เด็กไร้บ้านในเงามืด ว่าด้วยเด็กไร้บ้านเมืองนิวยอร์ก

Illustration by Hokyoung Kim

บทความจาก New York Times รายงานสภาพความเป็นอยู่ของเด็กไร้บ้านในนิวยอร์ก  เปิดเผยว่าเด็กไร้บ้านในโรงเรียนรัฐกว่า 100,000 คน ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร และชีวิตติดแหง็กอยู่ในเขาวงกตของระบบราชการ

ปรินซ์คือหนึ่งในนั้น เขาคือเด็กไร้บ้านอายุเก้าขวบ เร่ร่อนไปกับแม่ชื่อฟีฟี่ ตั้งแต่ไวรัสโควิดระบาดในเดือนมีนาคม ปรินซ์เรียนหนังสือออนไลน์ผ่านมือถือของแม่ เขาย้ายโรงเรียนประถมมาแล้วห้าโรงเรียน และไม่เคยอยู่ที่ไหนได้เกินหนึ่งปี 

เช่นเดียวกับเด็กไร้บ้านกว่าแสนคน ปรินซ์คุ้นเคยกับความไม่แน่นอนและความโดดเดี่ยว เกือบแทบทั้งชีวิตเขาอาศัยอยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้านและต้องใช้ชีวิตตามกฎของศูนย์พัก พาเพื่อนมาเล่นไม่ได้ ย้ายศูนย์พักไปเรื่อยๆ ตามแต่ระบบราชการจะกำหนดให้

ตั้งแต่ปรินซ์ยังเด็ก ครูต่างก็บอกแม่ของเขาว่าปรินซ์เป็นเด็กฉลาด มีศักยภาพ แม่ของปรินซ์พยายามทำทุกอย่างให้เขาได้เรียนหนังสือและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้แต่ในตอนที่พวกเขาต้องไปต่อคิวรอว่าจะถูกโยกย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงแห่งไหน ทำให้ปรินซ์ต้องขาดเรียน (กฎบังคับว่าหากครอบครัวไร้บ้านต้องการศูนย์พัก ต้องพาเด็กไปด้วย) แม่ของเขาดาวน์โหลดแบบฝึกหัดเลขให้เขาทำในมือถือขณะต่อคิวรอ และภาวนาว่าจะได้ไปอยู่ศูนย์พักที่ใกล้กับโรงเรียนปรินซ์ เขาจะได้ไม่ต้องย้ายโรงเรียนอีก

จำนวนคนไร้บ้านในนิวยอร์กเพิ่มขึ้นสูงมากหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ Great Depression และในจำนวนคนไร้บ้านนั้น ประชากรที่มากที่สุดคือเด็กไร้บ้าน จำนวนเด็กนักเรียนที่ไร้บ้านจึงเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เมืองนิวยอร์กเป็นที่เดียวในสหรัฐอเมริกาที่รับรอง “สิทธิที่จะเข้าถึงศูนย์พักพิง” อย่างถ้วนหน้า ซึ่งนักกิจกรรมต่อสู้กันมาร่วมทศวรรษจนได้สิทธินี้มาในปี ค.ศ. 1987 สิทธิเช่นนี้ทำให้นิวยอร์กมีระบบศูนย์พักพิงมารองรับ ทว่าก็เป็นระบบที่หน่วยงานราชการอย่างน้อยหกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน (หรือบางครั้งก็ขัดกัน)

ระเบียบของนิวยอร์กกำหนดว่าการที่ครอบครัวคนไร้บ้านจะเข้าสู่ศูนย์พักพิงได้ จะต้องมีหลักฐานเอกสารที่อยู่อาศัยย้อนกลับไปอย่างน้อยสองปีมายืนยันว่าไม่สามารถกลับไปอยู่ที่พักอาศัยเหล่านั้นได้ และถ้าครอบครัวไร้บ้านกลายมาไร้บ้านเพราะความรุนแรงในครอบครัว พวกเขาก็ต้องแสดงหลักฐานรายงานของตำรวจและคำสั่งห้ามเข้าใกล้ ในปีค.ศ. 2018 ครอบครัวคนไร้บ้านเพียงร้อยละ 40 ผ่านเกณฑ์ที่ว่ามาและได้อยู่ในศูนย์พักพิง

