ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์
ในฐานะผู้ใช้ภาษาอังกฤษสลับกับภาษาไทยไปเรื่อย ผู้เขียนพบว่าตัวเองตกอยู่ใน ‘ร่อง’ ระหว่างสองภาษานี้เสมอมา เมื่อออกผจญหาข้อมูลมาเขียนบทความ ผู้เขียนจำเป็นต้องแปลงสารข้ามภาษาไปมา บ่อยครั้งที่สิ่งที่ทรงพลังในภาษาอังกฤษกลับฟังดูวกวน ยืดยาวเกินจะย่อยความในภาษาไทย ในขณะเดียวกันเอง ประโยคที่กระชับได้ใจความในภาษาไทยกลับกลายเป็นกลุ่มคำที่ร้อยเรียงกันหลวม ๆ มีช่องโหว่ให้เติมเต็มความหมายในภาษาอังกฤษไปเสียอย่างนั้น อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่น้อยคำและมากความกลายเป็นสิ่งที่มากคำและด้อยความแทน
ปัญหานี้ปรากฏตัวขึ้นแทบจะตลอดเวลาเมื่อต้องเขียนเรื่อง ‘บ้าน’ เพราะคำว่า ‘home’ มีความหมายแฝงอยู่มากกว่าหนึ่ง นอกจากจะแปลว่าที่อยู่อาศัยแล้ว มันยังกินความถึงสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ มั่นคง คุ้นเคย ‘home’ คือที่อยู่อาศัยที่ทำให้เรารู้สึกว่านั่นเป็นที่ของเรา เราเป็นเจ้าของสถานที่นั้นจริง ๆ และชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้ันอย่างสนิทใจ เมื่อผู้เขียนอ่านบทสัมภาษณ์ของคนไร้บ้านและผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัย การเข้าใจความรู้สึกของผู้พูดเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวด หลายครั้งที่เราสามารถอดความจำนวนมากออกมาจากคำว่า ‘บ้าน’ ได้ ‘บ้าน’ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงแค่ในฐานะสิ่งจำเป็นต่อการเอาชีวิตรอด บางครั้งมันหมายถึงความทรงจำเกี่ยวกับที่ที่ต้องจำพรากมาเนิ่นนาน
บางครั้งมันหมายถึงความหวังและความปรารถนาในชีวิตที่สุขสงบ ปลอดภัย
บางครั้งมันหมายถึงความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม เกินปรารถนาเมื่ออาศัยอยู่ในที่สาธารณะ
บางครั้งมันหมายถึงความเป็นอิสระแต่ยังคงมั่นคง ไม่ตกอยู่ภายใต้ความเกรงกลัวหรือปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป
บางครั้งมันหมายถึงพลังที่ได้รับจากการมีที่ทางของตัวเอง และอำนาจในการจัดการชีวิตตัวเอง
บางครั้งมันหมายถึงการลงหลักปักฐานกับคนที่ผูกพันด้วยความเชื่อใจ และความรักและความห่วงใยของครอบครัว (ไม่ว่าจะผูกพันโดยสายเลือดหรือไม่ก็ตาม)
สรรพสิ่งถูกบรรจุลงในคำว่า ‘บ้าน’ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิต ความหมาย ความต้องการ และความรู้สึกต่าง ๆ (อ่านประกอบ: ความหมายของคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน)
ในช่วงแรกเริ่มของการประกาศเคอร์ฟิวปีที่แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” เพื่อรองรับคนไร้บ้านและกลุ่มคนเปราะบาง โดยกระตุ้นให้คนไร้บ้านเข้าไปใช้ศูนย์บริการคนไร้บ้านในจังหวัดต่าง ๆ และเปิดศูนย์บริการเพื่อคนไร้บ้านรายใหม่โดยเฉพาะ (อ่านประกอบ: รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง (กลุ่มคนไร้บ้าน)
แต่ผลปรากฏว่าในเดือนเมษายน มีคนไร้บ้านเพียง 154 คนเท่านั้นที่เข้าไปพักพิงในสถานที่ของรัฐ (อ่านประกอบ: พม. เผย “คนไร้บ้าน” ใช้บริการบ้านพักฟรี 154 ราย เหตุบางส่วนชอบชีวิตอิสระ) ในงานวิจัยคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีเพียง 15.83% ของคนไร้บ้านผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่ต้องการเข้าไปอยู่ในสถานพักพิงของรัฐ โดยปัจจัยที่ทำให้คนไม่ประสงค์รับความช่วยเหลือจากรัฐนั้นประกอบด้วย “[ความ] ไม่อิสระ อึดอัด [สถานที่] อยู่ห่างไกล เดินทางลำบาก และเข้าไปแล้ว ไม่ทราบว่าจะได้ออกมาเมื่อไหร่” (อ่านประกอบ: รายงานผลกระทบโควิด-19 ต่อชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมือง: คนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19)
เมื่อใดก็ตามที่มีบทสนทนาเกี่ยวกับภาวะไร้ที่อยู่อาศัย เรามักจะได้ข้อสรุปว่า “คนไร้บ้าน = ขาดบ้านหรือที่พักพิง หรือ คนไร้บ้าน + บ้าน/ที่พักพิง = สิ้นสุดภาวะไร้บ้าน” ฉะนั้นแล้ว ที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านไม่ใช่แค่เรื่องที่น่ายินเท่านั้นดี แต่ยังเป็นมาตรการที่ควรประสบความสำเร็จ สามารถบรรเทาปัญหาได้ชัดเจน แต่ข้อมูลเบื้องเผยให้เห็นว่าผู้คนไม่ได้อ้าแขนต้อนรับสถานพักพิงของรัฐทันที ยังมีความละล้าละลัง ความไม่มั่นใจว่าตนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระได้ไหม ตนเองจะถูกตัดขาดจากจากแหล่งรายได้และคนคุ้นเคยที่คอยช่วยเหลือจุนเจือหรือเปล่า (อ่านประกอบ: พม.ชวน “คนไร้บ้าน” เข้าบ้านพักชั่วคราว)
ดูเหมือนว่าคำว่า ‘บ้าน’ ในบางคราวกลับไม่ทำให้รู้สึกว่าตนได้อยู่ในบ้านจริง ๆ (อ่านประกอบ: ‘คนไร้บ้าน’ ถามเสียงดัง ‘เคอร์ฟิว’ สกัดโควิดฯ ชีวิตต้องหลับนอนที่ไหน) คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งได้ให้ปากคำตรงกันว่า บ้านพักชั่วคราวคนจนเมืองและสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ปฏิบัติตามได้ยาก เช่น กฎว่าด้วยเวลาเข้า-ออก และระยะเวลาอยู่อาศัย (อ่านประกอบ: ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยบ้านพักชั่วคราวคนจนเมือง พ.ศ. ๒๕๔๗, วิถีอิสระของคนไร้บ้าน) ด้วยเหตุนี้ คนไร้บ้านจึงรู้สึกโดนจํากัดอิสรภาพทางกายและทางใจ (อ่านประกอบ: คนไร้บ้าน การเดินทางสู่ความโดดเดี่ยว)
นอกจากนี้ การกักกันคนไร้บ้านได้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายตาม ‘พระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557’ พรบ.ฉบับนี้ได้กำชับว่า ต้องได้ความยินยอมพร้อมใจจากคนไร้บ้านก่อนจะส่งเข้าเข้าสถานพักพิง อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 22 กลับปรากฏข้อความดังต่อไปนี้
ในกรณีที่บุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดเกี่ยวกับการพักอาศัยในที่สาธารณะ ตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น หากเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะเป็นคนไร้ที่พึ่งและสมควรได้รับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวคนไร้ที่พึ่งนั้นไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทั้งนี้ โดยความยินยอมของคนไร้ที่พึ่ง เว้นแต่คนไร้ที่พึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่อาจให้ความยินยอมได้ และให้เจ้าหน้าที่ระงับการดําเนินคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะได้รับแจ้งตามวรรคสอง [เน้นโดยผู้เขียน]
ในกรณีที่คนไร้ที่พึ่งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นพิจารณาดําเนินคดีต่อไป [เน้นโดยผู้เขียน]
ในกรณีที่คนไร้ที่พึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นยุติการดําเนินคดี และให้ถือว่าสิทธินําคดีอาญา มาฟ้องระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
แม้ว่าจะมีคำว่า ‘คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง’ พาดหัว แต่พรบ. นี้ไม่สามารถยุติการปฏิบัติกับการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะดุจอาชญากรรมเสียทีเดียว (อ่านประกอบ: อาชญากรรมและการลงทัณฑ์คนไร้บ้าน (1) เนื่องจากกฎหมายข้ออื่นที่ตั้งข้อหาให้กับการใช้พื้นที่สาธารณะยังมีอยู่ คนไร้บ้านยังสามารถโดนเอาผิดจากการใช้ชีวิตไร้บ้าน สิ่งที่ถือกำเนิดจากพรบ. ฉบับนี้คือข้อเสนอหนึ่งที่คนไร้บ้านปฏิเสธได้ยากยิ่ง – หากไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง การดำเนินคดีกับคนไร้บ้านก็จะยังคงดำเนินต่อไป (อ่านประกอบ: กฎหมายใหม่จัด “สถานคุ้มครอง” หรือ “คุก”? ให้คนเร่รอนต้องเลือก, ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองคนเร่ร่อน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557)
เมื่อกลับมาดูบ้านพักที่ประชาชนบริหารกันเอง เช่น “ศูนย์ที่พักพิงและการพัฒนาอาชีพสำหรับคน(เคย)ไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู” ผู้พักอาศัยจำนวนหนึ่งรู้สึกยินดีและสบายใจที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนปรนมากขึ้น แต่ละคนยังคงประกอบอาชีพ หรือเดินทางออกไปข้างนอกได้เหมือนเดิม ในขณะที่กฎต่าง ๆ ถูกกำหนดร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเอื้อให้แต่ละคนใช้ชีวิตร่วมกันได้ (อ่านประกอบ: พลวัตความหมายคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน)
เมื่อเรานึกถึงนโยบายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของคนยากจน สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่แค่ปริมาณของที่อยู่อาศัยซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คน แต่เป็นความรู้สึกของคนที่ต้องเข้าไปอยู่อาศัยในสถานที่เหล่านั้น และความรู้สึกที่สถานที่เหล่านี้ก่อให้เกิดขึ้นในใจของผู้พักอาศัย
เพราะท้ายที่สุดแล้ว บ้านไม่ได้ประกอบสร้างด้วยซีเมนต์ ไม้ โครงเหล็ก ฝาผนัง กระเบื้อง เท่านั้น ที่อยู่อาศัยจะกลายเป็น ‘บ้าน’ ได้ ต่อเมื่อคนเข้าไปอยู่ แล้วรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