริม และคอยพิทักษ์มิให้ประชาชนสูญเสียสิทธินั้นไป” 

มาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นคือการหาทางประคับประคองไม่ให้คนร่วงหล่น แต่มันไม่ได้ปิดช่องโหว่ที่ทำให้คนหล่นแต่แรกเสียทีเดียว นโยบายต่าง ๆ ที่ถูกประกาศใช้นั้นทำให้เราเห็นว่า มันเป็นไปได้ที่จะทำอะไรสักอย่างกับปัญหา และมันเป็นไปได้ที่รัฐจะทำมากกว่านี้ 

หากต้องการติดตามนโยบายด้านที่อยู่อาศัยในทวีปต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยงานที่ดูแลด้านคนไร้บ้าน/ความเป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัยรอบโลก สามารถเข้าไปเลือกชมได้ที่:

  1. รายงาน “Report of the Special Rapporteur on adequate housing as a component of the right to an adequate standard of living, and on the right to non-discrimination in this context: COVID-19 and the right to adequate housing: impacts and the way forward ”
  2. รายงาน “Report: COVID-19 and the right to housing: impacts and way forward”