จากพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างสู่ชุมชนคนไร้บ้าน: ความพยายามของภาคเอกชนในสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน

พื้นที่ใต้ทางด่วนลอยฟ้าที่ถูกทิ้งร้าง เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และแหล่งรวมรถยนต์สภาพที่ใช้การไม่ได้ ที่ล้วนถูกทิ้งร้าง ในเขต West Oakland มลรัฐ California สหรัฐฯ กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยสองมือของผู้ไร้บ้านในเมืองแห่งนี้ สิ่งที่ถูกสรรรค์สร้างเหล่านี้ กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนผู้ไร้บ้านในนาม “Cob on Wood”

แผนที่ที่ถูกวาดขึ้นด้วยมือ แสดงตำแหน่งต่างๆ ของสถานที่ที่อยู่ในโครงการ Cob on Wood ศูนย์กลางของชุมชนผู้ไร้บ้านที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: The Guardian)

“Cob on Wood” แห่งนี้ คือศูนย์กลางของชุมชนผู้ไร้บ้านที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่นี่เป็นแหล่งรวมของการบริการสาธารณะสำหรับผู้ไร้บ้านในชุมชนและในละแวกใกล้เคียง ซึ่งมีตั้งแต่ สถานที่อาบน้ำชำระร่างกาย สถานที่สำหรับประกอบอาหารหรือครัวสาธารณะ มีคลินิคสุขภาพ และมีร้านค้าซึ่งรวบรวมสิ่งของที่ได้รับมาจากการบริจาค ตั้งแต่เสื้อผ้า หนังสือ และของใช้จิปาถะอีกมากมาย รวมถึงบรรยากาศโดยรอบของศูนย์ยังมีการตกแต่งทางเดินด้วยดอกไม้ แปลงผักสวนครัว และหินตกแต่งหลากชนิด และที่นี่มีแม้กระทั่งเตาอบพิซซ่ากลางแจ้ง

แต่นอกเหนือไปจากสถานที่ที่ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก ที่นี่ให้คำว่า “ชุมชนและศักดิ์ความเป็นมนุษย์”

จากผู้ ‘ไร้บ้าน’ และ ‘ไม่ไร้บ้าน’ ที่ร่วมกันสรรสร้างศูนย์แห่งนี้ พวกเขาล้วนหวังถึงหนทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเมือง Oakland โดยเฉพาะนวัตกรรมที่จะทำให้เมืองนี้ตระหนักและรับรู้ถึงจำนวนผู้ไร้บ้านที่มีมากขึ้นทุกวัน

“มันคือเรื่องของการรวบรวมทุกๆ คนไว้” หนึ่งในผู้ร่วมลงมือลงแรงในการสร้างศูนย์แห่งนี้กล่าวไว้

ศูนย์แห่งนี้เป็นเหมือนสถานที่ที่ฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของคนไร้บ้าน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมของเมืองที่ทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และศูนย์นี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือร่วมแรงของผู้ไร้บ้านเองและความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมดังกล่าวอีกด้วย

และเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วที่ศูนย์แห่งนี้ได้รวบรวมผู้คนให้มาอาศัย ใช้บริการ และร่วมสร้างความเป็นชุมชนร่วมกัน ในพื้นที่แห่งนี้ จึงเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมายให้คนในศูนย์ได้ทำ รวมถึง การแบ่งปันสิ่งต่างๆ ร่วมกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นเสบียงอาหาร การแลกเปลี่ยนการเสริมสร้างศักยภาพหรือทักษะประกอบอาชีพร่วมกัน ให้กับผู้คนร่วม 300 คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง

“Cob on Wood” จึงเกิดขึ้นในฐานะนวัตกรรมที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการรวมตัวของปัจเจกบุคคล สิ่งที่ต้องแก้ ก็คือต้นตอของปัญหา: สภาวะการไร้บ้านและการจัดการกับโควิด-19

ที่เมือง Oakland แห่งนี้มีผู้ที่ไร้บ้านมากกว่า 4,000 ชีวิต จากรายงานเมื่อปี 2019 ตัวเลขผู้ไร้บ้านนี้ได้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 86 ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่ไร้บ้านคือชาวผิวสี และสถานการณ์คนไร้บ้านในเมืองนี้เลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากรายงานผู้ตรวจการของเมือง พบว่าในเมืองแห่งนี้มีชุมชนผู้ไร้บ้านไม่น้อยกว่า 140 แห่ง และทางการยังไม่สามารถตอบสนองและรับมือต่อผลกระทบของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ คนไร้บ้านในช่วงเวลาวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย และไม่ถูกสุขลักษณะในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะขาดทั้งน้ำสะอาด ที่อยู่อาศัยที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ และขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยรัฐ

แม้ว่าทางการจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยมาตรการใหม่ๆ อย่างเช่น โครงการ “Safe RV Parking” ที่เป็นแหล่งรวมบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน เช่น รถสุขาเคลื่อนที่ แหล่งจ่ายไฟสาธารณะ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยพื้นฐาน แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ถึงมาตรการเช่นนี้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อการสงเคราะห์โดยไม่เน้นการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง 

เมื่อการแก้ไขปัญหาโดยรัฐล้มเหลวเช่นนี้ ภาคประชาสังคมจึงพยายามที่แก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเอง Cob on Wood ก็ถือเป็นหนึ่งในความพยายามนั้น

Cob on Wood จึงกลายเป็นองค์กรที่พยายามเสริมพลังบวกให้กับคนไร้บ้าน และเป็นองค์กรที่พยายามแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านที่พวกเขาเห็นว่ารัฐยังทำได้ไม่เพียงพอต่อขนาดและระดับความวิกฤตของปัญหา ตั้งแต่การป้องกันการเกิดสาธารณะภัยอย่างอัคคีภัย ไปจนถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ในขณะเดียวกัน องค์กรนี้ก็ยังพยายามเชื่อมประสานการทำงานของภาครัฐไปสู่ผู้ไร้บ้าน และพยายามลดการรับรู้ถึง “ความรู้สึกที่สร้างความเป็นอื่น (otherness)” ที่เกิดขึ้นกับผู้ไร้บ้าน ด้วยการทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของตนเอง

และนอกจากนี้ Cob on Wood ยังมีแผนที่จะเสริมสร้างศักยภาพของผู้ไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาคอร์สเรียนเสริมทักษะอาชีพต่างๆ เพื่อให้ผู้ไร้บ้านมีวิชาชีพติดตัวไปประกอบอาชีพ และมีรายได้ และยืนหยัดด้วยตนเองต่อไป รวมถึงการแบ่งปันทักษะและประสบการณ์การทำงานในโลกของวิชาชีพต่างๆ รวมถึงการร่วมกันวางแผนการประกอบอาชีพในอนาคตอีกด้วย

จนถึงตอนนี้ ภาครัฐได้แสดงท่าทีสนับสนุนต่อโครงการนี้ มีสมาชิกสภาท้องท้องถิ่นมาดูงานและร่วมพบปะพูดคุยกับประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นี่ และแม้ว่า Cob on Wood จะใช้พื้นที่สาธารณะของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ทางภาครัฐก็ยังไม่มีแผนที่จะเคลื่อนย้ายหมู่บ้านเพื่อคนไร้บ้านแห่งนี้แต่อย่างใด 

เพราะสิ่งที่ผู้อาศัยและผู้ดำเนินโครงการกังวลมาตลอดนั่นคือ พวกเขาล้วนเคยเจอประสบการณ์การถูกทางการไล่ที่มาก่อน และยังมีข่าวลือมาเป็นระยะว่าโครงการนี้จะต้องถูกรื้อในที่สุด พวกเขาจึงได้แต่หวังว่ามันจะเป็นเพียงข่าวลือ

นอกจากนี้ พวกเขาได้ขอระดมทุนเพื่อเตรียมขยายพื้นที่โครงการผ่านแพลตฟอร์มระดมทุนอย่าง GoFundMe โดยได้รับเงินทุนมากกว่า 24,000 ดอลลาร์ โดยการระดมทุนครั้งนี้มีจุดประสงค์นอกจากจะเตรียมขยายพื้นที่แล้ว เงินส่วนนี้ยังจะนำไปสร้างพื้นที่เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ สร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำได้อีก รวมไปถึงการสร้างที่อยู่อาศัยที่ถาวรมั่นคงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ที่มา: Homeless Oaklanders were tired of the housing crisis. So they built a ‘miracle’ village – The Guardian