อาชญากรรมและการลงทัณฑ์คนไร้บ้าน (1)

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

หากเราลองใช้กูเกิ้ลหาข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ภายในพริบตาเดียว กระทู้ข่าวออนไลน์ต่าง ๆ จะโผล่ขึ้นมา พร้อมกับพาดหัวข่าวที่คลาคล่ำไปด้วยคำว่า “คนจรจัด” “ขอทานเร่ร่อน” “จัดระเบียบเมือง” “ลุยจับ” “กวาดล้าง” “อาชญากรรม” “ตำรวจ” หรือ “ภาพลักษณ์ไม่ดี” คำเหล่านี้ชวนให้สงสัยว่า การไร้บ้านมีความรุนแรงพอ ๆ กับอาชญากรรมเลยใช่ไหม? เพราะความยากจนคืออาชญากรรม คนไร้บ้านจึงถูกพูดถึงด้วยน้ำเสียงที่ใช้อธิบายอาชญากรเลยทีเดียว? การนอนในที่สาธารณะได้สร้างภัยให้กับความสงบเรียบร้อยของสังคม ชีวิต และทรัพย์สินของใครกัน? 

เพียงเพราะจน จึงต้องทนโดนลงทัณฑ์

น่าเศร้าที่การปฏิบัติกับคนไร้บ้านราวกับเป็นอาชญากร รวมไปถึงการส่งตำรวจออกไปจัดการภาวะไร้บ้านคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และถูกอธิบายไว้ด้วยคำว่า “criminalization of poverty” หรือการปฏิบัติกับความยากจนเหมือนเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง สำหรับคนไร้บ้านผู้อาศัยอยู่ข้างนอก ไม่มีหลังคาของที่พักพิงชั่วคราวคอยคุ้มกัน กฎหมายกำกับการใช้พื้นที่สาธารณะคือภัยคุกคามที่พร้อมจะเผยตัวได้ทุกเมื่อ กฎหมายที่ขัดแย้งกับหนทางการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านนั้นปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  • การห้ามไม่ให้ขอเงินบริจาคและสิ่งของต่าง ๆ ในที่สาธารณะ (แต่คนไร้บ้านต้องทำเพราะความช่วยเหลือไม่อาจกระจายมาถึงมือทุกคนได้)
  • การห้ามไม่ให้นอนในเต๊นท์ที่กางในที่สาธารณะ (แต่คนไร้บ้านต้องทำเพราะไม่สามารถเข้าถึงบ้านพักชั่วคราวได้อย่างทั่วถึง และบ้านพักหลายที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้)
  • การห้ามขับถ่ายในพื้นที่สาธารณะ (แต่คนไร้บ้านต้องทำเพราะไม่มีห้องน้ำสาธารณะมากพอ)
  • การห้ามไม่ให้ทอดตัวนอน นั่งในที่สาธารณะ หรือกระทำการใดใดที่ขวางทางเดิน 
  • การใช้ชีวิตร่อนเร่ระหกระเหินในที่สาธารณะ ไม่มีหลักแหล่งอาศัย
  • การห้ามเข้าพื้นที่สีเขียว (natural space) ในเวลาที่ไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อการไม่มีที่อยู่อาศัยมั่นคงถูกตราว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคม ผนวกกับอคติที่ผู้คนมีต่อบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ร่างกายของคนไร้บ้านจึงไม่ต่างอะไรจากเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามพื้นที่ต่าง ๆ เข้าไปไล่รังควาน หรือตกเป็นเป้านิ่งให้ผู้บังคับใช้กฎหมายเล่นงาน อคติที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีให้คนไร้บ้านนั้นนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำร้ายร่างกาย และส่งคนไร้บ้านเข้าตะราง 

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเราได้ยินคนไร้บ้านให้การว่า เจ้าหน้าที่เรียกเงินค่าปรับ คุกคามทางวาจา บุกตรวจเต๊นท์ ข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว ใช้กำลังบังคับเพื่อดำเนินการตรวจร่างกายหาสารเสพติดโดยไม่มีหลักฐาน กลายเป็นแพะรับบาป และเข้าจับกุมในที่สุด 

การใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างรุนแรงเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ หากคนที่มีท่าทีคลับคล้ายคลับคลาคนไร้บ้านปรากฏตัวขึ้น และใช้พื้นที่สาธารณะเป็นที่พักผ่อน แต่สำหรับคนอื่นที่รูปร่างหน้าตา ท่าทางบ่งบอกว่ามีอภิสิทธิ์กว่า อยู่ในสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจที่สูงกว่า อิสระและความรู้สึกปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะย่อมมีมากกว่า เพราะสถานะทางชนชั้นทำให้พวกเขาดูมี ‘กลิ่นอายอาชญากร’ น้อยลง และเสี่ยงต่อการกำกับควบคุมสอดแนมพฤติกรรมในที่สาธารณะน้อยลง ความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายยิ่งสำแดงตัวชัดเจน เมื่อมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวในขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ผู้คนมากมายต้องสูญเสียงานและที่อยู่อาศัย แต่พื้นที่สาธารณะกลับโดนกวดขันมากเป็นพิเศษ การยืนอยู่ด้วยกัน หรือกระทั่งรับอาหารที่แจกเป็นเรื่องของ “ภัยสังคม” ต้องได้รับการจัดระเบียบ 

“ยืนอยู่เฉย ๆ ก็ผิดกฎหมาย นั่งอยู่เฉย ๆ ก็ผิดกฎหมาย นอนอยู่เฉย ๆ ก็ผิดกฎหมาย กินเฉย ๆ ก็ผิดกฎหมาย คุณทำผิดกฎหมายนับตั้งแต่วินาทีที่คุณหยุดเดินเลยมั้ง” คือคำสรุปของ Paul Boden ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายคนไร้บ้านในโคโลราโด

และเมื่อโดนแปะป้ายว่าเป็นอาชญากร ไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิดกฎหมาย ถนนทุกเส้นที่คนไร้บ้านอาศัยอยู่อาจมุ่งสู่เรือนจำ

จากตะราง หวนคืนสู่สังคมที่ไม่มีบ้านให้

ในปีค.ศ. 2018 Prison Policy เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการจองจำและการไร้บ้านในสหรัฐฯ รายงานฉบับนั้นเปิดเผยว่า อดีตผู้ผ่านพ้นเรือนจำนวนกว่าห้าล้านคนนั้นมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นคนไร้บ้านมากกว่าคนที่ไม่เคยผ่านเรือนจำถึงสิบเท่า อัตราการประสบภาวะไร้ที่อยู่อาศัยนั้นเห็นได้มากเป็นพิเศษใน 

1) กลุ่มคนที่โดนจองจำมากกว่าหนึ่งครั้ง 

2) คนที่เพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ และ 

3) กลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว (people of color) กับผู้หญิง  

หลังจากออกมาจากเรือนจำแล้ว การกลับเข้าสู่สังคมไม่ใช่เรื่องที่ดำเนินโดยมีกลีบกุหลาบโปรยปรายต้อนรับ หากเจ้าของที่ทำการสืบค้นประวัติผู้เช่าห้องเป็นการส่วนตัว ประวัติอาชญากรรมคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ถูกหยิบมาใช้กีดกันผู้เช่า ทำให้คนที่ต้องการตั้งต้นกับชีวิตใหม่ไม่อาจหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ เมื่อไม่มีที่พักอาศัยอยู่แน่นอน ในไม่ช้า ห้องเช่าตามโรงแรมราคาถูกและพื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นที่ปักหลัก 

ในพื้นที่สาธารณะ ร่างกายของคน ๆ นั้นจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย หากกฎหมายบอกว่า “ชีวิตของคุณไม่เป็นที่ต้องการในพื้นที่ข้างนอก” การดำรงอยู่ในพื้นที่สาธารณะทำให้คนกลายเป็นอาชญากรที่ต้องโดนลงโทษ ไม่ว่าจะด้วยการเสียค่าปรับ หรือการโดนฝากขัง ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คนไร้บ้านจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับระบบยุติธรรมอาญา ในเมื่อกฎหมายระบุไว้แล้วว่าภาวะไร้บ้านคืออาชญากรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องชดใช้ด้วยเงินตราหรือว่าเวลาในเรือนจำ วงจรเข้า-ออกเรือนจำ/ท้องถนนเช่นนี้ถูกเปรียบเปรยว่าเหมือนประตูหมุน (revolving door of incarceration) ที่คนผลักไปอีกด้านหนึ่งของประตู แต่สุดท้ายแล้วก็วนอยู่ที่เดิม

เหมือนคนที่ออกจากเรือนจำ→โดนสังคมผลักไสไปที่ที่สาธารณะ→เผชิญหน้ากับผู้บังคับใช้กฎหมาย/ระบบยุติธรรอาญา→โดนตีตราว่าเป็นอาชญากร→โดนจองจำอีกครั้ง

ประวัติอาชญากรรมเองยังส่งผลต่ออนาคตของการงานอาชีพ เนื่องจากว่านายจ้างสามารถติดต่อขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการตอบรับเข้างานได้ ผู้คนจำนวนมากที่ผ่านระบบยุติธรรมอาญามาก่อนจึงโดนปฏิเสธโอกาสทำงาน และไม่อาจมีรายได้ที่แน่นอนสำหรับค้ำจุนตัวเองได้ ทำให้สภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงนั้นอยู่ห่างไปแค่เพียงเอื้อมมือเท่านั้น 

และหากกลับมาพิจารณาเยาวชนที่เคยผ่านการจองจำมาก่อน ประวัติอาชญากรรมส่งผลต่อการตอบรับเข้าสถานศึกษาและโอกาสในการได้รับทุนโดยตรง เนื่องจากว่าสถานศึกษาหลายแห่งไม่ต้อนรับคนที่มีประวัติอาชญากรรม และเงินสนับสนุนการศึกษาอาจตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า ผู้รับทุนจะต้องไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียหรือเป็นภัยมาก่อน

แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ออกจากเรือนจำจะเป็นคนไร้บ้าน แต่หลายคนเองตกอยู่ในสภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เสี่ยงต่อการโดนปฏิเสธที่พักอาศัยเพราะประวัติอาชญากรรมของตน จนต้องเช่าโมเทลรายวัน และนอกเหนือไปจากอดีตที่เคยข้องเกี่ยวกับระบบยุติธรรมอาญาเอง อุปสรรคในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของอดีตผู้ต้องขังที่ไม่ได้ทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งนั้นยังอาจรวมไปถึงเงินมัดจำราคาสูง การเช็คประวัติทางการเงิน และข้อมูลนายจ้างในอดีต 

หากเรากลับมาดูมาตรการต่อต้านภาวะไร้บ้าน (anti-homelessness) สิ่งที่โดดออกมาชัดเจนคือการจำกัดขอบเขตของการเคลื่อนไหว รวมไปถึงพื้นที่พักพิงยามตื่นและหลับของคนไร้บ้าน การเคลื่อนไหวเชิงนโยบายเช่นนี้พร่ำบอกสังคมว่า ปัญหาอยู่ที่คนไร้บ้าน มากกว่าจะเป็นโครงสร้างสังคมซึ่งเบียดขับให้คนออกจากที่อยู่อาศัย อาทิ

  • ราคาของที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นโดยไม่มีการกำกับ
  • สภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย
  • สภาพของตลาดงานที่ไม่มีความมั่นคงให้กับลูกจ้าง และเริ่มไม่นิยมการจ้างงานพนักงานประจำ
  • การหั่นงบสวัสดิการรัฐสำหรับรองรับคนรายได้น้อย
  • ความอยุติธรรมทางสังคมซึ่งบั่นทอนอำนาจและทรัพยากรในการประคับประคองชีวิตของประชากรชายขอบมาตั้งแต่อดีต เช่น ระบบสังคมชายเป็นใหญ่ หรือ ระบบกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ในสายตาของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นนักนโยบายหรือเจ้าหน้าที่รัฐบริหารกิจการเมือง ปัจจัยเหล่านี้มักถูกละเลย กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกแก้ไขเหลือเพียงคนที่โดนผลักออกมาอยู่ข้างนอกเท่านั้น 

อาจพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ปัญหาที่ต้องโดนกำจัดคือ คน ที่ยากจน  ไม่ใช่ความยากจน 

หากสนใจ และอยากอ่านต่อเพิ่มเติม มาเริ่มต้นกันที่