ไร้บ้านไม่ไร้ราก เมื่อเราอยู่ร่วมกันบนเครือข่ายทางสังคม

เมืองเป็นของใครกันแน่?

ภาพการจัดการปัญหาในความคิดของใครหลายคนอาจเป็นการสร้างที่พักชั่วคราว มีปัญหาก็ใช้ตำรวจจัดการไป แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาของคนไร้บ้าน ไม่ใช่แค่การมี “ที่อยู่อาศัย” จัดที่ทางให้คนเหล่านี้อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่หมายถึงการมี “บ้าน” ในความหมายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนั้นด้วย การบังคับใช้เพียงกฎหมายเพื่อจัดการก็ยังคงไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่าไรนัก

จากรายงานของ The New York Times ตัวอย่างจากเมืองซีแอตเทิล ในสหรัฐอเมริกา เครือข่ายในเมืองทั้งกิจการร้านค้า กลุ่มเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ตำรวจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้ร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเรื่องคนไร้บ้าน โดยมีองค์กร Law Enforcement Assisted Diversion (LEAD) เป็นตัวกลางในการประสานทั้งจากการทำงานตำรวจ และอัยการ ให้เกิดแนวทางในการจัดการคนไร้บ้านด้วยวิธีการอื่นที่นอกเหนือไปจากการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การจับ สั่งปรับ บำบัด หรือขังคุก ทางเลือกใหม่ที่ว่าเน้นปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นการให้บริการเชิงบวก เช่น การส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่ดี

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 หลายคนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ทั้งเจ้าของกิจการท้องถิ่น และคนไร้บ้าน ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เช่นกัน เกิดเป็นองค์กร JustCare ที่ทำงานกับแคมป์กลุ่มคนไร้บ้าน และกิจการท้องถิ่น เช่น ที่พักอาศัย โรงแรม ที่พร้อมเปิดรับกลุ่มคนไร้บ้านเข้าพักอาศัย

โจทย์การทำงานที่สำคัญของ JustCare มุ่งสร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไร้บ้านผ่านการสร้างความเชื่อใจ เห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นระหว่างกัน ผ่านการช่วยเหลือด้านความต้องการพื้นฐาน วิกฤติโควิด-19 จึงถูกผลิกให้กลายเป็นโอกาส จากความพยายามที่จะเชื่อมสายใยระหว่างคนสองกลุ่มในสังคมเข้าด้วยกัน เริ่มจากการเข้าไปทำงานร่วมกับแคมป์กลุ่มคนไร้บ้านตามที่ได้รับรายงานเข้ามา ซึ่งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่จะใช้ตำรวจและกฎหมายเข้าไปจัดการเรื่องนี้ JustCare ใช้วิธีการจัดการเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐาน เช่น อาหาร นำยา ควบคู่ไปกับการเข้าไปทำความสะอาดแคมป์ให้กับกลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้สร้างความเชื่อใจและรู้สึกปลอดภัยให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน และตอบสนองให้คนไร้บ้านใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น นำไปสู่การจับมือกับกิจการท้องถิ่น เพื่อให้คนไร้บ้านเหล่านี้ได้มีที่อยู่กึ่งถาวร สร้างให้เกิด “บ้าน” ในแง่ความเป็นชุมชนและการรวมกลุ่ม

 ผลที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2020 และฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา JustCare สามารถปิดแคมป์คนไร้บ้าน 14 แห่ง และจัดที่พักให้คนไร้บ้านกว่า 400 คนในโรงแรมและที่พักอื่นๆ และยังคงมีปริมาณกลุ่มคนไร้บ้านที่สามารถหาที่อยู่อาศัยถาวรได้มากขึ้นเรื่อยๆ

บ้านในความต้องการของคนไร้บ้านจึงอาจไม่ใช่การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่หมายถึงการมีอิสระและความปลอดภัยทางจิตใจ โดยยังคงไว้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และที่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า การบังคับกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ชุมชนและความร่วมมือระหว่างกันอาจ คือ ทางออกที่ดีกว่าในฐานะที่เมืองเป็นเรื่องของทุกคน

ที่มา : Something Better Than a Tent for the Homeless, The New York Times