สำรวจทุกข์สุขของคนไร้บ้านหน้าใหม่ ที่ ‘ความเคยชิน’ ทำให้พวกเขาต้องพอใจกับการไร้บ้าน

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ‘ลุงเปี๊ยก’ มีเรื่องเครียดและทุกข์มาก จนตัดสินใจเดินออกมาจากบ้านที่สุพรรณบุรี เพื่อมาใช้ชีวิตคนเดียวในกรุงเทพฯ 

2 ปีต่อมา ความทุกข์เก่าที่ลุงเปี๊ยกเคยมีหายไป แต่ก็ทุกข์ใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นคือ การเป็นคนไร้บ้าน 

ความทุกข​์กับการอยู่ให้ได้ บางทีก็ต้องใช้ทั้งสองอย่างนี้เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดไปได้อีกวัน แต่ถึงอย่างนั้นภายใต้ความทุกข์ที่ว่านี้ มันอาจจะมีความเคยชิน ความพึงพอใจ หรือความสุขสลับเข้ามาเป็นระยะ เพื่อให้คนคนหนึ่งยังรู้สึกได้ถึงสัญญาณชีวิต 

ความคาดหวัง ความทุกข์ และความสุขของคนไร้บ้านหน้าใหม่  ความรู้สึกเหล่านี้ คือ ตัวช่วยบ่งบอกวิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคตของพวกเขา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นนโยบาย ที่จะช่วยให้เขาหลุดพ้นจากการเป็นคนไร้บ้าน และป้องกันการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มในอนาคต

งานวิจัยการศึกษาแนวทาง วิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านหน้าใหม่ในช่วงเริ่มต้น โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติ รวมไปถึงความคาดหวังและความสุขของ ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ พร้อมเสนอแนวทางที่จะช่วยให้คนไร้บ้านกลับมาสู่สภาวะปกติได้

เมื่อพูดถึงเรื่องความต้องการ คนไร้บ้านหน้าใหม่ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด ‘เงินและงาน’ มีอีกประปรายที่บอกว่า ‘การได้เจอหน้าครอบครัวอีกครั้ง’ เป็นความต้องการสูงสุด

จากงานวิจัยพบว่า กลุ่มคนไร้บ้านมากกว่า 1 ปี มองว่าตัวเองมีความสุขเหมือนคนอื่น ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองย่ำแย่ ถึงแม้พวกเขาจะมีรายได้น้อยกว่าคนไร้บ้านไม่ถึง 1 ปี แต่พวกเขามองว่า เงินเท่าที่มีก็เพียงพอต่อการใช้ชีวิตนี้แล้ว ต่างจากกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ ที่เพิ่งไร้บ้านไม่ถึง 1 ปี มักมองว่า ตัวเองไม่มีความสุข หรือมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป เพราะรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอ และต้องการจะมีชีวิตที่ดีขึ้น 

เหตุผลเพราะคนที่ไร้บ้านมานานเริ่มมีการปรับตัว ให้เข้ากับวิถีชีวิตนี้มากขึ้น ประสบการณ์ที่ได้จากการไร้บ้านนานๆ ก็ทำให้รู้จักสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดแจกอาหาร สถานที่อาบน้ำ สถานที่หลับนอน เป็นต้น ความเคยชินเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ชีวิตแบบนี้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องการอะไรมากมาย

ลุงเปี๊ยกเป็นคนไร้บ้านคนหนึ่งที่ธานีพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูล ชีวิตของลุงเปี๊ยกสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจน สมัยที่ยังอยู่บ้านที่สุพรรณบุรี ลุงเปี๊ยกเล่าว่า ตัวเองเป็นคนที่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่หนักมาก เวลาในแต่ละวันมักเสียไปกับการทำสองอย่างนี้ ส่งผลให้ลุงเปี๊ยกเข้านอนเวลาตี 3 และตื่น 8 โมงเช้า กิจวัตรเช่นนี้เกิดซ้ำๆ ในทุกวัน 

พอลุงเปี๊ยกมาเป็นคนไร้บ้านอยู่ที่บ้านอิ่มใจ ย่านประปาแม้นศรี กรุงเทพฯ ชีวิตประจำวันของลุงเปี๊ยกเปลี่ยนไปจากเดิม ที่เห็นได้ชัดคือเขาไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และไม่นอนดึกเหมือนแต่ก่อนแล้ว ทุกๆ วันลุงเปี๊ยกจะตื่นตี 5 ครึ่ง กินข้าวเช้า และเดินทางออกจากบ้านไปหาของเก่าขายจนกว่าจะถึง 4 โมงเย็น พอถึง 1 ทุ่มก็ได้เวลาข้าวเย็น และพร้อมเข้านอนตอน 3 ทุ่ม ลุงเปี๊ยกมีรายได้จากการขายของเก่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 – 150 บาทต่อวัน ซึ่งลุงเปี๊ยกบอกว่าจำนวนเงินเท่านี้เพียงพอแล้ว

“ลุงว่าชีวิตของลุงตอนนี้มีความสุขกว่าคนทั่วไปอีก เพราะมันไม่มีเรื่องให้ต้องคิดจนเครียด”

ชีวิตของลุงเปี๊ยกเปลี่ยนหลังจากที่เป็นคนไร้บ้าน เมื่อไม่มีรายจ่าย ไม่มีเรื่องเดิมๆ ที่เคยทำให้เครียด การเป็นคนไร้บ้านจึงไม่ได้แย่สำหรับลุงเปี๊ยกมากเท่าไหร่ เพราะเขาเริ่มเข้าสู่โหมดยอมรับวิถีชีวิตนี้ได้แล้ว แต่ชีวิตของลุงเปี๊ยกเดินไปเรื่อยๆ ไร้จุดหมายปลายทาง หรือเป้าหมาย สอดคล้องกับที่ธานีบอกไว้ในงานวิจัย ถ้าหากคนไร้บ้านมานานเกินกว่า 2 ปี มีแนวโน้มสูงมากที่จะเลือกเป็นคนไร้บ้านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอย่างถาวร และรอคอยการพึ่งพาจากรัฐแทน

1- 2 ปี เป็นเวลาที่สั้นและเร็วมากพอที่จะเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ ฉะนั้นแล้วมาตรการสำหรับการดูแลคนไร้บ้านหน้าใหม่ เลยจำเป็นต้องรัดกุมและรวดเร็วมากพอ ก่อนที่คนไร้บ้านจะเปลี่ยนจากสถานะ ‘หน้าใหม่’ เป็น ‘ถาวร’ ถ้ามองในมุมเศรษฐกิจ เราอาจสูญเสียกำลังคนไปหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาประเทศ อย่างการเสียภาษี ขณะที่ประเทศเราก็กำลังเจอกับสถานการณ์ที่คนเกิดน้อยลง วัยทำงานก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ

ความพึงพอใจหรือความเคยชิน

คนไร้บ้านที่ไร้บ้านเป็นเวลานาน มักจะพอใจกับความเป็นอยู่ที่มีในปัจจุบัน จนทำให้พวกเขาทิ้งความหวังที่จะกลับไปมีบ้านได้ สิ่งที่ธานีค้นพบและเขียนไว้ในรายงาน แต่ก็ยังมีกรณีของคนไร้บ้านบางส่วนที่ทอดทิ้งความฝันที่จะกลับบ้าน ไม่ใช่เพราะว่าเขาสบายใจกับชีวิตนี้แล้ว แต่เพราะนี่เป็นทางเลือกเดียวในชีวิตที่เหลืออยู่ต่างหาก แม้จะมีความต้องการอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเมื่อก่อน หรือต้องการหลุดจากภาวะไร้บ้าน ถือเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะหากไร้บ้านมาเป็นเวลานาน เพราะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ เตรียมพร้อมที่จะไปใช้ชีวิตอีกแบบ

หลังจากห่างไกลจากบ้านมาเป็นเวลา 4 ปี แต่ลึกๆ แล้ว ‘ตี๋’ ก็ยังไม่ละทิ้งความฝันที่จะกลับไปมีบ้านอีกครั้ง ถึงแม้ภายในใจของตัวเขาเองรู้ดีว่า มันเป็นอะไรที่ยากเสียเหลือเกิน

“จริงๆ เราก็รู้ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นคนไร้บ้านแล้วแหละ ว่าต้องมีชีวิตเป็นคนไร้บ้านแบบนี้ตลอดไป”

ตี๋อายุ 45 ปี เป็นคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านอิ่มใจตั้งแต่ปี 2556 สมัยก่อนตี๋เป็นคนที่ชอบดื่มเหล้ามาก มากพอกับที่เขาชอบเล่นการพนัน ทุกครั้งเวลาได้เงินมาก็จะชอบเอาไปซื้อเหล้าดื่ม และเล่นการพนันจนหมด สุดท้ายตี๋ถูกไล่ออกจากงาน 

ตี๋มีโรคประจำตัวทั้งโรคพิษสุราเรื้อรัง มีอาการป่วยทางจิต และมีโรคไซนัส บางครั้งอาการป่วยทางจิตของตี๋ก็กำเริบอย่างหนัก จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที พี่สาวของตี๋จึงฝากเขาไว้ที่บ้านอิ่มใจเพราะเห็นว่ามีคนคอยเป็นหูเป็นตา หากมีอาการกำเริบก็มีคนพาส่งโรงพยาบาลได้ 

อย่างไรก็ตามตลอด 4 ปีแรกที่อยู่บ้านอิ่มใจ ตี๋ก็ยังแวะเวียนไปเล่นการพนันและดื่มสุราอยู่ แต่อย่างน้อยถ้าหากเป็นอะไรขึ้นมา ลูกบ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านอิ่มใจก็จะคอยดูแลตี๋ได้

“ชีวิตของเราตอนนี้มีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไปมาก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองเหมือนอย่างคนอื่นเขาสักที แต่พี่สาวของเราเขาคิดว่า อาการติดเหล้า ติดพนัน ของเรามันไม่ได้หายไปง่ายๆ เราอยู่ที่บ้านอิ่มใจเขาคงจะสบายใจมากกว่า”

ไม่ใช่เพราะหมดความหวัง แต่เพราะเงื่อนไขในชีวิตของคนเรามันซับซ้อนกว่าที่คิด สำหรับตี๋เองที่ไร้บ้านมาแล้วหลายปี เขาก็ยังอยากมีบ้านของตัวเองอยู่ แต่ความคาดหวังนี้มันเป็นไปได้ยาก และแรงใจที่จะลุกขึ้นมาหาบ้านให้ตัวเองไม่ได้มีเยอะเท่าแต่ก่อนแล้ว เพราะเขาเองก็คุ้นชินกับชีวิตที่เป็นคนไร้บ้านไปแล้วด้วย ตี๋จึงปล่อยให้ความอยากนี้เป็นเพียงความฝันต่อไป

คนไร้บ้านไม่ได้ต่อสู้กับเรื่องนี้เพียงลำพัง ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญและต้องการสนับสนุนพวกเขา ตั้งแต่ภาครัฐอย่างกรุงเทพมหานคร ที่เคยสร้าง ‘บ้านอิ่มใจ’ เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับดูแลคนไร้บ้าน โดยจะมีบริการอาหาร ติดต่อทำเอกสารทางกฎหมาย เช่น บัตรประชาชน และที่สำคัญคือบริการจัดหางานให้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้คนไร้บ้านหลุดพ้นจากสถานะนี้ สามารถกลับไปดูแลตัวเองได้ 

ฟากเอกชนอย่างมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับสสส. และภาคีอื่นๆ ตั้งโครงการที่ชื่อว่า ‘ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ สนับสนุนที่อยู่อาศัยและหางานให้คนไร้บ้าน

การเป็นคนไร้บ้านนานๆ ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะอยากเป็นแบบนี้ตลอดไป ยังมีอีกหลายคนที่มีความฝันและความหวังที่จะกลับไปมีบ้าน อาจเกิดขึ้น สำเร็จ หรือล้มเหลว แต่การเดินทางของพวกเขาก็ยังเริ่มต้นได้ใหม่เสมอ ท้ายที่สุดหลายคนที่ต้องการกลับมาใช้ชีวิตแบบมีบ้าน ก็ยังต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อให้ความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นอีกครั้ง

อ้างอิง:

  • ธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม (2561). การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: กรุงเทพฯ