คนไร้บ้านกทม.สามในสี่เคยเป็นแรงงานนอกระบบ

8

ภาพโดย-เครือข่ายเยาวชนคนไร้บ้าน

ภูมิหลังเกี่ยวกับอาชีพ อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนไร้บ้าน คนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 3 ใน 4 ล้วนแล้วแต่เคยประกอบอาชีพเป็นแรงงานนอกระบบ และมีรายได้ไม่แน่นอน

รายงานการวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” ของโครงการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบุว่า โดยภาพรวมแล้ว คนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง มีพื้นเพบ้านเกิดอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณร้อยละ 30 และมีเพียงจำนวนน้อยที่มีพื้นเพเป็นคนในภาคเหนือ และภาคใต้ (แต่ละภาค น้อยกว่าร้อยละ 5)สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเขตที่อยู่อาศัยพื้นเพของคนไร้บ้าน พบว่า มากกว่าครึ่งเล็กน้อยรายงานว่า มีพื้นเพบ้านเกิดอยู่ในเขตชนบท โดยประมาณร้อยละ 75 รายงานว่า ก่อนมาเป็นคนไร้บ้านอาศัยอยู่กับครอบครัว หรือพี่น้อง หรือคู่สมรสและบุตร หรือญาติ และมีเพียงประมาณร้อยละ 18 ที่อาศัยอยู่คนเดียว หรือนายจ้าง หรือเพื่อน/คนรู้จัก เห็นได้ว่า คนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนใหญ่เคยอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือญาติพี่น้อง และกระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค (ยกเว้นภาคเหนือ และภาคใต้ มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ) อีกทั้งเกือบครึ่งหนึ่งมีพื้นเพบ้านเกิดอยู่ในเขตเมืองอีกด้วย ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่า คนไร้บ้านมีภูมิหลังไม่แตกต่างไปจากประชากรโดยทั่วไป และพื้นเพบ้านเกิดอาจจะไม่ใช่ปัจจัยผลักที่สำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนไร้บ้าน

อย่างไรก็ตามประเด็นภูมิหลังเกี่ยวกับอาชีพ อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญก็เป็นได้ กล่าวคือ คนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ประมาณ 3 ใน 4 รายงานว่า ก่อนมาเป็นคนไร้บ้านเคยประกอบอาชีพเป็นแรงงานนอกระบบ และรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตร/ประมง รับจ้างทั่วไป เก็บของเก่าขาย ขับรถ/เด็กส่งของ งานกรรมกร/ช่างก่อสร้าง และค้าขาย เป็นต้น และมีเพียงประมาณร้อยละ 16 ที่ทำงานในระบบเช่น พนักงานทาความสะอาด/รปภ. ลูกจ้าง/พนักงานโรงงาน เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นกลุ่มคนที่ว่างงานหรือไม่มีอาชีพ (อาจจะเคยประกอบอาชีพ แต่ช่วงก่อนมาเป็นคนไร้บ้านอยู่ในช่วงว่างงานก็เป็นได้) เห็นได้ว่า ลักษณะงานก่อนที่จะมาเป็นคนไร้บ้านเกือบทั้งหมดเป็นงานที่ต้องใช้กำลังแรงงาน และไม่มีความมั่นคงทางรายได้เท่าใดนัก และเมื่อพิจารณาจากข้อคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ใดที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านแล้ว ทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ประเด็นเกี่ยวกับอาชีพหรือการไม่มีงานทำเป็นปัจจัยผลักสำคัญที่ทำให้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยประมาณร้อยละ 26 ของคนไร้บ้านรายงานว่า การไม่มีงานทำ/ตกงาน/ถูกไล่ออก จากงานเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน

การตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านอาจจะมีความซับซ้อนในเชิงสาเหตุ มีประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาเข้ามาเกี่ยว และมีหลายเหตุการณ์ร่วมกัน อีกทั้งอาจจะมีประเด็นความเชื่อถือได้ของคำตอบจากระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ทำให้ผลการวิจัยมีข้อจำกัดในการสรุปว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจมาเป็นคนไร้บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว และพ่อแม่เสียชีวิต เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน (ประมาณร้อยละ 19 และประมาณร้อยละ 11 ของคนไร้บ้านตามลำดับ รายงานว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน) สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความพิการ การเป็นผู้สูงอายุ ประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพ ติดคุกหรือต้องคดี หรือติดโรคร้ายแรงนั้น มีคนไร้บ้านจำนวนน้อยรายงานว่า เป็นจุดเปลี่ยนให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งอาจเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องทำให้ไม่มีงานทำก็เป็นได้.

9

ที่มาข้อมูลภาพ : รายงานการวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ เกี่ยวเนื่อง” ของโครงการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

บันทึก