หลายๆ คนคงเคยเห็นภาพหรือได้ยินเรื่องราวชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่มักสะท้อนภาพวัฒนธรรมความเคร่งครัด มีวินัยในการทำงานและการแข่งขันค่อนข้างสูง ดังนั้นการกลายเป็นคนไร้บ้านจึงทำให้สังคมมองว่า “ล้มเหลวและไร้ค่า”
ทาคาชิ โอดาวะ ในวัย 64 ปี ที่กลายมาเป็นคนไร้บ้านได้ประมาณ 1 ปี กล่าวว่า “คนทั่วไปออกห่างจากฉัน” ซึ่งมันทำให้ฉันรู้สึกเวทนาและผิดหวังในตัวเอง ฉันพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและออกจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่นี้ แต่คนก็มองว่าความพยายามของฉันมันเป็นเรื่องไร้สาระ
โอดาวะเป็นหนึ่งในคนไร้บ้านจำนวน 4,977 คน ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2018 โดยกระทรวงสาธารณะสุข แรงงานและสวัสดิการ ที่รวบรวมข้อมูลจากการให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลาดตระเวนในพื้นที่ในช่วงบ่ายและใช้การสังเกตอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งวิธีการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านนี้ว่าผลการสำรวจดังกล่าวอาจคลาดเคลื่อน แตกต่างจากการทำงานสนับสนุนคนไร้บ้านและการวิจัยเกี่ยวกับภาวะไร้บ้านในโตเกียวที่พวกเขาดำเนินการอยู่ ซึ่งระบุว่า พวกเขามีการสำรวจคนไร้บ้านปีละสองครั้ง โดยใช้อาสาสมัครกว่า 800 คน ออกไปสำรวจในเวลากลางคืน แต่อย่างไรก็ตามจำนวนคนไร้บ้านในญี่ปุ่นก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในญี่ปุ่น จนทำให้เกิดปัญหาด้านที่อยู่อาศัยอย่างฉับพลัน ผู้คนตกงานและไร้ที่อยู่อาศัย ต้องอาศัยในเต็นท์พลาสติก จนเกิดเป็นชุมชนเต็นท์พลาสติกขึ้นมาทั้งในโตเกียวและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะรับมือ เนื่องจากญี่ปุ่นในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงตั้งตัวในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก แต่กลับต้องมาเผชิญกับภาวะความยากจนบนท้องถนนในประเทศ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1994 รัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีการกวาดล้างคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนในย่านชินจุกุและสถานีรถไฟโตเกียว ทำให้คนไร้บ้านจำนวนมากต้องพลัดถิ่นไปอยู่อาศัยที่อื่น หลังจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีทัศนคติว่าคนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าอับอายของประเทศ
ตั้งแต่นั้นมา มีการดำเนินการหลายอย่างเพื่อพยายามแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ด้วยแรงกดดันจากกลุ่มต่างๆ นำไปสู่การตรากฎหมายพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนที่อยู่อาศัยให้แก่คนไร้บ้าน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2002 นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลยอมสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการปัญหาคนไร้บ้าน กฎหมายดังกล่าวรับประกันการช่วยเหลือในการหางานและที่อยู่อาศัยของรัฐหรือเอกชน สำหรับคนไร้บ้านที่ต้องการทำงาน รวมทั้งการดูแลสุขภาพและการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขคนไร้บ้านลดลง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีจำนวนตัวเลขคนไร้บ้านที่เหลืออยู่ในจำนวนหลักพัน
การไร้ที่อยู่อาศัยถือเป็นมลทินหรือความอับอายอันใหญ่หลวงของคนญี่ปุ่น เพราะสังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง คนไร้บ้านจึงจะรู้สึกละอายและพยายามหลบซ่อนตัวจากสายตาสาธารณะ โดยการใช้ชีวิตในสวนสาธารณะ ใต้ทางด่วน ริมแม่น้ำ หรือเมื่อพวกเขามีเงินจะไปใช้ชีวิตในร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่
จากการทำงานอย่างยาวนานขององค์กร Moyai ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อสิทธิคนไร้บ้าน ทซึโยชิ อินะบะ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร กล่าวว่า จริงๆ แล้วคนไร้บ้านคิดว่าพวกเขาก็เป็นคนทำงานคนหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะคนที่ไร้ที่อยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ที่คนจำนวนมากทำงานในสถานที่ก่อสร้างและพวกเขาภาคภูมิใจในตัวเอง ปัจจุบันคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่นจะมีวิธีการหาเงินโดยการเก็บกระป๋องหรือนิตยสารหนังสือการ์ตูนที่ถูกทิ้งไปขาย หรือในฤดูร้อนบางคนจะหาเงินได้จากการรับจ้างทำความสะอาดหลังการจัดงานแสดงดอกไม้ไฟ หรือถ้าโชคดีสามารถหางานทำแบบรายวันได้ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่งานส่วนมากที่คนไร้บ้านสามารถทำได้ จะป็นงานที่ต้องใช้ร่างกายและต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากและไม่ใช่ทุกงานที่จะได้รับค่าตอบแทนตามงานที่ทำ
Jean Le Beau ชาวแคนาดาที่มาญี่ปุ่นครั้งแรกในฐานะผู้สอนศาสนาเมื่อ 48 ปีที่แล้วและเป็นผู้อำนวยการขององค์กรไม่แสวงหากำไร Sanyukai กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าประชาชนทั่วไปมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคนไร้บ้าน คนญี่ปุ่นจำนวนมากทำงานหนักและพวกเขาก็คิดว่าคนไร้บ้านเป็นพวกขี้เกียจ ไม่ต้องการทำงาน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่มีใครต้องการเป็นคนไร้บ้าน พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยเพราะสถานการณ์บางอย่างทำให้เกิดจุดพลิกผัน
ตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000 นักรณรงค์จำนวนมากพยายามผลักดันให้เกิดการสนับสนุนหรือจัดสวัสดิการให้แก่คนไร้บ้าน อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาในเรื่องระบบการทำงานอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งคือคนไร้บ้านไม่ทราบว่ามีสวัสดิการหรือบางส่วนไม่ต้องการที่จะลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการ เพราะไม่ต้องการให้ครอบครัวรู้ว่าพวกเขากลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากกฎของการรับสวัสดิการ รัฐจะต้องตรวจสอบว่าครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนพวกเขาได้อย่างแท้จริง พวกเขาจึงจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากรัฐ แต่คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ครอบครัวทราบหรือไม่ต้องการที่จะเป็นภาระของครอบครัว
สำหรับรูปแบบการรับสวัสดิการจากรัฐนั้น สิ่งแรกคือต้องย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่รัฐจัดให้ ในหนึ่งห้องจะต้องพักอาศัยร่วมกับคนอื่นๆ โดยจะมีการหักเงินจากเช็คสวัสดิการสำหรับค่าที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคและอาหาร ซึ่งรูปแบบการอยู่อาศัยเช่นนี้ ไม่ใด้เป็นที่ชื่นชอบของคนไร้บ้านทุกคน เนื่องจากสาหตุการกลายเป็นคนไร้บ้านส่วนหนึ่งคือพวกเขาไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันของสังคมหรือความเครียดจากการใช้ชีวิตร่วมกับคนแปลกหน้า ทำให้ต้องกลับไปเป็นคนไร้บ้านบนถนนอีกครั้ง
เคนจิ เซอิโนะ ผู้อำนวยการองค์กร Tenohasi ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร เสื้อผ้าและการตรวจสุขภาพของคนไร้บ้านในย่านอิเคบูโคโระ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาอยู่ที่นโยบาย “Housing First” คือการให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยที่มีความเป็นส่วนตัวและเป็นบ้านของเขาจริงๆ ในปี 2014 กองทุน Tsukuroi Tokyo ได้จัดตั้งโครงการนำร่องชื่อว่า Tsukuroi House ซึ่งเป็นโครงการที่ให้บริการห้องพักส่วนตัวสำหรับคนไร้บ้าน และเชื่อมโยงไปกับการให้ความช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพคนไร้บ้าน โดยพยายามสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนไร้บ้านและองค์กร รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์เพื่อลดความโดดเดี่ยวหรือความเหงาโดยเฉพาะคนไร้บ้านสูงอายุที่ตัดขาดจากครอบครัว
ทั้งนี้จากการทำงานคนไร้บ้านในญี่ปุ่นทำให้เห็นว่าในภาพรวมนั้น ทัศนคติต่อคนไร้บ้านในสังคมญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนคนไร้บ้านถูกมองว่าไม่อยากทำงาน ขี้เกียจ แต่ช่วงหลังทศวรรษ 2000 เริ่มได้ยินผู้คนพูดถึงวลีที่ว่า “การทำงานที่ยากจน” หรือ “ความยากจนในวัยเด็ก” ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นคนไร้บ้านเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่นและเริ่มตระหนักว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะเขาขี้เกียจทำงาน
ที่มา www.japantimes.com