ผู้หญิงไร้บ้าน (Female Homeless): เป็นอยู่อย่างไรในโลกใบนี้

ผู้เขียน: เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ

(บางส่วนของบทความมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง)

สภาพความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านอันขาดปัจจัยทั้งสี่ ทั้งที่พักอาศัย อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำอันมหาศาล และสภาพสังคมที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องออกจากบ้าน กลายมาเป็นคนไร้บ้านในตัวเมือง และสถานการณ์จะย่ำแย่ลงไปมากกว่านั้น หากคุณคือคนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิง ซึ่งถูกซ่อนไว้อีกชั้นภายใต้สังคมแห่งการกดทับ ไม่ได้รับความช่วยเหลือและเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้าย

‘คนไร้บ้าน’ ตามนิยามคือคนไร้ที่อยู่อาศัย ใช้ที่สาธารณะเป็นที่พักพิง ไม่มีมนุษย์คนใดอยากกลายเป็นคนไร้บ้าน หากแต่ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ของสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันของประเทศไทย รวมถึงทั่วโลกเอง ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรส่วนหนึ่งกลายเป็นคนไร้บ้าน ตกอยู่ในสภาวะของการไม่มีสถานที่พักพิง ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้และไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ 

สภาพความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านอันขาดปัจจัยทั้งสี่ ทั้งที่พักอาศัย อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่พวกเขาได้รับจากการตกเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อันสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำอันมหาศาล และสภาพสังคมที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องออกจากบ้าน กลายมาเป็นคนไร้บ้านในตัวเมือง 

ทั้งนี้ สถานการณ์จะย่ำแย่ลงไปมากกว่านั้น หากคุณคือคนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิง ซึ่งถูกซ่อนไว้อีกชั้นภายใต้สังคมแห่งการกดทับ เพราะภาพจำของหลาย ๆ คนที่มองว่าคนไร้บ้านมักเป็นเพศชาย ทำให้หญิงไร้บ้านนั้นถูกทำให้มองไม่เห็นและไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร

ในประเทศไทยเอง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายได้ทำการสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศ พบคนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน เป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย (อายุ 40-59 ปี) [1]

และแม้ตัวเลขคนไร้บ้านเพศหญิงในไทยจะน้อยกว่าเพศชาย แต่ถือว่าไม่น้อยในเชิงร้อยละทางสถิติที่มีอยู่ถึง 14% จากจำนวนทั้งหมดเกือบสามพันคน นัยยะสำคัญทางสถิติเหล่านี้สะท้อนว่าหญิงไร้บ้านคืออีกกลุ่มที่ควรมีการดูแลจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งสวัสดิการให้คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเพศหญิงที่ต้องการความปลอดภัยในทุกมิติ 

ผู้หญิงไร้บ้าน (Female Homeless): ผู้ถูกกดทับซ้ำซ้อนจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง 

สิ่งแรกที่ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าใครจะต้องประสบพบเจอคือ ‘รอบเดือน’ อันเนื่องมาจากผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิงนั้นมีรอบเดือนตามธรรมชาติในทุก ๆ เดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสะอาด และสุขอนามัยที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีการดูแลและใช้ผ้าอนามัยอย่างถูกสุขลักษณะก็อาจนำมาซึ่งการติดเชื้อและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ ประเด็นคือผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็น หากแต่เป็นสินค้าที่มีราคาแพง คนไร้บ้านซึ่งไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่งนัก รวมทั้งไม่มีที่อยู่อาศัยและห้องน้ำของตัวเองนั้น จะเข้าถึงสินค้า ความสะอาด และสุขอนามัยเหล่านี้ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่รัฐควรคำนึง ผู้หญิงไร้บ้านบางคนในแคนาดาจำเป็นต้องใช้ถุงเท้า ถุงพลาสติก หรือส่วนใดส่วนหนึ่งจากเสื้อผ้าที่ตัดออกมา[2] เพื่อซับเลือดประจำเดือน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงชุดชั้นในที่มีความจำเป็นต่อความเป็นหญิงในการดำรงชีวิตอย่างยิ่งยวด

ความปลอดภัยในมิติถัดมาที่สำคัญและรัฐจำเป็นต้องให้การคุ้มครอง คือมิติความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากการทำร้าย หรือความรุนแรงจากการถูกคุกคามทางเพศ กล่าวคือ เพศหญิงถูกกดทับมาตั้งแต่ก่อนเป็นคนไร้บ้าน บางคนไม่เพียงแต่ประสบปัญหาเศรษฐกิจหรือการว่างงาน แต่ยังพบเจอปัญหาครอบครัว ความรุนแรงจากพ่อแม่ รวมทั้งความรุนแรงจากสามีของพวกเธอ จนต้องระหกระเหินออกจากบ้านเพื่อหลีกหนีให้พ้นความเจ็บปวด 

เว็บไซต์ Big Issues ของประเทศอังกฤษให้ข้อมูลว่า ในปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักของการออกมาเป็นคนไร้บ้าน คือการถูกไล่ออกจากบ้านเช่า และจากสถิติทางการของรัฐบาลอังกฤษ พบว่าเพศหญิงถูกทำให้ไร้บ้านด้วยสาเหตุของความรุนแรงในครัวเรือนมากกว่าเพศชาย และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19  และแม้หลีกหนีความรุนแรงจากในบ้านมาแล้ว ก็ยังเจอความรุนแรงจากการเป็นคนไร้บ้าน

เว็บไซต์สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์เผยพาดหัวข่าว “โหดเหี้ยมอำมหิต ข่มขืนหญิงไร้บ้านฟันหัวหวังฆ่าทิ้ง แต่เหยื่อรอด!!”[3] ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวที่ชายฉกรรจ์ข่มขืนหญิงไร้บ้าน ยังปรากฏให้เห็นผ่านตาดั่งการตอกย้ำและพิสูจน์ความจริงให้เห็นถึงภาพสะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ผลักดันให้เธอได้รับการทารุณกรรม การเป็นผู้หญิงไร้บ้านทำให้เธอไร้หนทางสู้ และโดยสภาพการณ์แล้ว เธอไม่มีแม้แต่สถานที่ที่เป็นเกราะกำบังให้ตัวเธอเองด้วยซ้ำ 

เว็บไซต์ St Mungo’s ยังเปิดเผยเช่นกันว่า สาเหตุของผู้หญิงไร้บ้านนั้น เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครัวเรือนถึง 33% [4] พวกเธอถูกกระทำความรุนแรงจึงต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน และเลือกที่จะหลบซ่อนตัวแม้ว่าจะเป็นคนไร้บ้านที่อยู่ตามที่สาธารณะแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี การซ่อนตัวจากความรุนแรงอาจหมายถึงการถูกซ่อนจากความช่วยเหลือและหายไปจากสถิติของคนไร้บ้านด้วย ผู้หญิงท่านนึงได้บอกกับสำนักข่าวดังกล่าวว่า เธอมักจะปกปิดตัวตน เช่น ไปหลับในที่ห่างไกลจากกลางเมือง หรือปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเธอคือเพศหญิงเพื่อปกป้องตัวของเธอเอง สอดคล้องจากข้อมูลของประเทศแคนาดา ที่พบว่า ผู้หญิงที่กลายเป็นคนไร้บ้านถูกทำร้ายทางร่างกาย เพศและอารมณ์มากกว่า บ่อยครั้งจะพบผู้หญิงไร้บ้านถูกทำร้ายบนถนนอีกด้วย

นอกไปจากนั้นแล้ว การหนีออกจากความรุนแรงในครอบครัวอาจเกิดขึ้นในขณะที่ตั้งครรภ์ หรือมีบุตร ทารกมาด้วย หรือการถูกคุกคามทางเพศก็อาจนำมาซึ่งการตั้งครรภ์ ข้อมูลจาก Toronto Public Health data แสดงให้เห็นว่า มีหญิงไร้บ้านมากกว่า 120 คนในแต่ละปีที่ให้กำเนิดบุตรในโตรอนโต้ อย่างไรก็ดี ภาระของพวกเธอไม่เพียงแต่การดำรงชีวิตของตนเอง แต่ยังเพิ่มมาด้วยการถูกตีตราและตัดสินจากสังคมเมื่อเป็นคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์อีกด้วย เช่นนั้นคำถามถัดมาคือ หากคนไร้บ้านกำลังตั้งครรภ์ หรือมีเด็กทารกในความดูแล สถานการณ์นี้รัฐจะป้องกันและหาหนทางในการดูแลพวกเธอได้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้บทความ 8 Challenges Homeless Women Face Every Day ได้ทำการสำรวจผู้หญิงไร้บ้านในประเทศแคนาดา พบว่า นอกเหนือไปจากสิ่งที่กล่าวมากข้างต้น พวกเธอยังมีความท้าทายต่อการดำรงชีวิตในฐานะคนไร้บ้านคือ เช่น สภาพจิตใจย่ำแย่ จากความต้องการพื้นฐานที่ไม่เพียงพอทำให้เกิดความวิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า และอาจมีอาการจิตเภท การถูกกีดกันจากการจ้างงานเพราะเป็นเพศหญิง การรู้สึกโดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากการปลีกวิเวก รวมไปถึงการเป็นคนไร้บ้านทำให้ร่างกายแก่ลงไวกว่าปกติ นำมาซึ่งสภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เป็นต้น

ไม่มีสิ่งใดที่ต้องการไปมากกว่าความปลอดภัย

เราจะเห็นได้ว่าในโลกที่มีความเหลื่อมล้ำอันมากโข สามารถผลักดันคนกลุ่มหนึ่งในหลุดหายออกไปจากสาระบบสวัสดิการของสังคม ไม่สามารถเข้าถึงได้แม้แต่ปัจจัยสี่ อันประกอบไปด้วยเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหาร และยารักษาโรค จนกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งจะยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้นหากคุณเป็นคนไร้บ้านที่เป็นเพศหญิง เนื่องด้วยเงื่อนไขหลายประการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น การมีประจำเดือน นอกเหนือไปจากนั้นยังถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งก่อนและระหว่างเป็นคนไร้บ้าน 

ทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นภาพของการอยู่ล่างสุดของความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคมปัจจุบัน ตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสในสังคม นำมาซึ่งความรุนแรงในครอบครัวนำไปสู่การกลายเป็นคนไร้บ้าน ที่พบเจอความรุนแรงทางเพศ และไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะพวกเธอซ่อนตัวจากความรุนแรง และถูกซ่อนอยู่ภายใต้ภาพจำของคนไร้บ้านที่ปรากฏแต่ความเป็นชาย 

 ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราในฐานะพลเมือง ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ต้องตระหนักและให้ความสำคัญอยู่เสมอคือสิทธิมนุษยชน หากเราเชื่อในประโยคที่ว่า ‘เราทุกคนคือมนุษย์’ หรือ ‘จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ แล้วนั้น ผู้หญิงไร้บ้านก็เป็นอีกกลุ่มที่ควรได้รับสิทธิ์นั้นด้วยเช่นกัน

รายการอ้างอิง:

  1. แถลงผลแจงนับคนไร้บ้านครั้งแรกของไทย พบเกือบ 3 พันคน กทม.มากที่สุด – hfocus
  2. 8 Challenges Homeless Women Face Every Day – Fred Victor 
  3. โหดเหี้ยมอำมหิต ข่มขืนหญิงเร่ร่อนฟันหัวหวังฆ่าทิ้ง แต่เหยื่อรอด – ไทยรัฐออนไลน์
  4. New research reveals women experiencing homelessness are often hidden from help – St Mungo’s