28 พ.ค. 64 – สำนักข่าวการ์เดี้ยนรายงานว่า เมืองไบรอน (Byron) เมืองริมชายหาดแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย กำลังประสบปัญหาราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้คนทั่วไปไม่อาจแบกรับภาระค่าที่อยู่อาศัย และสูญเสียที่อยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ในฐานะเมืองตากอากาศ เมืองไบรอนรองรับนักท่องเที่ยวถึง 2.2 ล้านคนต่อไป ในจำนวนที่พักอาศัย 15,000 แห่งในเมืองไบรอน มีที่พักอาศัยซึ่งจดทะเบียนกับ Airbnb มากถึง 3,500 แห่งดาราและมหาเศรษฐีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คริส เฮมส์เวิร์ธ แซ็ค เอฟรอน และ แมตต์ เดมอน ต่างจับจ้องที่พักอาศัยที่อยู่ใกล้เมืองนี้ มีรายงานว่า จัสติน เฮมส์ (Justin Hemmes) นักธุรกิจพันล้านในอุตสาหกรรมการบริการ ได้ซื้อกิจการของผับแห่งหนึ่งในเมืองไบรอนในราคา 13 ล้านดอลลาร์
ความนิยมในเมืองไบรอนเบย์พุ่งสูงขึ้น จนถึงจุดที่อัตราว่างในตลาดที่อยู่อาศัยลดเหลือเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ตามความคิดเห็นของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์อย่าง แอลลี่ เพจ (Alli Page) ที่ผ่านมา ทุนทรัพย์ได้หลั่งไหลเข้ามาในเมืองไบรอนอย่างเห็นได้ชัด และนับตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้พุ่งสูงขึ้น “อย่างระเบิดระเบ้อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยพบมาก่อนนับตั้งแต่ทำงานนี้
นอกจากนี้ ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยของเมืองแห่งนี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ธ.ค. ปี 2563 ราคาค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 ในขณะที่ราคาค่าเช่าบ้านพักขยับขึ้นอีกร้อยละ 66 และในรอบปีนั้นเอง ราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 37 ซึ่งประจวบกับช่วงเวลาที่คนเริ่มออกจากเมืองที่อาศัยอยู่เพื่อทำงานทางไกล
ในขณะที่ภาพของรถแบรนด์หรูหราที่วิ่งในเมืองเริ่มพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2561 จำนวนผู้ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนในเมืองไบรอนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเป็นตัวเลขมากถึงร้อยละ 37 อย่างไรก็ตาม ศูนย์ที่ให้การบริการสนับสนุนคนไร้บ้านในเมืองไบรอนกลับมีอยู่เพียงที่เดียวเท่านั้น นั่นคือ ศูนย์ชุมชนไบรอน (Byron Community Centre) นอกจากนี้เอง หลุยส์ โอ’คอนเนล (Louise O’Connell) กรรมการผู้จัดการศูนย์ชุมชน ยังระบุว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมด้านที่อยู่อาศัยมากเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้หญิงมักได้รับค่าจ้างตอบแทนที่น้อยกว่าผู้ชาย ทำให้มีเงินเก็บและเงินเกษียณบำนาญที่น้อยกว่าปรกติ
ในออสเตรเลีย มีรายงานว่า ร้อยละ 37 ของครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวอยู่ในภาวะยากจน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวถึง 2 เท่า ในขณะเดียวกันเอง เจ้าหน้าที่ตร.ได้ประเมินว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 400 คนหรือมากกว่านั้นที่อาศัยอยู่ในเต๊นท์หรือรถ สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตร.ไม่อาจระบุตัวเลขได้แน่ชัดนั้น เนื่องจากผู้หญิงหวาดกลัวว่าจะเสียสิทธิในการเลี้ยงดูลูกไป หากเปิดเผยสถานะไร้บ้านของตน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่อยู่อาศัยที่น่ากังวล ในปี 2563 ซามา บาลซัน (Sama Balson) ได้สร้างเครือข่ายให้การสนับสนุนผู้ประสบภัยความเหลื่อมล้ำและกลุ่มนักกิจกรรมภายใต้นาม “กลุ่มหมู่บ้านผู้หญิง” (Women’s Village Collective) สำหรับซามา การอยู่ในรถหมายถึงการใช้เวลาส่วนใหญ่ครุ่นคิดว่าจะอาบน้ำตรงไหน จะกินข้าวอย่างไร จะไปห้องน้ำที่ไหน จะจอดตรงไหนไม่ให้โดนไล่หรือคุกคาม “คุณกำลังอยู่ในโหมดเอาชีวิตรอด” บาลซันระบุ
ตลอดช่วงฤดูร้อน สภาเทศบาลมักจะเข้าไปตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่นอนค้างในรถตู้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ในปีนี้ คณะทำงานของสภาเทศบาลกลับพบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในรถคือชาวเมืองที่พวกเขาต่างรู้จักกัน บางคนเป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ แต่ก็ไม่สามารถออกไปอาศัยที่อื่นได้เช่นกัน เนื่องจากถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร
เมื่อพิจารณาถึงประวัติการพักอาศัย คนไร้บ้านจำนวนมากในเมืองไบรอนเองก็เพิ่งประสบปัญหาไร้บ้านเป็นครั้งแรก ๆ คาสซานดรา เชพเพิร์ด (Cassandra Sheppard) หญิงอายุ 47 ปี เปิดเผยว่าตนย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้เพื่ออาศัยอยู่กับคนรักเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อความสัมพันธ์จบลง เธอจึงย้ายออกมาอยู่กับลูกสาว แต่ไม่กี่เดือนหลังจากย้ายที่อยู่อาศัย เจ้าของที่พักได้เพิ่มค่าเช่าเป็น 200 ดอลล่าร์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่เธอจะแบกรับไหว
ในปีนั้นเอง คาสซานดราจึงต้องใช้ชีวิตแบบ “ย้ายออก เก็บของ เอาของออกมาจัด ทำความสะอาด นั่งกังวล ไล่ล่าหาบ้าน” ซ้ำไปซ้ำมาถึง 6 ครั้ง เธอเจอทั้งการขายที่พักโดยไม่บอกกล่าวและการขึ้นราคาที่พักเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าเงินเดือนของเธอเสียอีก และแม้ว่าเธอและลูกสาวจะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแล้ว แต่ค่าเช่าที่พักของเธอนั้นสูงถึง 2 ใน 3 ของเงินเดือนเธอ แต่คาสซานดราไม่อาจย้ายออกไปอยู่ที่อื่นได้ เนื่องจากชุมชนที่นั่นกลายเป็นบ้านของลูกสาวของเธอ และผู้คนที่นั่นเองก็คือคนของลูกสาวเช่นกัน
สำหรับ ไมเคิล ไลออนส์ (Michael Lyons) รักษาการนายกเทศมนตรีเมืองไบรอน เห็นว่านี่คือ “วิกฤติที่วิบัติที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในเมืองไบรอน” โดยผู้คนจำเป็นต้องสละอย่างน้อยร้อยละ 30 ของเงินเดือนตัวเองให้กับค่าที่พักอาศัย และโดยมากแล้ว ค่าที่พักอาศัยในเมืองนี้มักสูงจนคนต้องใช้ร้อยละ 50 ของเงินเดือนไปกับการแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ ไลออนส์เชื่อว่านอกจากเหล่าคนดังที่พากันเข้ามาเปลี่ยนให้เมืองเป็นที่พักของคนรวย
ตัวการของค่าที่พักที่สูงลิบลิ่วนั้นคือธุรกิจ Airbnb การหลั่งไหลเข้ามาของประชากรที่สามารถทำงานทางไกลได้ รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นการซื้อบ้านหลังที่ 2 ของรัฐบาลกลาง โดยบริษัท CoreLogic รายงานว่า ในปี 2563 ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเขตภูมิภาคของออสเตรเลียพุ่งแซงเมืองใหญ่ ๆ ไปถึง 4 เท่า เพื่อบรรเทาปัญหาที่อยู่อาศัย สภาเทศบาลเมืองไบรอนจึงกำลังจัดทำข้อเสนอให้จำกัดวันเช่าห้องพักเครือ Airbnb สูงสุด 90 วันต่อปี เพื่อทำให้การปล่อยที่พักอาศัยสำหรับระยะยาวกลับมาเป็นที่ต้องการของบรรดาเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยได้เกิดขึ้นมามากกว่า 30 ปีแล้ว โดยจอห์น แมคเคนนา (John McKenna) ประธานกรรมการบริหารหน่วยงานบ้านพักชุมชนนอร์ธโคสต์ (North Coast Community Housing) ระบุว่าสาเหตุมาจากความเพิกเฉยไม่สนใจปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้อัตราว่างในตลาดที่พักเหลือน้อย กลายเป็นการให้อำนาจกับเจ้าของที่ดินจนหมด ณ ปัจจุบัน หน่วยงานบ้านพักชุมชนนอร์ธโคสต์ได้จัดหาที่พักสำหรับคนรายได้น้อยพิเศษจนถึงคนรายได้ปานกลาง โดยผู้เช่าที่พักจะจ่ายค่าเช่าด้วยร้อยละ 25 ของเงินเดือนตน และรัฐจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น แต่เนื่องจากมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 3,200 คน นั่นหมายความว่าคนอาจจะต้องรอโอกาสไปอีกอย่างน้อย 5 – 10 ปี แมคเคนนาเชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้ต่อเมื่อสร้างบ้านพักสำหรับคนรายได้น้อยปีละอย่างน้อย 250 หลัง เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 10 ปี ถึงกระนั้น สภาเทศบาลกลับเสนอให้สร้างบ้านที่มีขนาด 25 ตารางเมตรแทน
ในส่วนของภาคเอกชน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นอย่าง แบรนดอน ซอล (Brandon Saul) ได้พยายามแก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยระยะยาวด้วยการสร้างอพาร์ทเมนท์ “ขนาดจิ๋ว” ซึ่งมีขนาด 45 ตารางเมตร จำนวน 60 ยูนิท แต่ภายใน 2 อาทิตย์หลังจากเปิดตัวโครงการ ทุกยูนิทได้ถูกจับจอง บางยูนิทถูกขายทอดตลาดต่อด้วยราคาที่สูงถึง 1.3 ล้านดอลล่าร์
ที่มา: Hollywood and homelessness: the two sides of Byron Bay – The Guardian