การไร้บ้านคือ ความลำบาก ความพิการคือ ความยาก แล้วถ้าเราพิการด้วยไร้บ้านด้วยล่ะ นั่นหมายถึง ความยากลำบากที่คูณสอง คงไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีกี่คนที่จะยอมสู้กับโชคชะตาอันโหดร้ายเช่นนี้ หลายคนยอมจำนนต่อโชคชะตา แต่ไม่ใช่กับบุคคลนี้ ไม่ใช่กับชายที่ชื่อ นรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ ผู้หยิ่งทระนง
ลุงนรินทร์ อายุ 50 ปี ปัจจุบันเข้าร่วมกลุ่มกับคนไร้บ้านเชียงใหม่ เขาไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่โชคชะตานำพาให้เขาได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ลุงเป็นคนกรุงเทพ เคยอยู่กับพ่อแม่พี่น้องเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ภายหลังจากพ่อแม่เสีย ชีวิตของลุงนรินทร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ผมเป็นลูกคนที่ 9 และเป็นคนที่มีร่างกายบกพร่อง แต่ร่างกายผมเจริญเติบโตปกติ พิการทั่วร่างกาย ข้างหลัง มือบางส่วน และก็เท้า มันเกิดจากพิการจากในครรภ์ พิการแต่กำเนิด ดังนั้นกว่าจะเดินได้ก็อายุ 19 ปี ต้องไปแจ้งเกิดใหม่ โกงอายุเพื่อให้ได้เข้าเรียน ต้องลำบากน้องชายที่ตามเรามาด้วย ต้องเรียนช้า เพราะเราต้องเรียนก่อน พอจบป.7 ผมเข้ามศ 1 ที่บางขุนเทียน จบมศ 5 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลำบากมาก พอจบมศ5 ก็ไม่เรียนต่อแล้วเพราะไปไม่ไหว การเดินทางยากลำบากเจ็บปวดรวดร้าว ตลอด 7-8 ปี สภาพร่างกายไม่ดี รองเท้าไม่มีใส่ ทำให้ผลการเรียนก็ไม่ดี ผลการเรียนอยู่ในขั้นเกือบตก”
เมื่อไม่เรียนต่อ ลุงนรินทร์ หันมาค้าขายพวกเสื้อผ้า ในระหว่างนั้น คุณพ่อเสียชีวิต เหลือแต่คุณแม่แล้วก็พี่น้อง
“หลังจากคุณพ่อเสีย ผมดูแลตนเอง เพราะคุณแม่สุขภาพไม่ค่อยดี พอหลังจากคุณแม่เสียผมต้องใช้ชีวิตคนเดียว”
ลุงนรินทร์เริ่มต้นขายเสื้อผ้า จากนั้นเข้าทำงานในโรงงานถั่วกรอบแก้ว แถวศรีย่าน ลุงจดจำช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่เขาสามารถหารายได้ให้ตัวเองได้มากที่สุด แต่ด้วยการใช้ชีวิตเยี่ยงชายผู้วัยรุ่นคนหนึ่งจึงทำให้ชะตาของเขาพลิกผันอีกครั้ง
“ในตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผมหาเงินได้มากที่สุด วันละไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 บาท ถ้าเก็บออม คงมีเงินใช้ในอนาคต แต่คนประเภทผมไม่เห็นโรงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ตลอดเวลาหกปี ผมใช้ชีวิตกินเที่ยวจนไม่เหลืออะไร ช่วงเก็บไม่เก็บ พอหลังจากช่วงนี้ก็เริ่มตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีอาชีพ ผมกลับไปอยู่บ้านของคุณแม่ที่บางปะกอก ไปอยู่ก็มีปัญหากับพี่สะใภ้ ความจริงผมกับพี่สะใภ้สนิทสนมกันดี เพราะมาช่วยทำงานเก็บเล่มหนังสือขาย แต่ก็มาขัดแย้งตรงที่ว่าช่วงที่ผมเก็บและเขาไม่เก็บ ผมต้องได้เงินมากกว่าเขาใช่ไหม แต่เขาไม่พอใจเลยไปคุยกับสามีเขา ซึ่งก็คือพี่ชายคนที่หก ก็คุยกันเหมือนจะเข้าใจ แต่สุดท้ายเจ้าของโรงงานกลับไม่ป้อนงาน กลายเป็นผมตกงาน นั่นแหละคือ จุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่ยากลำบาก คือไม่มีรายได้”
ลุงเล่าอีกว่า เขาเลือกกลับไปหาครอบครัวพี่ชายคนที่หก เพราะสนิทสุด สามารถพึ่งพาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ลุงเอาชีวิตตัวเองให้คนอื่นรับผิดชอบ เพียงแต่ต้องการที่พักในช่วงหนึ่งเพื่อหางานทำต่อ เมื่อมีเหตุต้องทะเลาะลุงก็ตัดสินใจออกจากบ้านทันที แล้วไปอยู่กับพี่ชายคนโต ชีวิตลุงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
