ชวนอ่านหนังสือ “คนไร้บ้าน การเดินทางสู่ความโดดเดี่ยว” เขียนโดย อัจฉรา รักยุติธรรม
และแล้วหนังสือที่พูดถึงคนไร้บ้านอีกเล่มหนึ่งก็ถูกตีพิมพ์ แม้ว่ามันจะพูดถึง “คนไร้บ้าน” แต่น้ำเสียงของการเล่าและพูดถึงคนไร้บ้านนั้นมีความแตกต่างจากงานเขียนชิ้นอื่นที่เคยผ่านตาตามขนบการเขียนที่เราคุ้นชิน เช่น งานในเชิงวิชาการ งานสื่อสารเชิงข่าวหรือบทความ เป็นต้น
งานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “ประสบการณ์และมุมมองของผู้ศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของคนไร้บ้าน” ซึ่งแม้ผู้เขียนจะเป็นนักวิชาการ แต่ภาษาและลีลาการเขียนกับไหลลื่นราวกับนักเขียนเรื่องสั้น
“ “คนไร้บ้าน” (Homeless) เป็นคำค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย แต่การไร้บ้านเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน คนไร้บ้านมักถูกมองเป็น “คนอื่น” (the others) ของสังคม ถูกคนทั่วไปดูแคลน รังเกียจเดียดฉันท์ ถูกเบียดขับจาการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานที่พลเมืองพึงมีพึงได้ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาต่าง ๆ ของคนไร้บ้านเป็นปัญหาร่วมของผู้คนอีกมากมายในสังคม” ผู้เขียนระบุไว้ในคำนำ
“งานศึกษาครั้งนี้เป็นการรวบรวมเรื่องเล่าของคนไร้บ้าน ผ่านประสบการณ์และมุมมองของผู้ศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าห้าปี ผู้เขียนมีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจใกล้เคียงกันกับผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสื่อสารครั้งนี้ การมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับเรื่องราวชีวิตของคนไร้บ้าน ทำให้ผู้เขียนพบว่าในวิถีชีวิต ปัญหา และอารมณ์ความรู้สึกของคนไร้บ้านนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างไม่แตกต่างกับสถานการณ์ที่ผู้เขียนเผชิญอยู่ ความต้องการกำหนดทางเดินชีวิตของตนเองที่เป็นอิสระจากการกำกับควบคุมของผู้อื่น จารีตประเพณี และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ความรู้สึกแปลกแยกจากครอบครัวและชุมชนของตนเอง และการพยายามหนีปัญหาหรือไปให้พ้นจากสถานการณ์ตรงหน้า ด้วยการออกไปใช้ชีวิตลำพังท่ามกลางคนแปลกหน้า ดีกว่าการเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางญาติสนิทมิตรสหายที่คุ้นเคย”
“เรื่องราวของคนไร้บ้านดูราวกับเป็นเรื่องเชิงปัจเจกของผู้คนโดยทั่วไป แต่หากพิจารณาให้กันอย่างลึกซึ้งแล้ว สถานการณ์และปัญหาล้วนเกี่ยวพันกับความบกพร่องในระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะการมีโอกาสอันจำกัดสำหรับผู้คนที่เผชิญแรงบีบคั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ จนทำให้ตีบตันทางเลือกในการดำเนินชีวิต ปัญหาเกือบทั้งหมดจึงเป็นปัญหาร่วมของทั้ง “พวกเขา” และ “พวกเรา” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมเดียวกัน”
เรื่องราวในหนังสือได้ถูกแบ่งออกเป็นตอนๆ รวม 17 เรื่อง ได้แก่
1 ไร้บ้านไม่ไร้หัวใจ
2 นักเดินทางไกลไร้บ้าน
3 พื้นที่สาธารณะสำหรับคนไร้ที่พึ่ง
4 ไร้บ้าน ไม่ไร้อาชีพ
5 ความรักของคนไร้บ้าน
6 ความจริงตรงหน้ากับอนาคตที่ใฝ่ฝัน
7 วันสงกรานต์ และความหมายของ “บ้าน” ที่ไม่เหมือนกัน
8 ความเหงาของคนไร้บ้าน
9 ยามล้มหมอนนอนเสื่อ
10 การรอคอยที่ไม่มีวันสิ้นสุด
11 ไร้บ้านตราบจนไร้วิญญาณ
12 ประชาชนล่องหน
13 แบบอย่าง “ความสำเร็จ”
14 ครอบครัวไม่ใช่คำตอบ
15 คน (ไม่) ปกติในสังคมป่วย ๆ
16 ชุมชนใหม่ ชีวิตใหม่
17 เรื่องเล่าของ “คนอื่น” ในสังคมเดียวกัน
“ด้วยสีสันในการเล่าเรื่องเบื้องหลังภาพชีวิตของผู้คนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนก็ค่อยๆ ช่วยฉายให้ผู้อื่นมองเห็นและเข้าใจโยงใยชีวิตของคนชายขอบกลุ่มนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น แม้พวกเขาจะไร้บ้าน แต่ก็ไม่ได้ไร้ความเป็นผู้เป็นคนไปเสียทั้งหมด ที่จริงพวกเขาก็ไม่ได้ต่างจากคนอื่นๆ” ศ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งหนังสือได้ที่ atchara.rak@gmail.com โดยสามารถบริจาคสบทบเงินกองทุนได้ตามสมัครใจ
ชื่อบัญชี “เครือข่ายคนไร้บ้าน” ธ.กรุงไทย 483-0-20798-1
หมายเหตุผู้เขียนหนังสือ – ผศ. ดร. อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร