เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเจอกับความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

อนาคตสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ชายขอบยิ่งเลือนราง และประชากรในสังคมมีสิทธิจะร่วงหล่นสู่สภาวะเปราะบางได้ง่ายขึ้น หากไม่มีการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กับความอยุติธรรมในสังคม ทุกพื้นที่คือกายภาพแห่งความเหลื่อมล้ำ 

“ตัวเลขของคนไร้บ้านจะยิ่งสูงขึ้นเพราะสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเมื่อคุณไม่มีบ้าน มันก็ยากที่จะทำงานไหนได้นาน ๆ หาเลี้ยงครอบครัว และสร้างเนื้อสร้างตัว” 1

เมื่อน้ำทะลักทลายเข้าสู่ลุ่มแน่น้ำ Bobonaza แห่งประเทศเอกวาดอร์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สายน้ำได้พัดพาเอาบ้านและชีวิตของชุมชนกลุ่มคน Sarayaku หรือกลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นไปด้วย และสิ่งที่ตามมาคือ ผู้คนกว่าสามสิบครัวเรือนประสบภาวะไร้บ้านฉับพลันทันใด

“คนควรรู้ว่า [น้ำท่วม] ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” Helena Gualinga นักกิจกรรมเยาวชนที่โตมากับการสู้เพื่อสิทธิของชุมชนคนอธิบาย “ชุมชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี้ต้องต่อสู้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และพวกสนับสนุนการขุดเจาะทรัพยากรมานานนับปี แล้วตอนนี้ชุมชนเหล่านี้ก็กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง”2 

ชุมชน Sarayaku คือหนึ่งในชุมชนคนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนที่อยู่ในภาวะเปราะบาง หากเราสืบสาวหาต้นตอของ “ความเปราะบาง” ของคนในป่าฝน เราจะเห็นรอยเลือดที่นำทางเราไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งนำโดยขบวนการกวาดล้างทรัพยากรเแร่ที่มีค่าและเชื้อเพลิงพลังงานในอเมริกาใต้

การตามล่าพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นมาพร้อมกับการตัดไม้ทำลายป่าทำถนน กองกำลังติดอาวุธที่คอยอารักขาพื้นที่ทำงานของบรรษัทน้ำมัน และระเบิดนับสิบลูกที่ถูกฝังอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คน ส่งผลให้คนพื้นเมืองบางส่วนจำต้องออกจากบ้านของตน สำหรับคนที่ยืนหยัดต่อสู้ ไม่มีเงื่อนไขอื่นนอกจากการอยู่กับป่าที่เสียหาย และต่อสู้เพื่อสิทธิปกป้องและฟื้นฟูบ้านของตัวเอง3 

อีกด้านหนึ่ง หน่วยคนพื้นเมืองและการพัฒนา สำนักงานเลขานุการแห่งเวทีถาวรเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ดำเนินในป่าอเมซอนได้ปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นำไปสู่สภาพอากาศที่แปรปรวน และคนแรกที่เป็นด่านหน้าสัมผัสความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง คือคนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ4 

หากขยับขึ้นมาบนซีกโลกเหนือ ในประเทศแคนาดา สัตว์และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่คนพื้นเมืองใช้บริโภคและสร้างบ้านมีจำนวนลดลง  ในขณะที่ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้หมู่บ้านคนพื้นเมืองบางพื้นที่และแหล่งอาหารจมหายไป เมื่อไม่มีอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีพื้นที่สำหรับหาเลี้ยงยังชีพตัวเอง คนพื้นเมืองในแถบอาร์กติกจึงหล่นลงสู่ภาวะไร้บ้านในที่สุด คนพื้นเมืองส่วนหนึ่งต้องระหกระเหินกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ  (climate refugee)5 

พื้นที่ของคนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและอาร์กติกคือหนึ่งในพื้นที่ที่ขาดการสนับสนุนด้านทรัพยากร และสาธารณูปโภค และยังคงได้รับผลกระทบจากการกดขี่ทางเชื้อชาติ เมื่อถูกกีดกันออกจากสายตาของรัฐตั้งแต่ต้น การปรับตัวเข้ากับสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงดูไม่ได้เป็นเพียงแค่ความจำเป็น แต่ยังเป็นภาระที่ถือกำเนิดขึ้นเพราะความไม่เท่าเทียมกัน

ตามประวัติศาสตร์ คนพื้นเมืองเป็นตัวแทนของคนชายขอบที่ปราศจากความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยตั้งแต่ต้น สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนยิ่งทวีคูณความสาหัสของปัญหานี้ เพราะภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนเร่งให้คนเข้าสู่สภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงที่รุนแรงมากที่สุด ซึ่งคือ สภาวะไร้บ้าน และความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงของปฏิทินชีวิต และวิถีชีวิตที่เคยมีมา 

ใครจะเป็นคนสุดท้ายในสังคมที่ยืนหยัดได้ หากทุกอย่างถูกกวาดราพณาสูร?

ภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงเพราะสภาพภูมิอากาศคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกลุ่มคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ทางสังคม ไม่ได้รับการปันส่วนทรัพยากรจากภาครัฐ มักจะบาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด  

รายงาน Global Report on Internal Displacement (GRID) ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2562 เหตุการณ์ภัยพิบัติได้ทำให้ผู้คนจำนวน 5.1 ล้านคนใน 95 ประเทศทั่วโลกต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นฐาน ตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขของผู้ที่พลัดถิ่นเพราะความรุนแรงถึงสามเท่า และหากเจาะจงลงไปในปีพ.ศ. 2562 เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกว่า 2,000 กว่าครั้งส่งผลเกิดการย้ายถิ่นฐานใหม่มากถึง 24.5 ล้านครั้งทั่วโลก6

หนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขผู้พลัดถิ่นมากที่สุดในโลกคือประเทศอินเดีย ด้วยตัวเลขผู้ประสบภัยจำนวน 590,000 คนโดยประมาณ ในขณะเดียวกันเอง อินเดียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างเห็นได้ชัด 

ตามรายงานของอ็อกแฟม อินเทอร์เนชั่นแนล กลุ่มท็อป 10% ของประเทศอินเดียเป็นเจ้าของความมั่งคั่งระดับประเทศถึง 77% ในขณะที่ทุก ๆ ปี ผู้คนจำนวนถึง 63 ล้านคนร่วงสู่ความยากจนเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และคนที่รับค่าแรงขั้นต่ำในชนบทจะต้องใช้เวลา 941 ปีถึงจะได้เงินที่ผู้บริหารบริษัทผลิตเสื้อผ้าหาได้ในภายในระยะเวลา 1 ปี7 

นอกเหนือไปจากขอบเขตของเศรษฐกิจ เมื่อสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบรรจบกับการกดขี่ทางชนชั้นเศรษฐกิจ-วรรณะ และเพศ ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งหยั่งรากลึกลงกว่าเดิม8 บทความ “The Influence of Caste, Class and Gender in Surviving Multiple Disasters: A Case Study from Orissa, India March” ของ Nibedita Shankar Ray-Bennett ระบุว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวรรณะสูงจำนวนหนึ่งจะได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติน้อยกว่า เนื่องจากว่าที่พักอาศัยของตนสร้างด้วยคอนกรีตที่มั่นคง และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่สูงกว่าคนอื่น ทั้งยังมีเครือข่ายญาติพี่น้องและกลุ่มคนในละแวกเดียวกันที่มีทรัพยากร สามารถให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤติได้9 

แต่หากหันหลังกลับไปมองกลุ่มผู้หญิงที่โดนทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง เช่น ผู้หญิงที่วรรณะต่ำกว่า กระทั่งวิ่งไปขอความช่วยเหลือคนที่เพียบพร้อมกว่าท่ามกลางพายุยังเป็นไปไม่ได้ เพราะการแตะเนื้อต้องตัวกันข้ามวรรณะคือเรื่องที่คอขาดบาดตาย ยิ่งกว่าวาตภัย

แม้แต่ในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สภาวะไร้บ้านก็เหลื่อมล้ำ…

อ้างอิง

  1. Forbes, “Climate Change Is Already Helping To Drive Up Homelessness”
  2. Democracy Now, “Indigenous People Left Homeless by Flooding in Ecuador’s Amazon Region Blame Climate Change”
  3. Amnesty International, “Indigenous women demand more protection in decades-long fight for Amazon homelands”
  4. The Indigenous Peoples and Development Branch/Secretariat of the Permanent Forum on Indigenous Issues, “Climate Change”
  5. Thistle, J, “Indigenous Defnition of Homelessness in Canada”
  6. The Internal Displacement Monitoring Centre (IDMC), 2020 Global Report on Internal Displacement (GRID)
  7. Oxfam International, “India: extreme inequality in numbers”
  8. Indian Express, “India is a country with pervasive inequality, pockets of deep deprivations and vulnerable populations”
  9. Nibedita Shankar Ray-Bennett, “The Influence of Caste, Class and Gender in Surviving Multiple Disasters: A Case Study from Orissa, India”