ในช่วงแรกของมาตรการ lock down โครงการ Everyone In ของรัฐบาลอังกฤษช่วยให้คนไร้บ้านจำนวนมากมีที่พักเป็นหลักแหล่งเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค คนไร้บ้านกว่า 15,000 คนถูกจัดให้เข้าพักในโรงแรมในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา
ยกตัวอย่างเช่น นายมาร์ติน เขาได้พักที่โรงแรม Holiday Inn ในลอนดอนเป็นเวลาสิบเอ็ดอาทิตย์ แต่ตอนนี้นายมาร์ตินต้องกลับมานอนริมถนนตามเดิม หลังจากนโยบายนี้ยุติลง เขาไม่คิดว่าเขาและเพื่อนคนไร้บ้านจะได้รับความช่วยเหลือแบบนี้อีก
ภายใต้โครงการ Everyone In เทศบาลยอมผ่อนปรนเงื่อนไขในการช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพื่อช่วยให้คนไร้บ้านมีที่พักพิงในช่วงที่โรคโควิดระบาดหนัก ทำให้คนที่ตกหล่นจากมาตรการช่วยเหลือตามปกติสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา คนที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านต่างยินดีกับความสำเร็จของโครงการ Everyone In เพราะรัฐและองค์กรต่างๆ สามารถดำเนินการช่วยเหลือคนไร้บ้านได้อย่างรวดเร็ว หากสามารถดำเนินการต่อได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องหวังว่าจะแก้ปัญหาสภาวะไร้บ้านได้ภายในปี 2024 ตามเป้าหมายของรัฐ
แต่หกเดือนต่อมา ความหวังนั้นเริ่มจะริบหรี่ เมื่อพบว่าจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่องค์กรต่างๆ เชื่อว่าตนได้ช่วยคนไร้บ้านส่วนใหญ่ให้ไม่ต้องนอนในพื้นที่สาธารณะ คนไร้บ้านที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือกว่าสองในสามเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ซึ่งตกอยู่ในสภาวะไร้บ้านจากพิษโควิด ปัญหานี้น่าจะรุนแรงขึ้นเมื่อมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกพักงานและคำสั่งห้ามไล่ผู้เช่าหมดลง
Matthew Downie ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของมูลนิธิ Crisis มองถึงข้อดีของโครงการ Everyone In ว่ามันสามารถปกป้องคนไร้บ้านจากโควิดได้ และเขามองว่า Everyone In น่าจะถูกจดจำในฐานะโครงการที่ช่วยชีวิตของคนไร้บ้านจากโรคระบาด แต่มันจะไม่ใช่โครงการที่เเก้ปัญหาภาวะไร้บ้านในระยะยาว
เนื่องจากนโยบายช่วยเหลือต่างๆ ไม่ได้เเก้ไขที่ต้นเหตุของภาวะไร้บ้าน อย่างเช่น ค่าเช่าบ้านที่แพง เงินสวัสดิการที่ลดลง งบประมาณท้องถิ่นที่ลดลงจากมาตรการรัดเข็มขัด และนโยบายการเข้าเมืองที่จำกัดความช่วยเหลือสำหรับคนต่างชาติที่ตกงาน
ที่มา: https://www.theguardian.com/society/2020/oct/05/its-like-giving-people-a-treat-then-taking-it-away-the-battle-to-stop-another-rise-in-rough-sleeping?fbclid=IwAR2P3wkRpnclssrSlAYV6fkcJztz9Sn2ia-vsmw5Z1IXAD4zJb4PdXrkAAc