“ผมระเห็จไปอยู่กับพี่ชายคนโต แถวนั้นมีช่างสองพี่น้องรับงานทาสี ไปเฝ้าบ้านให้เขาแล้วก็รับงานทาสีด้วย ซึ่งทำให้ผมไม่ได้อยู่กับพี่ชาย ไปทำงานกับพี่น้องสองคนนี้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการออกมาจากญาติพี่น้อง ในความคิดผมตอนนั้น คือ ต้องหางานเลี้ยงตัวเอง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มั่นคงถาวร ในที่สุดผมก็มีปัญหากับสองพี่น้อง โดยเฉพาะคนพี่ ซึ่งเวลาดื่มเหล้าแล้ววุ่นวายหาเรื่องผม หาว่าผมไม่มีความสามารถในการทาสี หาเรื่องเรา งานสุดท้ายที่ทำกับพวกเขา คือ ไปรับทำตู้เฟอร์นิเจอร์ที่นนทบุรี จากนั้นพวกเขาก็ไม่ให้ผมทำ(เริ่มเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2540 อยู่ได้ 4 เดือน) พอไม่ให้ทำ ผมก็ต้องคิดต่อว่า จะเอายังไงชีวิต จะไปไหนดี พอดีวัดสวนแก้วกำลังดัง คือ เขาเอาคนมาฝึกอาชีพหางานให้ทำ โดยเอาของเก่า ขยะจากห้างมาทำของประดิษฐ์รีไซเคิล ผมเลยถามเจ๊ร้านเฟอร์นิเจอร์ว่า วัดสวนแก้วอยู่ตรงไหน แล้วตัดสินใจไปวัดสวนแก้ว และอาศัยอยู่ที่นั้น”
ลุงนรินทร์ทำเก้าอี้พับขนาดเล็ก มีหน้าที่ขัดทาแลคเกอร์ อยู่ที่วัดสวนแก้ว ได้เงินวันละ 150 บาท พร้อมมีที่พักให้ ลุงคิดว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่มั่นคงให้เขาได้ตั้งมั่น แต่แล้วผ่านไปสามปีก็เกิดปัญหาอีก และเป็นเหตุให้ชายผู้หยิ่งในศักดิ์ศรีของตน เดินออกมาจากชีวิตที่มั่นคง
“ผมอยู่ที่นั้นประมาณ 2 ปี มีทุกรูปแบบ คิดว่าจะอยู่ที่นั้นแบบมั่นคงถาวร แต่มันก็ไม่มั่นคงถาวร เราก็ย้ายไปทำเซียงกง คือ ตรงที่เขารับบริจาค บริเวณวัดสวนแก้ว อีกปีกว่า หลังจากนั้นก็ออกมา เพราะรู้สึกว่ามันไม่เวิร์กแล้ว มีปัญหากับคน โดยเฉพาะกับหลวงพ่อ ท่านหูเบา เชื่อคนมาฟ้องว่าผมไม่ได้ออกบิลตอนมีคนมาซื้อของให้ ทั้งที่ผมออกให้แล้ว หลวงพ่อพยายามย้ายผมไปเก็บดอกอัญชัน แต่ผมบอกว่าร่างกายไม่เอื้ออำนวย จึงบอกลา แล้วตัดสินใจออกจากที่นั้น”
“คนที่เป็นอาจารย์สอนซ่อมจักรที่วัดชวนผมไปช่วยน้องสาวเขา ซึ่งเปิดร้านวีดีโออยู่ที่ตลาดไท อยู่ได้สามเดือนเขาก็ไม่เอา จนถึงประมาณปีพ.ศ. 2545 นี่คือชีวิตผมก่อนหน้านี้ซึ่งไม่มีอะไรสวยงาม ผมเป็นคนที่เวลามีปัญหาก็ออก ไม่ง้อ มุ่งมั่นมีชีวิตเป็นของตนเอง ผมไม่คิดว่าตนเองเป็นขี้ข้า จะมาชี้นิ้วสั่งโดยไม่มีเหตุผลไม่ได้ ผมจะพยายามทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด”
ในปีพ.ศ. 2545 ลุงนรินทร์เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตว่า “ชีวิตที่ใช้อยู่ ช่างไม่สวยงามเอาเสียเลย เราจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี” ในขณะที่กำลังคิดเรื่อยเปื่อยในร้านวีดีโอ พลันนึกถึงเรื่องราวในอดีต ครอบครัวที่อยู่พร้อมหน้า พร้อมตา กำลังนั่งดูทีวีมิตซูมิชิขาวดำที่คุณพ่อซื้อ ในทีวีมีการนำเสนอเรื่องราวของเชียงใหม่หลายครั้ง พูดถึงแต่เชียงใหม่ว่าน่าอยู่ตลอดทั้งปี ความฝังใจที่แว่บขึ้นมา ทำให้ลุงนรินทร์ที่กำลังห่อเหี่ยวกับชีวิต ตัดสินใจเดินทางมาเชียงใหม่ เพื่อหาความงดงามให้ชีวิตสักครั้งหนึ่ง
“ผมฝังใจตั้งแต่ตอนนั้น เคยถามน้องเจ้าของร้านวีดีโอ ซึ่งมาจากเชียงใหม่ ว่ามายังไง เขาบอกมาทางรถไฟ ผมเคลียร์เงินกับร้านวีดีโอได้จำนวน 3,000 บาท แล้วตัดสินใจไปเชียงใหม่ทางรถไฟ”
“ผมมาถึงเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปสวนสัตว์ทันที เพราะในข่าวบอกว่าเป็นสวนสัตว์ที่ดีที่สุด ผมไปเที่ยวดอยสุเทพ และใช้ชีวิตอยู่ศาลาหน้าสวนสัตว์เป็นเวลาสี่วันสามคืน เชียงใหม่มันน่าเที่ยวจริงๆ ผมสนุกมาก เพียงแต่ว่าปัจจัยก็หมดอย่างรวดเร็ว ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร คิดเรื่องของการเข้าสงเคราะห์ เพราะเราอยู่ตัวคนเดียว แถมเป็นคนต่างถิ่น จะไปทำงานก็ไม่มีคนรับ ตอนนั้นคิดแค่ว่าขอมีที่อยู่ก่อน”
ชีวิตที่เหมือนฝันของลุงนรินทร์จบลงอย่างรวดเร็ว แต่ลุงก็จดจำมันได้เป็นอย่างดี ก่อนที่เขาจะเข้าสู่ช่วงเวลาของการไร้บ้านในเวลาต่อมา
ลุงตัดสินใจไปศาลากลาง ลงทะเบียนเข้าสงเคราะห์ โดยปราศจากคำสัมภาษณ์ใดๆ ของเจ้าหน้าที่ มีแต่ความเงียบและเอกสารที่ให้เซ็น ในเย็นวันนั้นมีรถตู้มารับลุงไปอยู่ที่ศูนย์คนเร่ร่อน สันมหาพล อ.แม่แตง ในช่วงแรกลุงเล่าว่า รู้สึกดี เพราะมีที่อยู่ให้ มีอาหารให้ทาน แต่พออยู่ไปกลับพบว่าตนเองไร้อิสรภาพ
“ในนั้นมีทั้งคนเฒ่าคนแก่ที่รอความตาย มีคนบ้า มีคนเสียสติ มีคนใบ้ มีผู้หญิงอยู่แดนข้างใน ผู้ชายอยู่แดนข้างนอก ผมไม่รู้ว่าอยู่กี่เดือน แต่สองเดือนแรก ผมกินแล้วก็นอน คุยกับเพื่อน แล้ววันหนึ่งผมก็คิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่ผมสูญเสีย นั่น คือ อิสรภาพ”
“อยู่อย่างนั้นถ้าไม่คิดมากก็อยู่ได้ แต่คุณคิดดูว่า มีแต่คนแก่รอความตาย คนบ้า คนตรอมใจตายก็มี ผมอยู่อย่างนั้นไม่ได้ทำอะไร เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาสนใจเรา ผมเลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่หันมามองเราบ้าง พอดีเขามีเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ ปกติจะมีคนรับผิดชอบซัก แต่ช่วงนั้นเขาไม่อยู่เป็นอาทิตย์ ผมก็เลยซักเสื้อผ้าให้ ตั้งแต่วันนั้นเจ้าหน้าที่ถึงมองผมในทางที่ดีขึ้น มีขนม นม เนย ก็เอามาให้กิน มีน้ำมีอะไรก็เอามาให้กิน
“ผมอยู่อย่างนั้น โดยไม่รู้ว่าจะอยู่กี่เดือน จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่บอกให้ไปรายงานตัว พอผมได้ยินอย่างนั้นหัวใจผมอยากออกจากที่นี่ทันที อยากไปอยู่สถานที่ใหม่ แต่ไม่รู้ว่าสถานที่นั้นคืออะไร แต่คิดอย่างเดียวว่าต้องออกไปก่อน สุดท้ายเขาเอาผมไปอยู่ศูนย์ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ มีการฝึกอาชีพ มีคอมพิวเตอร์ ฝึกหัดตัดเย็บ ช่างเชื่อม วิทยุโทรทัศน์ แล้วก็เกษตร ที่สงเคราะห์ใส่ผมไปอยู่ในส่วนของศิลปะและหัตถกรรม แต่ผมไม่ชอบ ผมมีความรู้เรื่องตัดเย็บ ผมจึงย้ายไปอยู่ตัดเย็บ และใช้เวลาอยู่ส่วนตัดเย็บเป็นเวลาสองปี เพราะหมดโควตา ผอ.ก็ให้ไปอยู่ช่วยเลขาเขา อยู่ไปเรื่อยๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็ไม่มีอาชีพ เป็นภาระเขาอีก ก็เลยตัดสินใจจากเขามา แล้วมาใช้ชีวิตอยู่ที่ท่าแพ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา”
ด้วยความที่ตนเองรู้สึกไร้ค่า จึงทำให้ลุงนรินทร์เลือกเดินจากมา และใช้ชีวิตที่เหมือนเป็นเจ้าของชีวิตของตนเองอีกครั้ง ตามแบบฉบับของลุงนรินทร์ แม้ชีวิตนั้นจะไม่สุขสบายเหมือนเดิมก็ตาม และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตที่ไร้บ้านของลุงนรินทร์ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป….