เมื่อแคลิฟอร์เนียเปลี่ยมโฉมโรงแรมให้เป็นบ้านสำหรับคนไร้บ้านในช่วงโควิด

ผู้ว่าแคลิฟอร์เนียและรัฐบาลกลางสหรัฐร่วมมือกันอัดฉีดงบประมาณให้มาตรการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน เปลี่ยมโฉมโรงแรมเป็นที่พักอุปถัมภ์ถาวร เหตุโควิดระบาดหนัก อาจพรากชีวิตคนไร้บ้านจำนวนมากได้ 

Hotel Diva มีขนาด 7 ชั้น 130 ห้อง ที่ถูกใช้เป็นที่พักสำหรับคนไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ
(ที่มาภาพ: The New York Times)

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ตีพิมพ์บทความสำรวจชีวิตของ “Gregory Sanchez” คนไร้บ้านในซานฟรานซิสโก และประสบการณ์การใช้ชีวิตใน “Hotel Diva” ซึ่งคือหนึ่งในโรงแรมที่กลายมาเป็นบ้านพักของคนไร้บ้านในช่วงวิกฤติโรคระบาด

ก่อนจะกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ซานเชสอยู่กับความเหลื่อนล้ำด้านที่อยู่อาศัยตั้งแต่เกิด เขาโตมาในที่พักสำหรับคนรายได้น้อย ซึ่งเรียกว่า “Valencia Gardens” ย่านที่เขาพักอาศัยเองได้รับผลกระทบจากกระบวนการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ของคนรายได้น้อย (gentrification) อย่างต่อเนื่อง ร้านที่เขาเคยคุ้นเคยและใช้ชีวิตด้วยต่างทะยอยปิดตัวไป และเผยโฉมใหม่ในฐานะร้านกาแฟสำหรับกลุ่มชนชั้นกลางแทน Sanchez มีเหตุต้องออกจากบ้านเนื่องจากพี่ชายของเขาถูกฆาตกรรมในระหว่างการขายยาเสพติด หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาไม่มีรายได้และที่อยู่อาศัยถาวร ต้องคอยอาศัยบ้านของคนรักหรือคู่นอนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนชักชวนให้เขาลองกางเต๊นท์ เขาจึงปักหลักอยู่ที่เขต Mission เป็นเวลา 6 เดือน จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่รัฐมารับตัวไปพักที่ Hotel Diva 

จากการวิจัย พบว่าที่พักอาศัยทำให้คนไร้บ้านสุขภาพดีขึ้นทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับ การดูแลสุขอนามัย ความสม่ำเสมอในการไปหาหมอ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทัศนคติในการใช้ชีวิต คิดหาหนทางต่อไป ชีวิตของ Sanchze กำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน เขาร้องไห้เมื่อกล่าวถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และย้ำว่ารู้สึกดีที่ “ได้อาบน้ำ โกนหนวด และอื่น ๆ”

สำหรับ Hotel Diva แต่เดิมโรงแรมนี้ชื่อว่า “the Somerton” และเริ่มต้นกิจการด้วยการให้คนรายได้น้อยเช่าห้องเตียงเดี่ยวขนาดเล็กในราคาจับต้องได้ แต่เมื่อธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลเบ่งบานในซานฟรานซิสโกในทศวรรษที่ 1970s โรงแรมที่ให้เช่าห้องพักรายเดือนต้องเผชิญหน้ากับกระแสโรงแรมสไตล์บูติค เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์นาม Frank Lembi เองได้พยายามเข้ามาซื้อ the Somerton โดยหวังว่าจะเปลี่ยนโรงแรม/ห้องเช่าให้กลายเป็นโรงแรมที่รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว

ด้วยความกังวลว่าตนจะสูญเสียที่พักอาศัย กอปรกับอดีตของ Frank Lembi ซึ่งโยงใยกับการข่มขู่ไล่ผู้เช่าออกจากอาคารที่ควบคุมค่าเช่า (rent-controlled building) ผู้เช่าระยะยาวที่ the Somerton จึงออกมาต่อต้านทั้งโครงการพัฒนาโรงแรม ทั้งกระแสการพัฒนาที่ดินที่พัดผ่านพื้นที่ของตนโดยรอบ ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายตกลงเจรจากัน ภายหลังลูกสาวของ Lembi นาม Yvonne Detert ได้เข้ามาบริหาร the Somerton  และเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็น Hotel Diva

Hotel Diva กลายมาเป็นบ้านของ Sanchez ได้ เนื่องจากโครงการ “Homekey” ซึ่งเริ่มต้นในปี 2563 ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมี.ค. 2563 รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเล็งเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิดอาจคร่าชีวิตคนไร้บ้านในแต่ละรัฐได้ถึง 25,000 คน โดยเฉพาะคนไร้บ้านจำนวนที่สูงอายุและมีปัญหาสุขภาพ นาย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจึงคิด “Project Roomkey” หรือโครงการเช่าห้องพักให้กับคนไร้บ้านที่แก่และมีปัญหาสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจาก “Federal Emergency Management Agency”

