โควิด-19 ระบาด คนไร้บ้านยิ่งอยู่ไกลจากระนาบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

เรื่องโดย: นลินี มาลีญากุล

คนไร้บ้านกลางกรุงเทพมหานคร

กินร้อน แยกช้อน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป การสั่งปิดกิจการต่างๆ ชั่วคราวรวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ social distancing นั้น เป็นเรื่องที่คนที่มีความพร้อมด้านกำลังทรัพย์พอจะให้ความร่วมมือได้ เพราะนั่นหมายถึงการรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของทั้งตัวเองและสังคมรอบข้าง

แต่จากเสียงสะท้อนของผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ทั้งหมดที่ว่ามานี้ดูจะเรียกร้องสูงไปนัก หนึ่งเพราะเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะด้านอาหาร เครื่องดื่ม และพื้นที่หลับนอน – พวกเขาจำเป็นต้องอยู่อาศัยแบบรวมหมู่กัน

และสอง ขณะที่คนส่วนมากตระหนักและเตรียมพร้อมป้องกันโควิด-19 อยู่นั้น คนไร้บ้านหลายรายยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอด้วยซ้ำว่าสถานการณ์โรคระบาดเป็นอย่างไร และไวรัสที่ว่ามันมีอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

คนไร้บ้านยังไม่รู้ว่าโรคระบาดนี้น่ากลัวอย่างไร

“ไม่ค่อยรู้เลยว่าไวรัสนี่มันคืออะไร รู้แค่ว่าคนเขาตายกันเยอะ”

กิต คนไร้บ้านอายุ 65 ปี เล่าว่าช่องทางติดตามข่าวสารของคนไร้บ้านอย่างพวกเขามีน้อย ต่อให้บางคนมีโทรศัพท์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินจ่ายค่าโทรศัพท์หรือค่าอินเทอร์เน็ตที่ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกของข้อมูลได้เหมือนคนทั่วไป นั่นทำให้หลายคนที่ศูนย์แห่งนี้ไม่ค่อยรู้ว่าไวรัสโควิด-19 คืออะไร หากรู้ก็เป็นเพียงการบอกต่อๆ กันโดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเท่าไหร่ อย่างเช่นข่าวลือเรื่องทฤษฎีสมคบคิดว่าประเทศมหาอำนาจอาจจะเป็นต้นทางที่ปล่อยไวรัสนี้โจมตีคู่แข่ง จนทำให้คนทั้งโลกต้องพลอยมาลำบากไปด้วย

“รู้น้อยมันก็กลัวน้อยใช่ไหมล่ะ คนที่นี่ก็ฟังๆ ต่อๆ กันมา ส่วนผมก็ฟังเขามาอีกทีทั้งหมดแหละ”

กิตเล่าว่าเขารู้แค่ว่ามันคือไวรัสที่ระบาดไปทั่วโลก มีคนตายเยอะ แต่ไม่รู้ว่าโควิด-19 ที่มีโอกาสซ่อนตัวอยู่ในร่างกายพวกเขานั้นระยะเริ่มต้นจะมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป จากนั้นจึงจะค่อยส่งผลต่อปอด ระบบทางเดินหายใจ และอาจส่งผลต่อชีวิตในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้เห็นว่า ในขณะที่หลายฝ่ายพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ถือเป็นวาระระดับโลกนี้ คนไร้บ้านหลายรายยังห่างไกลจากความถูกต้องและเพียงพอของข้อมูล นั่นเลยไม่แปลกที่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่จริงจังต่อการป้องกันตัวเอง

ที่สำคัญคือโดยวิถีของคนไร้บ้านแล้วมักจะอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในศูนย์บริการหรืออยู่อย่างไร้กายภาพของที่อยู่อาศัยจริงๆ จะพูดว่ารวมกันเราอยู่ก็ไม่ผิด เพราะกิตบอกว่าการอยู่ด้วยกันโดยเฉพาะในศูนย์คนไร้บ้านนั้นหมายถึงการมีข้าวกินมีน้ำดื่ม มีที่ให้อาบน้ำ มีห้องน้ำให้เข้า มีที่หลับที่นอน และมีคนคอยช่วยกันเป็นหูเป็นตาเรื่องความปลอดภัย ส่วนคนที่ต้องอาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะจริงๆ นั้นอาจยิ่งต้องจับจองพื้นที่หลับนอนให้ใกล้กันเข้าไว้ เพราะจะได้ช่วยแจ้งเบาะแสที่กินที่อาบน้ำให้กันได้ด้วย

นั่นทำให้เห็นว่า ขณะที่สังคมพยายามรณรงค์การรักษาระยะห่างระหว่างกัน หรือการ social distancing สำหรับคนไร้บ้านนั้นเป็นไปได้ยากเสียยิ่งกว่ายาก ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่สนใจในสุขอนามัย แต่เพราะพวกเขาไม่มีแม้แต่ทรัพยากรพื้นฐานของการรักษาระยะทางสังคมอย่าง “พื้นที่” ให้จับจองเลยด้วยซ้ำ

ร่างกายแห่งความเสี่ยง โรคประจำตัวที่รุนแรงอยู่แล้ว

แม้หลายฝ่ายจะออกมายืนยันว่าการติดเชื้อโควิด-19 ไม่เท่ากับเสียชีวิต เพราะหากรู้เร็วรักษาไวก็อาจกำจัดเชื้อดังกล่าวออกไปจากร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าบุคคลที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อความรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก (แต่ไม่พบอาการรุนแรงเท่าผู้สูงอายุ) ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้แทบจะรวมเอากลุ่มเสี่ยงที่ว่าทั้งหมดนั้นไว้ เพราะนอกจากจะมีความหลากหลายของวัยตั้งแต่ระดับประถมไปจนผู้สูงอายุแปดสิบกว่าปีแล้ว คนไร้บ้านยังเป็นกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังติดตัว ยกตัวอย่างเช่น กิตที่เป็นเจ้าของอาการเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และวัณโรค ทั้งหมดนี่รวมอยู่ในชายวัย 65 ปีคนนี้

“ปกติผมไม่ต้องไปโรงพยาบาล จะมีหมอเอายามาให้ที่นี่ แต่ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้วนะ เมื่อก่อนผมผอมมาก น้ำหนักจาก 65 โลลดไปเหลือ 49  เห็นเป็นโครงกระดูกเลย คนที่นี่เป็นทีบีกันเยอะ (ทีบี คือชื่อย่อของวัณโรค หรือ Tuberculosis) แต่รักษาทุกคนนะ กินยากัน ไม่ต้องกลัว”

นอกจากนั้น เก่ง ชายวัย 66 ปียังเล่าเสริมอีกว่า เขาเองก็มีวัณโรคเป็นโรคประจำตัว ไม่นับรวมว่ายังมีอาการเบาหวาน เส้นเลือดในสมองอุดตัน รวมถึงปัญหาสายตาที่ผ่านการผ่าตัดมาหลายครั้งแล้วด้วย

“เป็นโรคปอดกันเยอะนะ หมอเขาก็เอายามาให้ทุกเดือน นี่เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ถึงกำหนดต้องเอายามาให้แล้ว แล้วอย่างนี้คนเป็นโรคปอดจะยิ่งแย่ไหม คุณว่ามันอันตรายหรือเปล่า นี่ผมเดี๋ยวก็ตัวร้อน เดี๋ยวเป็นหวัด มันเป็นกันบ่อยอยู่แล้วของแบบนี้ แล้วจะแยกยังไงล่ะทีนี้”

ไม่ใช่แค่เก่งที่กังวลต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกายตนเอง เพราะสำหรับคนไร้บ้านที่รวมตัวกันอยู่ที่นี่แล้ว หลายคนล้วนครอบครองกันอย่างน้อยโรคสองโรค โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับปอดซึ่งยิ่งทำให้ร่างกายของคนไร้บ้านยิ่งอันตรายต่อความรุนแรงของโควิด-19 มากขึ้นหากติดเชื้อขึ้นมา หากพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลรวมถึงมาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันและดูแลตัวเองที่เพียงพอ ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะกลายเป็นหนึ่งใน super spreader ที่หลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแบบกรณีสนามมวย ที่ต้องไม่ลืมคือถ้าคนใดคนหนึ่งเกิดติดเชื้อนั่นก็หมายถึงการแพร่กระจายต่อคนไร้บ้านที่รวมตัวอยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย และคนเหล่านี้เองที่ออกเดินทางไปหลากหลายพื้นที่ในช่วงกลางวันเพื่อทำมาหากิน ก่อนจะกลับมารวมตัวยังที่หลับนอนของพวกเขาอีกครั้งในช่วงกลางคืน

เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน

“เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน”

ภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจตอนนี้ส่งผลโดยตรงต่อคนไร้บ้าน ป้าไก่ซึ่งพาสามีของเธอที่มีอายุ 80 กว่าปีมาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ด้วยเล่าว่า เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการปิดกิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเป็นเวลา 14 วัน ป้าไก่ก็กลับสู่สภาพตกงาน เธอเล่าว่าจากเดิมที่พอจะมีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาทจากงานแม่บ้านทำความสะอาด ก็ต้องกลับมานอนก่ายหน้าผากอีกครั้ง

“มันอยู่อย่างนี้ไม่ได้หรอก ยิ่งคิดป้าก็ยิ่งเครียดนะ เงินเก็บน่ะมันไม่ได้มีมากขนาดนั้นหรอกคุณ มีไม่กี่พันหรอก ไม่มีงานทำแล้วมันก็ต้องเอาเงินที่มีอยู่มาใช้ ใช้มันก็หมดนะ แล้วจะทำยังไง งานอะไรก็ได้ตอนนี้ หาให้หน่อยนะ ทำได้หมดเลย ให้ทำความสะอาด ดูแลคน ทำได้หมดเลย หาให้หน่อยนะ ป้าอยู่แบบนี้ไม่ได้จริงๆ ลุงเขาก็แก่แล้ว อยู่ได้แต่ในนี้ ป้าหาเงินอยู่คนเดียว อยู่ในนี้น่ะมันพอมีข้าวให้กินมีที่ให้อยู่ แต่ก็ต้องจ่ายค่าเช่านะ เดือนละพันนึง แต่ลุงเขากินในนี้มากไม่ได้หรอก เขาโรคเยอะ มันต้องกินอะไรที่ดีหน่อยเข้าใจใช่ไหม ป้าพูดมากไม่ได้ แต่เราก็หาได้แค่นี้แหละ ดีกว่าไปอยู่ตามถนน”

ป้าไก่เล่าว่าแม้จะอายุ 70 กว่าปีแล้ว เธอก็ยังต้องการงาน เพราะเธอไม่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุจากปัญหาความไม่แน่นอนของที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังสะท้อนว่าคนไร้บ้านมีตัวเลือกไม่มากนัก เพราะต่อให้มีที่ให้พอหลับนอนเป็นกิจลักษณะ แต่การอยู่รวมกันเยอะๆ ก็เท่ากับว่าต้องระวังเรื่องความสะอาด รวมถึงภาวะสูงอายุก็ทำให้เธอต้องใส่ใจคุณภาพของอาหารและน้ำให้มากขึ้น เพราะทุกสิ่งสัมพันธ์กับสุขภาพที่ต้องประคับประคอง

กิตเองก็เล่าว่าเมื่อก่อนเขาขายของอยู่ริมทางเท้าบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ แต่เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งทำให้คนเดินผ่านบริเวณก่อสร้างกันน้อยลงก็ทำให้รายได้เริ่มหดหาย ประจวบกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำกันทั่วภูมิภาคก็ยิ่งทำให้สินค้าของเขาขายไม่ออกจนต้องปิดกิจการและคืนสู่สถานะไร้รายได้ไปในที่สุด

“เบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทมันไม่พอหรอก ผมได้มาหกร้อยผมจะแบ่งไว้ซื้อน้ำปลามาตุนไว้ 10 ขวดทุกเดือน ขวดเล็กๆ นะ น้ำปลาไม่ได้ดีอะไรหรอก แล้วก็ซื้อข้าวสารมาอีกถุงสองถุง ก็เอามากินอยู่รอดไปได้แต่ละเดือน แต่ซื้อของแค่นี้มันก็จะหมดแล้ว ผมจะไปเอาอะไรมาเหลือเก็บ เฮ็ดอยู่เนาะ แต่มันบ่พอกิน ไวรัสมันทำเศรษฐกิจพังใช่ไหม เออพวกใหญ่ๆ เขายังพังกันใช่ไหม อย่างนี้ผมก็พังด้วยน่ะสิ”

กิตเสริมต่อว่าถ้าไม่มีหัวหน้า (ผู้ดูแลศูนย์คนไร้บ้าน) ก็ไม่รู้ว่าตนจะรอดมาได้อย่างไร เพราะช่วงที่ไม่มีรายได้เข้ามาเขาก็ต้องพึ่งพาอาหารและน้ำดื่มที่ศูนย์จัดหาให้ ซึ่งกิตไม่แน่ใจว่าหากมีคนไร้บ้านสักคนติดเชื้อขึ้นมาจะนำไปสู่การปิดศูนย์แห่งนี้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาศูนย์แห่งนี้มักไม่ค่อยได้รับความใส่ใจจากภาครัฐมากเท่าที่ควร หากมีเหตุจำเป็นขึ้นมาก็ย่อมนำไปสู่ความกังวลว่าที่พักอันเป็นเหมือนบ้านของชีวิตของพวกเขาจะถูกสั่งปิดถาวรไปด้วย

นโยบายภาครัฐ มาตรการแบบเหยียบย่ำซ้ำเติม

คนไร้บ้านหลายรายเล่าตรงกันว่า พวกเขาเข้าใจว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน การปิดกิจการหรือเมืองเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่ผลคือพวกเขาบางคนที่มีงานรายวันทำก็ต้องกลับสู่สภาพพึ่งพาตัวเองไม่ได้ เสมือนปีนบันไดเพื่อพัฒนาชีวิตเท่าไหร่ก็ร่วงลงมาทุกครั้ง การที่รัฐมุ่งแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าโดยลืมพิจารณามาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานที่ต้องถูกบังคับให้หยุดทำงานจึงไม่ใช่อะไรนอกจากจะยิ่งขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้ห่างออกจากกันมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น มันทำให้คนไร้บ้านจินตนาการไม่ออกว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรได้ เพราะพยายามเท่าไหร่ก็ยังไม่สามารถเขยิบตัวเองขึ้นมาจากฐานล่างสุดของพีระมิดได้สักที

ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ยังต้องพึ่งพาการบริจาครวมถึงการจัดหาข้าวของเครื่องใช้ อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงยารักษาโรคจากภาคประชาสังคมเป็นส่วนใหญ่ ความน่ากังวลของพวกเขาคือในสถานการณ์ที่ขนาดคนมีเงินยังต้องแย่งกันตุนข้าวของ แล้วคนไร้บ้านที่จำใจต้องว่างงาน บางรายไม่มีรายได้หรือเงินเก็บแถมสุขภาพไม่ค่อยดีนักจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแลได้มากน้อยแค่ไหน

“มันพึ่งรัฐไม่ได้เลย ไม่รู้จะให้เขาช่วยอะไร ขอไปไม่เคยได้ เงินคนแก่เนี่ยขอสัก 1,500 จริงๆ ก็พอแล้ว มันยังพออยู่ได้ ฆ่าเชื้ออะไรต้องหามาฉีดกันเองหมด เขาก็บริจาคช่วยกันมา แต่ไม่รู้เศรษฐกิจมันแย่อย่างนี้จะมีคนมาบริจาคอีกหรือเปล่า พวกผมก็ไม่ได้อยากออกไปไหนนะแต่ไม่ออกแล้วมันไม่รอด โรคมันไม่น่ากลัวเท่าไม่มีกิน นี่มีข่าวโรคระบาดมาคนเฒ่าคนแก่ก็ตกใจ มันมีคนนอนติดเตียงด้วย ไม่รู้ต้องทำยังไง”

อย่างไรก็ตาม กิตและเก่งบอกว่าการได้เข้าถึงที่อยู่ในศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ถือเป็นรางวัลที่เปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว อย่างน้อยที่นี่ก็มีที่พัก อาหาร และมีหน่วยงานช่วยประสานหมอมาดูแลสุขภาพ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าพี่น้องคนไร้บ้านที่ยังอยู่ข้างนอกจะต้องประสบกับอะไรบ้าง

เพราะไม่ใช่แค่ร่างกายที่ต้องดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะพอทำได้ แต่เก่งบอกติดตลกว่าความเครียดและสุขภาพใจก็จำเป็นจะต้องรักษาเอาไว้

“เป็นบ้าด้วยมันจะหนักเอานะ”

……………………………………………………………………………………………………………………………….

*ชื่อทั้งหมดคือนามสมมติ