งานวิจัยชี้การไร้ที่อยู่อาศัยนานเกินกว่าหกเดือนเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก

นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์บอสตันประเทศสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพเด็กไร้บ้าน โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่เข้ารับการตรวจที่คลินิกในห้าเมืองของสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2009 – 2015 ที่มีหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 3% มีประสบการณ์เป็นคนไร้บ้านก่อนคลอด  3.7% เป็นคนไร้บ้านหลังคลอด และ 3.5% เป็นคนไร้บ้านตั้งแต่ก่อนจนกระทั่งหลังคลอด ซึ่งเมื่อศึกษาเรื่องสุขภาพของเด็กพบว่า เด็กที่มีประสบการณ์เป็นคนไร้บ้านทั้งก่อนและหลังคลอดมากกว่าหกเดือนมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพสูงมาก และจากสภาพไร้ที่อยู่อาศัยทำให้เด็กไม่มีพื้นที่ให้เล่น หรือคลานตามวัย อาจทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการการเจริญเติบโต

จากงานศึกษาดังกล่าวทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ในไอร์แลนด์ให้ความสนใจ เพราะเมื่อเทียบเคียงการศึกษาในสหรัฐอเมริกาก็พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน จูน ทินลีย์ ผู้ที่ทำงานด้านเด็ก กล่าวว่า พัฒนาการทางกายมีผลต่อพัฒนาการด้านการพูดและทักษะการสื่อสารของเด็ก นอกจากนี้งานศึกษาขององค์กร Focus ในไอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้วระบุว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านพักฉุกเฉินต้องรับประทานอาหารแช่แข็งหรืออาหารทานเล่น เนื่องจากขาดพื้นที่ในการปรุงอาหารและข้อจำกัดเรื่องการจัดเก็บ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องโภชนาการ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ทำให้เด็กต้องรับประทานอาหารบนเตียงนอนหรือบนพื้น หรือสถานที่ที่ไม่เหมาะสมในการรับประทานอาหาร และที่สำคัญการกินอาหารยังถูกควบคุมภายใต้กล้องวงจรปิด มันทำให้เด็กๆ ไม่ได้ฝึกนิสัยการกินที่ดีหรือแม้แต่การใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพจิต สำหรับเด็กเล็ก การอยู่ในสถานที่ที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการอาจจะมีผลกับเรื่องของอารมณ์ ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยจะมีภาวะอับอายเพื่อน และการอยู่ด้วยความวิตกกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของที่อยู่อาศัยซึ่งจะมีผลต่อเรื่องสุขภาพจิตของเด็กเช่นกัน

ไมค์ อัลเลน ผู้ที่ทำงานในองค์กร Focus กล่าวว่า คนทั่วไปมักคิดว่าเรื่องของสุขภาพจิตทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านแต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเป็นคนไร้บ้านทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องช่วยเหลือเด็กๆ อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในไอร์แลนด์ ให้ความสำคัญกับเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพเด็กมากขึ้นและหาแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุงการพัฒนาเด็ก รวมทั้งต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาในระดับครอบครัวเพื่อไม่ให้กลายมาเป็นคนไร้บ้าน

ที่มา The Journal