เรื่องราวของคนไร้บ้านไม่ได้มีแต่ด้านที่ทุกข์ยาก น่าสงสาร น่าเห็นใจ แต่ยังมีเรื่องราวของการพยายามลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อต่อสู้กับสภาวะไร้บ้าน และสร้างจุดตั้งต้นของการมี “บ้าน” อีกครั้ง เฉกเช่นกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากรวมกลุ่มในนาม “กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่” เพื่อเช่าบ้าน ออมเงิน และต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่พวกเขาพึงมีพึงได้มานานหลายปีกับหน่วยงานรัฐ จนในที่สุดพวกเขาได้รับงบประมาณสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้านเชียงใหม่ ซึ่งมีกำหนดสร้างเสร็จและเปิดตัวในปีหน้า
…และนี่คือเรื่องราวบางส่วนของพวกเขา
“เตรียมพบกับผลิตภัณฑ์ที่คนไร้บ้านภูมิใจ กับการสุ่มพัฒนาสูตรนานนับ 2 ปี กับน้ำยาเอนกประสงค์จากน้ำหมักผลไม้สูตรเปรี้ยว มะนาว มะกรูด มะเฟือง และสับปะรด และผ่านการทดลองตลาดจากมิตรรักแฟนคลับคนไร้บ้านทั่วพระนครร่ำเปิง-โป่งน้อย พร้อมให้ทุกท่านได้จับจองทดลองใช้แล้ววันนี้ ที่ร้านสนิมทุน !!! ขวดใหญ่ขนาด 1.5 ลิตร ในราคาเพียง 45 บาท สามารถขจัดคราบ คราบไขมันจานชามหายมลายสิ้น พื้นผิวห้องน้ำใสวิ้ง ล้างรถเงาแว๊ปปป ซักผ้าสะอาดสดใสไม่เหม็นอับ”
“ผักไร้สารพิษเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน” กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่โฆษณาสรรพคุณน้ำยาอีเอ็มทำความสะอาดอเนกประสงค์ตัวใหม่และผักอินทรีย์ของกลุ่มฯที่วางขายอยู่ที่ร้านสนิททุน
เดชา จึงอุดมชัย หรือ โต้ง กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ และเป็นคนหนึ่งที่ใช้แรงไปกับการผลิตสินค้าของกลุ่ม เล่าว่า การทำน้ำยาอีเอ็ม และปลูกผักอินทรีย์ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการออมทรัพย์ และธนาคารคนไร้บ้าน(ที่กลุ่มตั้งขึ้นมา)
“เวลาเรานำเงินไปฝากกับเขา เขาต้องมีดอกเบี้ยให้เรา ซึ่งดอกเบี้ยเกิดจากการนำเงินไปทำอะไรให้เงินงอกมา เราปรึกษากันว่าจะทำอะไร มีคนเสนอทำเกษตร ทำน้ำยาอีเอ็มโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้สูตรธรรมชาติเอาพวกมะละกอ มะนาว มะกรูด มาหมักให้เป็นน้ำยา คนในกลุ่มเลยเลือกทำอินทรีย์กับน้ำยาอีเอ็มทำความสะอาดเอนกประสงค์”
“สูตรน้ำยาได้มาจากการไปอบรมกับวิทยากร เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพายัพ มาให้ความรู้ว่าควรทำแบบไหน ใช้อะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง”
โต้งเล่าอีกว่า ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีสถานที่ทำ ต้องทำในสถานที่จำกัด และต้องระดมความคิดกันว่าจะขายให้ใคร
“เราปลูกผักอยู่บนดาดฟ้าตึกที่เช่า โดยปลูกผักสวนครัวทั่วไป ส่วนน้ำยาก็ทำกันในตึก พอทำเสร็จก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าเราจะไปขายใคร ปรึกษากันได้เรื่องว่า เราจะทำใช้เองก่อน เช่น ใช้ซักผ้า ทำความสะอาด ล้างจาน เพื่อจะประหยัดค่าใช้จ่ายของคนในกลุ่ม วิธีการคือ ทำแล้วขายคนในกลุ่มราคาขวดละ 10-20 บาท เพื่อให้ได้ทุนและกำไรนิดหน่อยเพื่อต่อยอดออกไป ตอนแรกเราขายได้เฉพาะในกลุ่ม และบังเอิญว่ามีคนที่เคยทำงานร่วมกับเรา ช่วยนำสินค้าเราไปขายเวลามีงานประชุมต่างๆ นับแต่นั้นเราก็ผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วยังขายผ่านเครือข่าย”
