เรื่อง: เอกมงคล ปูรีเดช
การมีชีวิตที่ยืนยาวบ่งบอกถึงสิ่งใด ในแง่เดียวกันกับที่คำถามนี้ใช้เป็นจุดตั้งต้นทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ประชากรกลุ่มหนึ่งมีสุขภาพที่ดีกว่า หรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพกว่าประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง การตั้งคำถามถึงความตายและการศึกษา ‘แบบแผนการตาย’ (การเจ็บไข้ได้ป่วยและอัตราการตาย) ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งก็สามารถบ่งบอกปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้คนกลุ่มนั้นเสียชีวิตเร็วกว่า ช้ากว่า หรือมีสาเหตุการเสียชีวิตที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันกับกลุ่มอื่น ๆ และเข้าใจถึงวิถีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของพวกเขา
ภาวะไร้บ้านเป็นสถานการณ์ที่เด่นชัดในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพที่ความเจริญด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ผู้คนย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยมากขึ้น ส่งผลให้คนไร้บ้านมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน การใช้ชีวิตที่ขาดปัจจัยพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัยนี้ทำให้คนไร้บ้านมีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพมากกว่าคนทั่วไปและมีแนวโน้มที่จะเปราะบางในปัจจัยพื้นฐานอื่นตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่เราควรทำความเข้าใจในแบบแผนการตายเพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนให้คนไร้บ้านมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
คุณภาพของแต่ละงานวิจัยที่มีการศึกษาในประเด็นนี้อาศัยว่ามีแหล่งข้อมูลที่เก็บข้อมูลของคนไร้บ้านโดยเฉพาะในรูปแบบติดตามระยะยาวที่เหมาะต่อการที่นักวิจัยนำไปวิเคราะห์ ในต่างประเทศ มีความพยายามศึกษาแบบแผนการใช้ชีวิตและรูปแบบการเสียชีวิตของคนไร้บ้านซึ่งมีความละเอียดในการวิจัยกลุ่มประชากรคนไร้บ้านที่ทำให้ผลการวิจัยที่ครอบคลุมและตรงต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของคนไร้บ้านในพื้นที่ที่มีการวิจัย รวมถึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับกรณีการศึกษาคนไร้บ้านในประเทศไทย พบว่ามียังมีข้อจำกัดของการเข้าถึงและคุณภาพของแหล่งข้อมูลจึงไม่สามารถมีการวิเคราะห์ที่เป็นระบบเมื่อเทียบกับของต่างประเทศ
รายงานวิจัย เรื่อง “อายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร”[1] โดย ผศ.ดร.ชญานิศวร์ โคโนะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ช่วยให้เห็นสถานการณ์ด้านชีวิตและความตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพในมุมกว้าง เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ของคนไร้บ้านในไทย โดยใช้ข้อมูลตัวเลขและบทวิเคราะห์เชิงคุณภาพเรื่องชีวิตและความตายเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครฯ และข้อจำกัดของระบบที่เข้ามาดูแลคนกลุ่มนี้ทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลและระบบการให้บริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม งานวิจัยศึกษาการตายของคนไร้บ้านผ่าน 1. การกำหนดนิยามและกระบวนการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “ความยืนยาวของชีวิต” ของคนไร้บ้านโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันกำหนดว่ามีข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ในอนาคตมากน้อยเพียงใด และ 2. บทวิเคราะห์อายุเฉลี่ยที่คนไร้บ้านเสียชีวิต นอกจากนั้นแล้วยังศึกษา 3. มิติด้านอายุของคนไร้บ้านในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐทั้งอายุแรกเข้าและเสียชีวิตโดยเฉลี่ยซึ่งมีผลต่อแนวทางวางแผนบริหาร และ 4. การศึกษาสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านโดยจำแนกตามชนิดโรคและการเข้าอยู่อาศัยในศูนย์พักพิง/สถานคุ้มครอง