ที่ผ่านมา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยของแคลิฟอร์เนียนมีแนวโน้มย่ำแย่ลงอย่างเป็นลำดับ ในปีที่แล้ว จำนวนคนไร้บ้านได้พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 40 หรือประมาณ 113,000 คน เมื่อรวมกับสถานการณ์การแพร่บาดที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ รับบาลท้องถิ่นจึงเปลี่ยนโครงการเช่าห้องให้เป็นโครงการซื้อห้องพักของเอกชน เพื่อพัฒนาเป็น “ที่พักอุปถัมภ์ถาวร” (permanent supportive housing) โดยที่พักประเภทนี้มีเป้าหมายช่วยให้ผู้คนมั่นคงกับชีวิตมากขึ้น โดยให้การสนับสนุนทางด้านที่อยู่อาศัย การจัดหางาน และการให้คำปรึกษา เพื่อที่คนจะได้ก้าวต่อไปในชีวิต

ในเดือนมิ.ย. 2563 สภานิติบัญญัติได้ให้การรองรับโครงการ “Homekey” หรือโครงการจัดซื้อห้องพักและเปลี่ยนสภาพเป็นที่พักอุปถัมภ์ถาวรสำหรับคนไร้บ้าน โครงการนี้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านด้านกฎหมายควบคุมการสร้างที่พักอาศัยอันเข้มงวดอย่าง “Environmental Quality Act” และรับเงินสนับสนุนเพิ่มอีก 10 ล้านล้านดอลล่าร์ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลแคลิฟอร์เนียจึงเข้าซื้อห้องพักจากโรงแรม ที่ว่างใน “strip mall” หรือย่านการค้าที่มีร้านต่าง ๆ เรียงติดกันพร้อมที่จอดรถข้างหน้า  และโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ 

ณ ปัจจุบัน ทางรัฐบาลท้องถิ่นได้ใช้งบประมาณ 800 ล้านดอลล่าร์ไปกับที่พักอุปถัมภ์ถาวรทั้งสิ้น 94 โครงการ หรือที่พักอาศัยจำนวน 6,000 ยูนิทโดยประมาณ ในขณะที่จำนวนที่พักอุปถัมภ์ถาวรในยามปรกติเกิดขึ้นเพียง 2,000 ยูนิทต่อปี Newsom กล่าวว่าโครงการนี้ช่วยให้ “ทำในสิ่งที่อาจจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปี แทนที่จะเป็นสิบยี่สิบปี” และหากรัฐบาลท้องถิ่นได้รับงบประมาณมากพอ ภายในระยะเวลา 2 – 3 ปี ที่พักอุปถัมภ์ถาวรอาจเพิ่มถึง 50,000 – 100,000 ห้อง รวมไปถึงจำนวนของที่พักซึ่งมีบริการทางสังคมอยู่ภายในตัวด้วย ณ ปัจจุบัน Newsom ได้ร้องของงบประมาณอีกจำนวน 1.75 ล้านดอลล่าร์ สำหรับการพัฒนาที่พักอุปถัมภ์ถาวรเพิ่มเติม

ในเดือนมี.ค. 2564 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เซ็นรับรอง “American Rescue Plan” หรือแผนงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอเมริกันที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด แผนงานนี้ได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 5 ล้านล้านสำหรับการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน

สำหรับ Hotel Diva องค์กรไม่แสวงหากำไรนาม “Episcopal Community Services of San Francisco” ได้รับเงินสนับสนุนให้ซื้อห้องพักไปทั้งสิ้น 130 ห้อง ภายใต้งบประมาณ 50 ล้านดอลล่าร์ คิดเป็นห้องละ 385,000 ดอลล่าร์ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าค่าสร้างที่พักอาศัยใหม่ครึ่งหนึ่ง นอกจากข้อได้เปรียบเชิงงบประมาณ การเปลี่ยนห้องพักโรงแรมให้เป็นห้องพักสำหรับคนไร้บ้านยังย่นระยะเวลาก่อสร้างอีกด้วย

แม้ว่าโครงการ Homekey จะช่วยให้คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งปลอดภัยจากอันตรายในพื้นที่สาธารณะและภัยโรคระบาด แต่โครงการนี้ไม่ได้ปราศจากปัญหาเสียทีเดียว และยังไม่สามารถยุติปัญหาภาวะไร้บ้านได้อย่างเด็ดขาด ในระหว่างการดำเนินการแปลงโฉมห้องพัก มีการฟ้องร้องกันด้วยข้อพิพาทจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย นอกจากนี้เอง รัฐบาลท้องถิ่นสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างจำกัด กลุ่มเทศบาลเมืองต่าง ๆ จำเป็นต้องคิดค้นมาตรการรองรับคนไร้บ้านในเมืองเอง 

เนื่องจากโครงการนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากวิกฤติโรคระบาด คำถามที่ตามมาคือ หลังโรคระบาดจบแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น? รัฐบาลท้องถิ่นจะยินยอมแก้ไขกฎหมายควบคุมการใช้ที่เดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสร้างที่พักอาศัยสำหรับคนรายได้น้อยหรือไม่? ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลท้องถิ่นจะยอมเผชิญหน้ากับปัญหาราคาที่พักอาศัยที่พุ่งสูง ค่าแรงที่สวนทาง และสุขภาวะทางใจที่ตกต่ำของคนยากจนหรือไม่ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้คือปัญหาระดับโครงสร้าง อันเป็นต้นตอของภาวะไร้บ้าน และการหาบ้านให้ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำรอบด้านเช่นนี้ได้

ที่มา: One Way to Get People Off the Streets: Buy Hotels – The New York Times