ศูนย์พักพิงคนไร้บ้านเชียงใหม่ก่อนย้ายไปที่แห่งใหม่ในอนาคต (ชลธิชา พงษ์สุวรรณ ประชาธรรม)
นโยบายแก้ปัญหาคนไร้บ้าน โดยเริ่มต้นจากการสร้างศูนย์พักพิงฯ เป็นนโยบายที่ถูกร่วมผลักดันจากสลัมสี่ภาค และถูกชงโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือรู้จักในนาม “พอช.” สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนได้งบประมาณ 118 ล้านบาทมาเพื่อปรับปรุงศูนย์ฯที่บางกอกน้อย และใช้สร้างศูนย์ใหม่ที่เชียงใหม่ และขอนแก่น
การที่หน่วยงานรัฐจะหันมาสนใจปัญหา และพัฒนาการแก้ปัญหาร่วมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนนับว่าเป็นอะไรที่น่าใจสนใจไม่น้อย น่าสนใจว่าอะไรคือเบื้องหลังความคิดเหล่านั้น
ธนพล เมืองเฉลิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคเหนือ พอช. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การช่วยคนไร้บ้านให้มีที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นนโยบายหลักของพอช. ตราบใดที่ยังมีพี่น้องที่เดือดร้อน และกล้าที่จะลุกมาขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง จัดการที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง พอช.จะเข้ามา แต่ถ้าชุมชนไหนรู้สึกว่า อยากให้พอช.มาช่วยแต่ไม่ทำอะไร อาจจะต้องคุยกันนานหน่อย เพราะว่า คนที่แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยได้ดีที่สุดคือพวกเขาเอง หน่วยงานต่างๆมีหน้าที่สนับสนุนและหนุนเสริม ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาต่างๆจะไม่ยั่งยืน
“พวกเขาอยู่ในพื้นที่ บ้านของพวกเขา พวกเขารู้ว่าปัญหาคืออะไร อันนี้คืออยากให้กำลังใจกับพวกเขาว่า การที่พวกเราลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องล้านเปอร์เซ็นต์ อย่าไปฝากปัญหาไว้กับคนอื่นมากเกินไป หน่วยงานอื่นๆมีหน้าที่แค่หนุนเสริมและสนับสนุนตามบทบาทและหน้าที่”
“ในประเด็นคนไร้บ้าน ในอนาคตเราจะมีศูนย์พักพิงชั่วคราว ถ้าไม่มีพวกเขาอยู่มันก็ไม่เรียกว่าศูนย์ฯหรอก มันก็คือสิ่งปลูกสร้างหลังหนึ่ง หัวใจจริงๆ คือคนที่อยู่ ว่าจะรักและช่วยกันทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ธนพล กล่าว
ธนพล เมืองเฉลิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคเหนือ พอช. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงศูนย์พักพิงฯแห่งใหม่ในงานเสวนา “เครือข่ายร่วมใจ…..พบปะพี่น้องคนไร้บ้าน”
เขากล่าวอีกว่า ในด้านความพร้อมของนโยบายเรื่องของคนไร้บ้าน พอช.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงมีแผนงานช่วยเหลือคนไร้บ้าน คือ หนึ่ง สร้างศูนย์ที่อยู่อาศัยให้กับคนไร้บ้านที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตอนนี้นโยบายคนไร้บ้านทางพอช.ต้องทำให้สำเร็จสองปี และปีนี้เป็นปีที่สอง ต้องทำในสามพื้นที่ คือกรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ โดยมีงบประมาณสนับสนุนสองส่วน ส่วนแรกเรื่องของการสร้างศูนย์ที่พักพิง โดยหาซื้อที่ดินและสร้างศูนย์ที่พักพิง หาคนรับผิดชอบดูแล มีงบประมาณสำหรับสร้างศูนย์ รวมสาธารณูปโภคภายในศูนย์ และงบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ซึ่งตอนนี้ศูนย์ฯเกิดตามโรดแมปแล้ว ตามแผนงาน ภายในปี 60 ต้องได้ที่ดินและแบบ และจะต้องเริ่มมีการสร้างศูนย์ที่พักพิงฯ
“หลังที่มีศูนย์พักพิงแล้ว หน่วยงานภาคีทั้งภาคราชการ ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง เครือข่ายคนไร้บ้านจะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน คือเมื่อไปเจอคนไร้บ้านแล้วจะมีการปฏิบัติตามขั้นตามตอน เช่นว่า ศูนย์คนไร้ที่พึ่งเจอคนไร้บ้านอาจจะนำมาพัฒนาตามแผนของศูนย์ฯเอง จากนั้นส่งต่อมายังศูนย์พักพิงฯ เพื่อจะได้เป็นที่ตั้งหลัก”
ประเด็นที่สอง ตอนนี้พอช.ทำเรื่องประชารัฐอยู่ คือส่งเสริมอาชีพ ซึ่งก็ขึ้นกับพี่น้องคนไร้บ้าน จะไม่มีการยัดอาชีพให้ พวกเขาต้องคิดขึ้นเอง ซึ่งถ้าสนใจก็สามารถที่จะพูดคุยและวางแผนร่วมกันได้ รวมถึงด้านสุขภาพ
“ในส่วนสุดท้ายเรามีโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่สุดท้ายแล้วพี่น้อง จะมีความเป็นเจ้าของเรื่องของที่ดินและบ้านอย่างมั่นคง หมายความว่าพอตั้งหลักได้แล้วก็จะสามารถขยับไปมีบ้านมั่นคงได้”
อนึ่ง ปัจจุบันการดำเนินสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้านในเชียงใหม่ได้ผ่านขั้นตอนการจัดซื้อที่ดินและปรับถมที่แล้ว ซึ่งจะดำเนินการสร้างศูนย์พักพิงในขั้นต่อไป.
ภาพการปรับพื้นที่ดินของศูนย์พักพิงคนไร้บ้านแห่งใหม่ (ภาพ: กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่)