“เราพยายามนำสิ่งที่เขาเล่า ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้ทุกคนเห็น ว่าเขาไม่ใช่คนที่เอาแต่นอนอย่างเดียวนะ”
หากใครได้ไปร่วมงาน “HUMAN OF STREET Season 2 (Greeting For the Homeless)” ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ณ พิพิธบางลำพู คงจะสะดุดตากับนิทรรศการที่ถูกจัดวางภายในงาน ได้แก่ “สกรีนลายเสื้อ” “เรื่องเล่าริมทาง” และ “Homeless Experience” แม้ตัวนิทรรศการจะดูไม่หวือหวา แต่แฝงด้วยนัยและความหมาย กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้ลงไปสัมผัสกับคนไร้บ้านเป็นระยะเวลากว่าหกเดือน
นิทรรศการทั้งสามชุดนี้ เกิดขึ้นจากการที่นิสิตมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมเวทีอบรม Homeless Creative Lab ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานสื่อสาร เปิดไอเดีย ปรับมุมมอง เปลี่ยนโลกความเข้าใจ ในประเด็น “คนไร้บ้าน”
สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากตัวงานที่พวกเขานำเสนอ คือ คำถามที่ว่า ไอเดียเบื้องหลังของงานศิลปะสามชุดนี้ คืออะไร เรื่องราว และประสบการณ์อันใดที่บันดาลใจให้พวกเขาสื่อสารประเด็น “เรื่องคนไร้บ้าน” ในแนวทางเช่นนั้น
งานแสดงภาพถ่ายในกรอบของอินสตาแกรม ซึ่งเป็นงานของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกันทำ โดยบอกเล่าเรื่องราวของคนไร้บ้านผ่านภาพถ่ายที่พวกเขาได้ไปลงพื้นที่มา ภายใต้แนวคิดที่ว่า “เขากับเราเท่ากัน” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้คนร่วมงานได้ติดสติ๊กเกอร์รูปหัวใจเหมือนที่ทำในอินสตาแกรมด้วย
วิภาภรณ์ สุภาพรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนกล่ม เล่าว่า เธอและเพื่อนๆ ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันระหว่าง คนไร้บ้านกับพวกเราที่เป็นคนทั่วไป มีสิทธิเหมือนกัน แต่ในขณะที่เราเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการบางอย่าง คนไร้บ้านเองยังเข้าไม่ถึง
“คนไร้บ้านยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการหลายอย่าง เช่น สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล เราไปโรงพยาบาลบางครั้งยังได้ยาพารามา เขาก็เหมือนกับเราเวลาป่วยต้องการยา แต่เขาไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะไปหาหมอ หรือไปโรงพยาบาลเองได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เขาเข้าไม่ถึง ยิ่งมีนโยบายบัตรคนจนมา พวกพี่ๆ(คนไร้บ้าน)เขาเข้าไม่ถึง เขาไม่มีเอกสารไปยืนยัน ก็ไม่สามารถมีบัตรคนจนได้”
นิสิตจากศิลปากรยังเล่าต่อไปว่า ก่อนจะตัดสินใจนำเสนองานในรูปแบบนี้ ได้ไปลงพื้นที่มาหลายครั้งสองครั้งแรกยังรู้สึกประหม่าไม่กล้าคุย แต่หลังจากนั้นก็เริ่มรู้จักคนไร้บ้านมากขึ้น
“ก่อนที่จะเข้าร่วมเวิร์กชอป เราไปลงพื้นที่กันมาสองครั้ง เพื่อไปดูว่าเขามีวิถีชีวิตอย่างไรใช้ชีวิตอย่างไร แต่ตอนนั้นเราไม่กล้าเข้าไปสัมภาษณ์เลย หลังจากเข้าร่วมอบรม เริ่มรู้จักคนไร้บ้านมากขึ้น เริ่มถาม กล้าคุย มากขึ้น เริ่มสัมภาษณ์ สอบถามเขาถึงการใช้ชีวิตประจำวันของเขาว่า เขาทำอะไรกันบ้าง กินข้าวอย่างไร อาบน้ำอย่างไร หลังจากนั้นทำอะไร ทำอาชีพอะไรบ้าง”
“เราพยายามนำสิ่งที่เขาเล่า ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้ทุกคนเห็น ว่าเขาไม่ใช่คนที่เอาแต่นอนอย่างเดียวนะ เขามีงานทำ ไม่เชิงถึงขั้นรื้อมายาคติ แต่เริ่มจากความเข้าใจตรงนี้ จากนั้นเรามาคิดต่อว่าจะนำเสนออย่างไรให้เข้าถึงคนทั่วไป จึงเป็นที่มาของการเอารูปมาใส่ในเฟรมของอินสตาแกรม เหตุผลคือ คนอย่างเราเล่นอินตราแกรมทุกวัน เวลาเราอยากจะนำเสนอไลฟ์สไตล์ หรืออะไรที่เราชอบ เราก็จะบอกเล่าผ่านอินตาแกรม จึงเกิดไอเดียว่า ลองเอาชีวิตของพวกพี่ๆ เขา มาใส่ในแบบอินสตาแกรมของเรา เพื่อดูว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร”
เธอยังเล่าอีกว่า แม้จะลงพื้นที่ไปจุดเดียวกัน แต่มุมมองภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกันแน่นอน เมื่อได้ภาพมาก็จะมาคัดเลือกภาพกัน มีอาจารย์ช่วยเลือกด้วย โดยมีจุดเลือกคือ ภาพไหนสะท้อนวิถีชีวิตเขาได้มากที่สุด
กลุ่มนิสิตศิลปากรไม่ได้หวังว่า งานที่จัดแสดงจะรื้อมายาคติของคนไร้บ้าน หากแต่แค่ช่วยให้เกิดการกระทบใจก็เพียงพอแล้ว
“เราจะดีใจมากถ้างานแสดงภาพอันนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อใจคน เขาเข้าใจอย่างที่เราตั้งใจไว้ คือ ทุกคนเห็นว่าเขาก็เหมือนเรา เขาเท่ากับเรา อาจจะไม่ต้องรู้สึกตอนนี้ แต่อย่างน้อยเขารู้สึกไปกับเราว่า เขาก็เหมือนกับเรา”
พร้อมกันนั้นพวกเขายังเชื่อว่า ประสบการณ์ในการลงไปสัมผัสพูดคุยกับคนไร้บ้าน จะช่วยเปลี่ยนมุมมองของคน เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขา
“ตอนแรกเราแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มว่า พวกเรารู้สึกอย่างไรกับคนไร้บ้าน ทุกคนมองว่าคนไร้บ้านเป็นปัญหา เป็นปัญหาที่แก้ไม่หมดสักที ยังมองเขาว่าเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของสังคม แต่หลังจากได้เข้าไปคุยกับคนไร้บ้านมุมมองเราก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปในแง่ที่ว่า เราก็มีจุดๆ หนึ่งที่เหมือนกับเขา เราไปเจอมุมอีกมุมหนึ่งที่ไม่เหมือนมายาคติที่เรารู้สึก หรือรับรู้มา เราได้ไปนั่งคุยกับเขา ได้ไปสัมผัสกับชีวิตที่เขาอยู่ มันไม่ใช่ ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิด จากที่เราตั้งคำถามกับพวกเขา เรากลับตั้งคำถามกับคนที่มีอำนาจจัดการไปเลย ว่าทำไมปล่อยให้เป็นแบบนี้”
ติดตามอ่านตอน “-“ “0” จากเครื่องหมายเลขนำบนบัตรประชาชน สู่ลายสกรีนบนเสื้อยืด และ เมื่อเรื่องเล่าข้างถนน ถูกนำมาจัดวางทางศิลปะ ในงาน Human of street SS 2 ได้ที่ https://penguinhomeless.com