รายงานการประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
“คนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% และปัจจัยที่ทำให้คนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นเกิดจากภาวะการว่างงานและการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย หลังพ้นโควิด”
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น ได้สร้างความสูญเสียอันร้ายแรงต่อชีวิต สุขภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก สิ่งที่เราไม่อยากเห็นที่สุด คือ สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ (New Homeless) ในสังคมเพิ่มขึ้น
รายงานเรื่อง “การประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ฉบับนี้ ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และ ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น นักวิจัยภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. ได้นำเสนอการประมาณการจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครหลังเกิดสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
ผู้วิจัยได้ใช้แบบจำลองเศรษฐมิติที่พัฒนามาพยากรณ์ (Estimate) ซึ่งอ้างอิงภาวะเศรษฐกิจจากการพยากรณ์เศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ในปี 2563 ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ธนาคารโลก (World Bank) และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ผลการศึกษาพบว่า หลังพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% และปัจจัยที่ทำให้คนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นเกิดจากภาวะการว่างงานและการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย
สิ่งที่เราได้รับจากแบบจำลอง คือ สัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่แสดงให้เห็นในทิศทางเดียวกันว่า ภายใต้วิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ เรากำลังจะมีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้หาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ “คน” ต้องกลายเป็น “คนไร้บ้าน” ตลอดจนเตรียมมาตรการรับมือในการช่วยเหลือเยียวยา หากเขาต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
.
เขียนโดย
ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
และ ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น (ผู้ช่วยนักวิจัย เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง)
แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายการทำงานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มเพิ่มเติมได้ที่:
อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์การพัฒนาตัวชี้วัดความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้ที่: