เผยชีวิตคนไร้บ้านสิงคโปร์ในมุมมองเก่าที่สังคมต้องทำความเข้าใจใหม่

Photo credit: Nuria Ling/ TODAY

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าว TODAY ได้เปิดเผยงานวิจัยชิ้นแรกของสิงคโปร์ที่มีการนับจำนวนคนไร้บ้านในประเทศ งานวิจัยชิ้นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นทั้งปัญหาและความซับซ้อนของประเด็นคนไร้บ้าน รวมทั้งตีตกความเข้าใจผิดที่เรามักมีต่อคนไร้บ้านด้วย

ในผลการวิจัยพบว่าคนไร้บ้านในสิงคโปร์มีจำนวนประมาณ 1,000 คน และพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านอยู่มากที่สุดคือใจกลางเมืองหรือเขตศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District) แต่หากเทียบขนาดพื้นที่กับอัตราความหนาแน่นของคนไร้บ้าน เขตที่มีคนไร้บ้านมากที่สุดคือ ย่านเตียง บาห์รู ย่านเคลเมนติ และ ย่านจูร่งฝั่งตะวันออก  งานวิจัยยังพบอีกว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่ในสิงคโปร์อาศัยท่าเรือร้างและอาคารพาณิชย์เป็นที่หลับนอน

เมื่อพูดถึงคนไร้บ้าน หลาย ๆ คนอาจมองว่าคนไร้บ้านเป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำงาน แต่งานวิจัยในหลาย ๆ ประเทศก็ได้ข้อพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในสิงคโปร์ก็เช่นกัน คนไร้บ้านในสิงคโปร์เกินกว่าครึ่งมีงานทำ (ร้อยละ 60) ส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด (ร้อยละ 27) รองลงมาคือทำงานรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 15) เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (ร้อยละ 10) และเป็นพนักงานค้าปลีก (ร้อยละ 8) และพวกเขามีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนสิงคโปร์ทั่วไป

เมื่อถามถึงบ้าน คนไร้บ้านสิงคโปร์บางคนกล่าวว่าตนมีที่พักอาศัยหรือสถานที่ปลอดภัยให้อยู่ ส่วนเหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่อยู่ในที่พักอาศัยเหล่านั้นนั้นก็แตกต่างกันออกไป เช่น คนไร้บ้านบางคนกล่าวว่ามีปัญหากับครอบครัว บ้างก็กล่าวว่าไม่อยากไปรบกวนเพื่อนหรือนายจ้าง บางคนมีปัญหาเข้ากันไม่ได้กับผู้อยู่อาศัยอีกคนในที่พัก HDB (HDB หรือ Housing Development Board คือที่พักจัดสรรของรัฐบาลสิงคโปร์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแฟลตรัฐบาล โดย HDB มีกฎบังคับว่าต้องมีผู้อยู่อาศัยร่วมกันสองคน หรือต้องอยู่อาศัยเป็นครอบครัว) คำตอบและสาเหตุต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนและมิติที่หลากหลายของปัญหาการไร้บ้านเป็นอย่างดี 

ผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องแก้ไขกฎของที่พัก HDB ที่กำหนดว่าต้องมีผู้อยู่อาศัยร่วมกันสองคนต่อหนึ่งห้อง การแก้ไขกฎดังกล่าวจะทำให้ผู้คนหลุดจากสภาวะไร้บ้านและยังเป็นการรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัยที่ยากจนด้วย อีกทางแก้หนึ่งคือการแก้กฎหมาย “Destitute Person Act” (พ.ร.บ.ผู้ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก) เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดว่าบุคคลที่ไร้ที่พึ่งพิง จะถูกกักตัวอยู่ในบ้าน-สวัสดิการเพื่อรับการบำบัด และจะไม่ได้รับอนุญาติให้ออกมาข้างนอก และไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ว่าจะออกเมื่อไหร่  สาเหตุดังกล่าวทำให้คนไร้บ้านหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่เพราะไม่อยากถูกกักบริเวณ และส่งผลให้ผู้คน “ไม่แสวงหาความช่วยเหลือที่พวกเขาสมควรได้รับ”

งานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่าคนไร้บ้านประมาณร้อยละ 18 ไร้บ้านมาไม่เกินหนึ่งปี คนไร้บ้านกว่าครึ่งกล่าวว่าพวกเขาไร้บ้านมานานกว่า 1-5 ปี คนไร้บ้านร้อยละ 31 เป็นคนไร้บ้านมากว่า 6 ปี และคนไร้บ้านที่เหลือกล่าวว่า พวกเขาไร้บ้านมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว สภาวะไร้บ้านยังคงเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ทั่วโลกไม่ใช่แค่ในสิงคโปร์ และยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับความสนใจและการแก้ไข 

ท่ามกลางเมืองที่พัฒนาและเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ  ชีวิตมนุษย์ในซอกหลืบก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับโอกาสและการดูแลเฉกเช่นเดียวกัน

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่

ที่มา: สำนักข่าว TODAY