คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (4) เสียงอวยพรจากมิตร กับย่างก้าวสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่

ในวาระที่โครงการศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่กำลังดำเนิน พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไรกับย่างก้าวสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่……

โครงการศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยสนับสนุน ทั้งในเรื่องการช่วยแนะนำ วางแผน รวมถึงอุดหนุนงบประมาณที่ต้องใช้ในการจำลองโมเดลในการอยู่ด้วยกัน จนท้ายที่สุดได้มาซึ่งงบประมาณการสนับสนุนจากภาครัฐ สององค์กรที่มีบทบาทช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่อย่างมาก คือ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่าพอช.

ในวาระที่โครงการศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่กำลังดำเนิน พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไรกับย่างก้าวสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่……

 

โมเดลจำลองศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าย้อนถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบายขึ้นมาเสนอต่อรัฐบาลจนผ่านมติครม. และนำมาสู่การสร้างศูนย์ฯคนไร้บ้านว่า  “เป็นก้าวที่สำคัญ” เพราะพิสูจน์ว่าประชาชนคนจนมากๆ รวมตัวกันเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้นสามารถเป็นจริงได้ เป็นการแก้ปัญหาโดยภาคประชาชนเป็นหลักโดยมีรัฐเข้ามาสนับสนุน “เป็นทิศทางที่สำคัญ”

“ที่ผ่านมากการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน รัฐจะมองว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส แล้วจะใช้วิธีสนับสนุนช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ แต่อันนี้มันเป็นบทพิสูจน์ว่า ถึงแม้เขาจะจนมากๆ ดูแล้วอาจไร้ศักยภาพ แต่ถ้าเราทำงานกับเขาอย่างเต็มที่ เขาสามารถลุกขึ้นมาตั้งหลักสู้ จนแก้ปัญหาได้ แก้ปัญหาได้โดยเขาเป็นหลักได้จริงๆ โดยมีรัฐสนับสนุน แนวทางแบบนี้น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับการแก้ปัญหากลุ่มอื่นๆที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมามีรัฐเป็นผู้สนับสนุนเขา”

นพพรรณ พรหมศรี ร่วมเทปูนในพิธียกเสาเอกศูนย์ฯ

นพพรรณ เห็นว่า กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ต่อสู้กับตัวเอง พิสูจน์กับสังคมมาอย่างหนักหน่วงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และพวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองในระดับหนึ่งแล้วว่า “เขามีศักยภาพ”

“แนวทางการแก้ปัญหาคนไร้บ้านที่ดำเนินการมาจนถึงวันนี้ ได้พิสูจน์ตัวตนของคนไร้บ้านแล้ว เพราะสังคมมองว่าพวกเขาเป็นคนไร้ศักยภาพ ด้อยโอกาส เขาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขามีศักยภาพ แต่เดิมรัฐไม่เคยมองว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเองได้”

“ในด้านพื้นที่ทางสังคม มีพื้นที่ทางสังคมมากพอสมควร จากเดิมที่มองไม่เห็นตัวตนเขาเลย แต่ว่าวันนี้ตัวตนของเขาปรากฏในสังคมแล้ว คนรู้จัก หน่วยงานยอมรับ มีนโยบายสนับสนุน มีการร่วมกันขับเคลื่อน”

“เป็นความสำเร็จในการเปิดพื้นที่ให้คนไร้บ้านมีตัวตน และเปิดพื้นที่การแก้ปัญหาโดยชาวบ้านเป็นหลักขึ้นมา จากเดิมที่รัฐมองแค่ว่าคนกลุ่มนี้ต้องช่วยเหลือเยียวยาอย่างเดียวทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เขาพิสูจน์ว่าเขาลุกขึ้นมาทำอะไรได้จริง”

สมชาติ ภาระสุวรรณ กับนิทรรศการศูนย์ฯ

สมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มองว่า โครงการศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่จะกลายเป็นศูนย์กลางพักพิงทำให้พวกเขากลับเข้าสู่ชุมชนและสังคมได้อย่างมั่นใจ

“กลุ่มคนไร้บ้านเป็นกลุ่มที่คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเขาเป็นภัยต่อสังคม แต่เราเชื่อมั่นว่าคนเรามีศักยภาพและศักดิ์ศรี หากเขามีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง เขาก็จะใช้โอกาสนั้นพัฒนาศักยภาพตัวเองในทุกๆด้าน จากประสบการณ์ทำงานพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา ก็เชื่อมั่นว่า ความเข็มแข็งของพวกเขาตั้งแต่ภาวะจิตใจ การรวมกลุ่ม การมีบ้านที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ เป็นจุดที่จะทำให้พวกเขากลับเข้าสู่ชุมชนและสังคมได้อย่างมั่นใจ”

“ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น  เชื่อว่าการพัฒนาต้องไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง แม้สังคมจะเดินหน้าไปเป็น4.0 แต่ว่ารากฐานการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดคือ ฐานของชุมชนและสังคมของประเทศเรา ดังนั้น คนเหล่านี้ต้องเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา”

สมชาติ เห็นว่า ก้าวย่างสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ทำให้ได้เรียนรู้และใช้บทเรียนในการวางแผนการพัฒนาการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในอนาคตได้

“แผนการพัฒนาคนไร้บ้าน พอช.ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงคนไร้บ้านที่รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายทั้งหมดสี่ภาค ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างที่เชียงใหม่ พบว่า ทางพมจ.จังหวัด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในองค์กรเดียวกันให้ความร่วมมืออย่างดี ดังนั้นกลุ่มคนเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในสังคม ทางพอช.ก็จะมาช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการตัวเองได้ในเบื้องต้น รวมไปถึงแผนต่อเนื่องในระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในอนาคตข้างหน้าเมืองต่างๆจะเจริญเติบโตมากขึ้น”

“บทเรียนที่เราได้จากการพัฒนาศูนย์คนไร้บ้านจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการพัฒนาการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในอนาคตได้”

 

อ่านคนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (3) ความรู้สึกของป้าอ้วน หลังมี “บ้าน” แห่งใหม่

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (2) “ โต้ง จากคนไร้บ้านสู่คนทำงานพัฒนา”

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์: เปิดตัวน้ำยาอีเอ็ม -ผักอินทรีย์ ฝีมือคนไร้บ้านเชียงใหม่