บทความนี้ศึกษาและทำความเข้าใจคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านผ่านการสรุปงานวิจัยดังกล่าว โดยได้นำผลสรุปการวิจัยมาประกอบร้อยเรียงกันในรูปแบบบทความสั้นที่เสนอผลการวิจัยเรื่องอายุและสาเหตุการเสียชีวิตเป็นส่วนแรก และยังได้นำข้อมูลเพิ่มเติมส่วนหนึ่งมาประกอบเพื่อให้บทวิเคราะห์ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ในส่วนที่สองเป็นบทวิเคราะห์ปัญหาของระบบการเก็บข้อมูลคนไร้บ้าน
ความตายของคนไร้บ้าน
คนไร้บ้านมีความเปราะบางด้านสุขภาวะกว่าประชากรทั่วไปอย่างชัดเจน การใช้ชีวิตโดยขาดปัจจัยพื้นฐานอย่างที่พักอาศัยก่อให้เกิดผลเสียทางสุขภาวะสะสมไม่ว่าจะจากมลพิษด้านอากาศ (ฝุ่นควัน) คุณภาพของอาหาร เชื้อรา ไวรัส และอื่น ๆ[2] ซ้ำร้าย คนไร้บ้านยังมักหลุดออกจากระบบสาธารณสุข เช่นระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์หรือในระบบทะเบียนบ้าน ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิพื้นฐานนี้ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสิทธิการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ[3]
ปัญหาที่เกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้ทำให้แบบแผนการตายของคนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่คือการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ โรคติดเชื้อ รวมถึงการป่วยไข้ที่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่คนไร้บ้านหลับนอน โดยจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนไร้บ้าน พบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะเสียชีวิตที่อายุประมาณ 40-50 ปี ซึ่งต่ำกว่าประชากรไทยที่มีอายุคาดเฉลี่ย 77 ปีสำหรับเพศชาย และ 82 ปีสำหรับเพศหญิง
สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านในความดูแลของสถานสงเคราะห์ จากการศึกษาข้อมูลของ 1. สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี 2. สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี 3. สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) และ 4. สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) และ 5. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่าคนไร้บ้านมักเสียชีวิตที่อายุเฉลี่ย 58 ปี (เพศชาย) และ 60 ปี (เพศหญิง) ข้อมูลโดยสถานสงเคราะห์ที่อยู่ในที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐ พบว่าผู้เข้าบริการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 65 อยู่ในช่วงอายุ 40-65 ปี และพบว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วย 1. การติดเชื้อในกระแสเลือด 2. โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ และหัวใจ และ 3. โรคชราภาพ ตามลำดับ ข้อมูลจากศูนย์พักคนไร้บ้านที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็เป็นไปในทำนองเดียวกันว่าสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านคือโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ หรือการชราภาพเป็นส่วนใหญ่
ถึงแม้ว่าการได้เข้าอยู่ในความดูแลจะช่วยให้คนไร้บ้านใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น แต่คนไร้บ้านยังมีอายุเฉลี่ยที่ต่ำกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 20 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะมีสาเหตุการตายเป็นโรคติดเชื้อเมื่อเทียบกับประชากรไทยโดยทั่วไปที่มีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โรคทางหัวใจ หรือการชราภาพ สถานการณ์เช่นนี้อาจมาจากเหตุที่ว่ากลุ่มที่เข้ารับบริการสถานสงเคราะห์มีอายุเฉลี่ยแรกเข้าสถานสงเคราะห์ที่ 51 ปี ซึ่งหมายถึงว่าได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ไร้ซึ่งสิทธิรักษาพยาบาลและการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมาเป็นเวลานาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว กลุ่มเปราะบางกลุ่มเปราะบางมักเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป อีกทั้งอาจจะด้วยว่าคนไร้บ้านในความดูแลยังไม่ค่อยได้เข้าถึงการแพทย์โดยเฉพาะในเชิงการรักษา (curative) อย่างมีคุณภาพและตรงกับความต้องการ ซึ่งยังเป็นปัญหาของศูนย์พักพิง/สถานคุ้มครองในกรุงเทพฯ ที่มีกำลังเพียงดูแลด้านสุขอนามัย ที่พักอาศัย และอาหาร แต่ขาดเจ้าหน้าที่มีทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ โรคที่เกี่ยวเนื่องกับอายุ และโรคติดเชื้อต่าง ๆ ข้อจำกัดเหล่านี้สร้างกรอบการคิดการบริหารค่อนข้างชัดเจนว่าควรต้องจัดสรรงบประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่ และสวัสดิการให้เพียงพอที่คนไร้บ้านแต่ละคนที่เข้ารับบริการในสถานสงเคราะห์มีชีวิตอยู่อาศัยได้เฉลี่ยประมาณ 10 ปีหลังจากแรกเข้า อย่างที่การศึกษาพบว่าคนไร้บ้านหนึ่งคนเข้ารับบริการในหน่วยงานรัฐราว 10 ปี และต้องพัฒนาทักษะของบุคคลากรให้ตรงกับลักษณะการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไร้บ้านอีกด้วย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน สร้างบริบทเพิ่มเติมอีกถึงการที่แนวโน้มปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้านที่ยิ่งทวีคูณโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะที่ต้องเผชิญกับความเปราะบางด้านสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และหลายคนยังหลุดออกจากมาตรการการป้องกันเชิงรุก อย่างการฉีดวัคซีน หรือการช่วยเหลือและการจัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ[4] เช่นอาหาร ที่อยู่อาศัยชั่วคราว และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ ความช่วยเหลือที่มีอยู่ก่อนก็ยังถูกจำกัด ด้วยความเสี่ยงที่ผู้ช่วยเหลืออาจติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโควิด-19 ให้คนไร้บ้าน[5] ซ้ำร้าย ความเสี่ยงที่อาจมีการแพร่เชื้อกันเองในกลุ่มคนไร้บ้านหากอาศัยในพื้นที่ที่แออัดโดยไร้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีพอ นอกจากนั้น ยังมีโอกาสเสี่ยงที่ประชากรกลุ่มเปราะบางจะเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในช่วงนี้จากการขาดรายได้6] ส่งผลให้พบแนวโน้มคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30[7] และมีลักษณะการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านทั้งครอบครัวมากขึ้น ต่างจากเดิมที่มักเป็นการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านแบบเดี่ยว[8]
ข้อจำกัดของระบบฐานข้อมูลความตายคนไร้บ้าน
แม้เราได้เห็นข้อสรุปบางประการและแนวโน้มรูปแบบการเสียชีวิตของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่สร้างชุดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแผนพัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน แต่ข้อมูลที่ได้มาสามารถนำมาศึกษาได้แค่เพียงวิเคราะห์เป็นอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตต่อปีโดยรวมที่ไม่ได้มีความหนักแน่นพอที่จะใช้คาดการณ์อายุเสียชีวิตของคนไร้บ้านและไม่เห็นความแตกต่างของอายุเสียชีวิตตามรุ่นปี
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่ว่ามีปัญหาทั้งในรูปแบบข้อมูลที่เก็บ เนื่องจาก ศูนย์พักพิง/สถานคุ้มครองเก็บเพียงข้อมูลรายงานการเข้า-ออกสถานบริการและการเสียชีวิตประจำปี และการเก็บข้อมูลยังไม่ยาวนานพอที่จะคำนวณอายุคาดเฉลี่ย รวมไปถึการจัดเก็บข้อมูลไม่เชื่อมโยงเข้ากับศูนย์ข้อมูลพื้นฐานจึงไม่สามารถจัดตั้งระบบหรือศูนย์ติดตามคนไร้บ้าน ส่งผลให้ระบบจัดเก็บข้อมูลการเสียชีวิตโดยเฉพาะของคนไร้บ้านในไทยยังไม่มีคุณภาพพอที่จะให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อคาดเดาความยืนยาวของชีวิตและแบบแผนการเสียชีวิตของคนไร้บ้านอย่างเป็นรูปธรรมไปมากกว่านี้
ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลนี้ยิ่งเป็นปัญหากับการเสียชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะที่มักหลุดออกจากระบบช่วยเหลือโดยภาคประชาสังคมและภาครัฐ ที่ทำให้การรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีมักต่ำกว่าความเป็นจริง และตัวเลขคนไร้บ้านพื้นที่หนึ่ง ๆ มักคาดเคลื่อนเพราะมีการย้ายถิ่นเป็นประจำ ทำให้งานวิจัยต้องเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative) เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านมาเสริมข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative) ที่มีอยู่จำกัด
ข้อค้นพบอีกหนึ่งเรื่องของงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าควรมีการขึ้นทะเบียนคนไร้บ้าน เพื่อประโยชน์ในการเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อวิเคราะห์ต่อไปและติดตามคนไร้บ้านต่อไปภายหลังจากที่คนไร้บ้านกลับเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างระบบป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านซ้ำสอง นอกจากนี้ยังควรจัดตั้งศูนย์ข้อมูลคนไร้บ้านกลางที่ดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลชีวิตและการตายด้วย
สรุป
เมื่อวิเคราะห์ความสำเร็จของงานวิจัยนี้ในองค์รวม และนำผลสรุปนี้ย้อนกลับไปเพ่งคิดร่วมกับคำถามตั้งต้นบทความนี้ว่า การมีชีวิตที่ (ไม่) ยืนยาวสามารถบ่งบอกถึงสิ่งใด จะเห็นได้ว่าการศึกษาแบบแผนการตายของคนไร้บ้านครั้งนี้ได้ยืนยันความเข้าใจที่มีมาอยู่ว่าอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านที่น้อยกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปเป็นปัจจัยโดยตรงของการที่คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ใช้ชีวิตเสี่ยงกว่าประชากรโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก และมักมีคุณภาพชีวิตหลังเข้าสู่ภาวะไร้บ้านที่ต่ำ นอกจากนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่ามาตรการรองรับทั้งการจัดเก็บข้อมูลคนไร้บ้านและการจัดสรรการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ยังไม่ดีพอ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้สร้างข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นด้านสุขภาพของคนไร้บ้าน นอกจากว่าควรจะสร้างมาตรการเพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้ามาอยู่ในสถานคุ้มครองหรือศูนย์พักพิง โดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังแพร่ระบาด ก็ควรจัดการบริหารหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รองรับกับลักษณะการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไร้บ้านเหล่านี้ มากไปกว่านี้ ยังต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่ครบด้าน และสามารถนำมาวางแผนพัฒนาต่อไป
[1] ชญานิศวร์ โคโนะ, อายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ: โครงการสนับสนุนแงค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, สำนักงานหองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2560).
[2] ณัฐพล สีวลีพันธ์, “เมื่อภาวะไร้บ้านมีเวลาจำกัด: วิถีชีวิตและจุดเปลี่ยนกลับของคนไร้บ้านหน้าใหม่,” Penguin Homeless, 20 สิงหาคม 2021, https://penguinhomeless.com/thaihomeless-turningpoint.
[3] ““หลักประกันสุขภาพ” สวัสดิการดีที่คนไร้บ้านยังเข้าไม่ถึง,” Penguin Homeless, 15 มกราคม 2561, https://penguinhomeless.com/healthsecurity-welfare-homeless-thai.
[4] “ไร้บ้านหลากมุมเมือง: โควิด-19 กับชีวิตคนไร้บ้าน”, Penguin Homeless, 6 สิงหาคม 2564, https://penguinhomeless.com/interview-homeless-thaishelter-covid19.
[5] เพิ่งอ้าง.
[6] “เมื่อภาวะไร้บ้านมีเวลาจำกัด: วิถีชีวิตและจุดเปลี่ยนกลับของคนไร้บ้านหน้าใหม่.”
[7] พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ, การศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม (กรุงเทพฯ: แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2564) อ้างใน ณัฐพล, “เมื่อภาวะไร้บ้านมีเวลาจำกัด.”
[8] “ไร้บ้านหลากมุมเมือง: โควิด-19 กับชีวิตคนไร้บ้าน.”