สำหรับครอบครัวของปรินซ์ แม่ของปรินซ์พาเขาหนีจากควายตายในบ้าน เพราะพ่อของเขาใช้กำลังรุนแรงทำร้ายแม่ แม่ปรินซ์หนีไปอยู่ศูนย์พักฉุกเฉินช่วยเหลือคนที่ประสบความรุนแรงภายในบ้าน หลังจากระยะเวลาในศูนย์พักหมดลง แม่ปรินซ์พยายามหาอพาร์ทเม้นต์อยู่ แต่เธอก็ทำงานได้รายได้ขึ้นต่ำ และไม่สามารถเก็บเงินได้มากพอจะเช่าที่อยู่ใดๆ ในนิวยอร์ก

ในปีค.ศ. 2019 แม่ปรินซ์พบกับญาติของพ่อปรินซ์โดยบังเอิญ เธอหวาดผวาว่าพ่อปรินซ์จะรู้เข้าว่าเธอกับลูกอยู่ที่ไหน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อไหร่ก็ตามที่พ่อของปรินซ์หาแม่ปรินซ์เจอ เขาก็จะทำร้ายร่างกายเธอและขังเธอไว้ในอพาร์ทเม้นต์ หรือแม้แต่ลักพาตัวปรินซ์ไป แม่ปรินซ์ต้องขอคำสั่งห้ามเข้าใกล้ใหม่อยู่เรื่อยๆ หลังคำสั่งเดิมหมดอายุ

และปรินซ์ก็ต้องเปลี่ยนศูนย์พักพิงไปเรื่อยๆ และย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ

องค์กรคนไร้บ้านของรัฐ (The Department of Homeless Services) กล่าวว่าพวกเขาพิจารณาถึงโรงเรียนของเด็กด้วยเมื่อเลือกศูนย์พักพิงให้ครอบครัวคนไร้บ้านที่มีเด็กอยู่ด้วย แต่หลักฐานก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีครอบครัวเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ที่ได้ศูนย์พักพิงใกล้กับโรงเรียนของเด็ก ครั้งหนึ่งครอบครัวของปรินซ์ถูกส่งไปอยู่ศูนย์พักพิงเดียวกันกับอดีตนักโทษที่เคยกระทำชำเราเด็ก 

ในปีค.ศ. 2019 คนไร้บ้านกว่า 132,660 คน อาศัยอยู่ในระบบศูนย์พักพิงของเมืองนิวยอร์ก สองในสามเป็นครอบครัวคนไร้บ้าน และกว่า 45,000 คนเป็นเด็ก กระนั้นก็ตาม สถิตินี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงจำนวนเด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมั่นคงอย่างแท้จริง มีเด็กอีกมากมายที่อาศัยบ้านเพื่อนอยู่ อยู่ในโมเต็ล หรือบางทีครอบครัวก็ฝากลูกไว้กับเพื่อนบ้านหรือครอบครัว ในขณะที่ตนไม่มีที่อยู่อาศัยและต้องนอนในที่สาธารณะ เด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมั่นคงนั้นมีมากกว่า 114,000 คน

เด็กไร้บ้านประสบกับความยากลำบากแม้แต่กับการไปโรงเรียน พวกเขาเหน็ดเหนื่อยจากการนอนในห้องที่มีจำนวนคนมากกว่าจำนวนเตียง ไม่สามารถอาบน้ำได้ พักอยู่ในที่ที่ไกลจากโรงเรียนมาก หรือบางทีก็ต้องไปต่อคิวขอที่พักอาศัยกับพ่อแม่ตามที่ระเบียบกำหนด ทำให้ต้องหยุดเรียน

ในเมืองนิวยอร์ก ครอบครัวที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐว่าเข้าข่ายได้ที่พักอาศัย บางครั้งพวกเขาได้ที่พักที่ไกลจากโรงเรียนของลูก และเข้าไม่ถึงบริการรถบัสของโรงเรียนจนกระทั่งหน่วยงานรัฐรับรองแล้วว่าพวกเข้าข่ายได้ที่พัก ซึ่งก็ใช้เวลาหลังจากนั้นอีกสิบกว่าวันจนถึงหลายเดือน

สถิติจากรายงานของโรงเรียนแสดงให้เห็นว่าจำนวนเด็กไร้บ้านเพิ่มจาก 650,000 คน ในปีค.ศ. 2004 – 2005  มาเป็น 1.5 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2017 – 2018  

ไม่มีเด็กคนใดควรต้องไร้บ้าน

ที่มา: https://www.nytimes.com/interactive/2020/09/09/magazine/homeless-students.html