ต่อมาเมื่อมีนักพัฒนาเอกชนแบ่งพื้นที่หนึ่งไร่ให้ทำการเกษตรที่อ.สันป่าตอง ก็ย้ายไปปลูกที่นั้น โดยผักที่ปลูกเป็นพวกพืชผักส่วนครัวทั่วไปเช่น พริก กระเพรา ผักกาดเขียว ถั่วฝักยาวฯลฯ
“เลือกผักพวกนี้เพราะเป็นผักที่กินเป็นประจำ ผักที่ปลูกยาก มีปัญหามากก็ไม่เอา พยายามเลือกผักที่มีศัตรูน้อยที่สุด ประกอบกับเราใช้น้ำหมักอีเอ็มบำรุง ป้องกันกันแมลง และทำให้ผักสวยงาม” พี่โต้งกล่าว
โต้งยังบอกอีกว่า ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะต้องออกมาเป็นภาพของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรถึงจะประหยัดต้นทุน พอวิทยากรที่อบรมมาบอกว่าทำแบบนี้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ดีต่อโลก จึงกลายเป็นว่า สิ่งที่พวกเขาทำ เขาทำเพื่อกลุ่มฯ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
“การทำแบบไร้สาร หรือปลูกผักแบบอินทรีย์ เริ่มจากความคิดว่าเราไปหาซื้อมะนาวที่ไม่สวยขายไม่ได้ มาหมักทำน้ำยาพอหมักเสร็จ กากที่เหลือก็นำไปทำปุ๋ย เวลาเราปลูกผักเราก็ต้องใช้ปุ๋ย ไปซื้อก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าเราทำเป็นวงจรเช่นนำกากที่หมักน้ำยามาทำเป็นปุ๋ยต่อก็จะช่วยลดต้นทุน จึงเป็นที่มาว่าตอนนี้กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ทำทั้งน้ำยาอีเอ็มทำความสะอาดเอนกประสงค์กับปลูกผักอินทรีย์เพราะเป็นการคิดที่ควบคู่กันไป”
นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ พูดถึงกิจกรรมนี้ว่า “เราเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า คนไร้บ้านจะต้องพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด”
“ตั้งแต่รวมกลุ่มมา เราได้รับเงินสนับสนุนจากพอช.มาโดยตลอด เราก็เอาเงินเหล่านั้นมาทำกิจกรรม และจัดสวัสดิการ มีการตั้งกองทุนสวัสดิการคนไร้บ้าน (สวัสดิการวันละบาท) เอาเงินสนับสนุนจากสี่ส่วน ตัวคนไร้บ้าน วันละบาท ร่วมกับกองทุนคนไร้บ้านเชียงใหม่ เครือข่ายคนไร้บ้านสลัม 4 ภาค และศูนย์คุ้มครองคนไร้บ้านสมทบวันละบาทต่อคน”
“เราคิดกิจกรรมทางการเกษตรไว้รองรับคนไร้บ้านที่อายุเยอะ เดินไม่ไหว การทำสวนก็จะเป็นสวนครัว งานเบาๆ โดยคนที่รับงานในนามกลุ่ม จะได้ค่าแรงวันละ 300 บาท”
ด้านโต้งรู้สึกว่า กิจกรรมนี้มันเพิ่มโอกาสให้พี่น้องคนไร้บ้านมีงานทำที่มากไปกว่าการเก็บของเก่า มีรายได้มากขึ้น “เรารู้สึกว่าเราทำตัวเป็นประโยชน์ขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เราเหมือนได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา”
“ในอนาคตอยากจะผลิตเพิ่มขึ้น แต่การจะผลิตเพิ่มขึ้นเราต้องหาความรู้ด้านการตลาด คือการหาสถานที่ขายสินค้าของเรา อีกสิ่งหนึ่งที่คิดไว้ คือตอนนี้กลุ่มเรารับซื้อขยะจากคนไร้บ้านเชียงใหม่ เราอาจใช้น้ำยาฯและผักแลกกับขยะที่ได้มา” โต้งกล่าวอย่างมุ่งมั่น
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ ตอนต่อไป “พี่โต้ง จากคนไร้บ้านสู่คนทำงานเพื่อสังคม”….