‘คนไร้บ้าน’ เพื่อนร่วมเมืองของเรา

เมื่อเดือนกรกฎาคม เรื่องของ ‘ลุงแฟรงก์’ กับลำโพง Marshall ที่น่าประทับใจคงผ่านตาใครหลายคนจาก โพสต์เฟซบุ๊กของมูลนิธิกระจกเงานี้มีคนกดไลค์เกือบสองหมื่นคน คนแชร์กว่าพันห้าครั้ง 

ลุงแฟรงก์อายุ 67 ปี เคยใช้ชีวิตคนไร้บ้านแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่ต่ำกว่า 3 ปี เมื่อแรกติดต่อกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ลุงแฟรงก์ปัดมือไล่ แต่พอถึงในปีพ.ศ. 2563 ข่าวโครงการจ้างวานข้าก็มาถึงหูลุงและลุงก็เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการจนตั้งตัวได้กลับมามีอาชีพ มีที่อาศัย กระทั่งสามารถเก็บเงินซื้อลำโพง Marshall มือสองด้วยแบงก์พัน 1 ใบ เพื่อเติมเต็มหัวใจที่รักเสียงเพลงเหมือนคนทั่วๆ ไป

ลุงแฟรงก์คือตัวอย่างสำคัญของคนไร้บ้านในเมืองใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาคนไร้บ้านนั้นแก้ได้ เพียงแต่ต้องเรามองข้ามความ ‘น่าสงสาร’ ไปให้เห็นความ ‘น่าให้โอกาส’

[ทำไมต้องช่วยคนไร้บ้าน]

“คนไร้บ้านไม่ได้ไร้สิทธิ” นี่คือประโยคที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. กล่าวล่าสุดในงานแถลงข่าวในวันที่ 26 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

ภาพว่าคนไร้บ้านเป็นคนขี้เกียจ ไม่ก็อันตราย จึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว มายาคติเหล่านี้เกิดและยังคงแปะป้ายประทับตราคนไร้บ้านไว้ แต่ถ้าอยากให้ปัญหาคนไร้บ้านในชุมชนดีขึ้น เราต้องลบมายาคติเหล่านั้นแล้วทำความเข้าใจความจริงที่ว่า “คนไร้บ้านคือประชาชนเหมือนพวกเราทุกคน”  

เพียงแต่ว่า คนไร้บ้านเป็นประชาชนที่มีต้นทุนน้อยกว่าคนอื่นมาก หรือที่เรียกว่าเป็น ‘คนจนเมือง’ บ้างป่วยหนักไม่มีเงินรักษา บ้างประสบเจอกับภาวะเศรษฐกิจบางอย่าง ด้วยพื้นฐานชีวิตไม่ได้แข็งแรงแต่แรก จึงมีโอกาสเจอแรงกระแทกจากความเหลื่อมล้ำสูงในเมือง วิฤกติที่ทำให้กลายเป็นคนไร้บ้านอย่างช่วยไม่ได้

ปัญหาที่สำคัญของคนไร้บ้านหลายคน คือ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชน ตัวอย่างเช่น ลุงแฟรงก์ ซึ่งสาเหตุอาจมีทั้งการตกหล่นจากทะเบียนราษฎร มีปัญหาส่วนตัวที่ทำให้หนีออกจากบ้านก่อนจะได้มีบัตรประชาชน หรืออื่นๆ

นั่นทำให้ความต้องการที่สำคัญของคนไร้บ้านในขั้นแรก พวกเขาจึงต้องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และกว้างต่อไปที่สำคัญคือต้องการ ‘งานและรายได้’ ที่จะช่วยให้พวกเขาพาตัวเองให้หลุดพ้นจากภาวะไร้บ้าน สามารยืนได้ด้วยตัวเอง

Photo by youssef naddam on Unsplash

[วิธีช่วยเหลือคนไร้บ้าน ‘ที่ถูกต้อง’]

คนไร้บ้านแบ่งเป็น 2 ประเภท 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการป่วยทางจิต กับ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไร้บ้านที่ยังสามารถพัฒนาศักยภาพให้กลับสู่สังคมได้

การช่วยเหลือด้วยการแจกอาหารหรือเครื่องอุปโภคบริโภคตามสถานที่คนไร้บ้านอาศัยเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะสถานการณ์ปัญหาที่คนไร้บ้านต้องประสบมีทั้งการเข้าไม่ถึงแหล่งงานและรายได้ที่เพียงพอ การมีอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ ที่สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมเศรษฐกิจ 

ล่าสุด กทม. ได้เปิดจุด Drop-In หรือพื้นที่บริการด้านสวัสดิการสำหรับคนไร้บ้าน เพื่อการตั้งหลักชีวิต โดยตอนนี้มีแล้ว 4 จุด คือที่บริเวณหัวลำโพง ราชดำเนินกลาง ตรอกสาเก และใต้สะพานปิ่นเกล้า ซึ่งจุดเหล่านี้มีไว้เพื่อรวมคนไร้บ้านให้เป็นระบบ สามารถแจกอาหาร รวมไปถึงจุดจัดหาที่อยู่ชั่วคราวและงานสร้างรายได้ ผู้ที่ต้องการสนับสนุนสามารถเข้าไปร่วมบริจาคหรือแจกอาหารผ่านจุด Drop-In เหล่านี้ได้โดยตรง เพื่อลดปัญหาการทำงานซัมซ้อนและเพื่อให้เกิดการบูรณาการการช่วยเหลือทั้งที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าและการสร้างความยั่งยืนของชีวิต 

ปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้เข้าใจยาก และ ‘คุณ’ เองก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างชีวิตใหม่ที่เหมือนลุงแฟรงก์ มีงาน มีที่อยู่ มีชีวิตสมกับเป็นมนุษย์ ให้เกิดเพิ่มขึ้นได้เสมอ

เพราะจริงๆ คนไร้บ้านก็คือประชาชนที่ต้องการ ‘โอกาส’ เท่านั้น