Food for All: เพราะอาหารไม่สมควรถูกทิ้งขว้าง

เขียนโดย: ลีน่าร์ กาซอ

“เริ่มขึ้นด้วยไอเดียจากทางเครือข่าย และ สสส. เรื่องความมั่นคงทางอาหาร การช่วยเหลือเรื่องปากท้องกับกลุ่มเปราะบางในช่วงวิกฤติโควิด-19”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมือง เล่าถึงที่มาของงานวิจัยเรื่อง การศึกษาทุนทางสังคมเพื่อจัดทำแนวทางพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนสุขภาวะคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางในเขตเมือง

“อาหารเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญที่สุด ช่วยลดความเปราะบางของชีวิตคน ๆ หนึ่งได้ ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยทั้งคนไร้บ้าน คนกลุ่มเปราะบางในเมือง ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าที่เคยทำงานด้านนี้มาก่อนแล้ว โดยทำงานร่วมกันภายใต้หัวข้องานวิจัยดังกล่าว ที่ให้นักวิชาการจากหลายพื้นที่ไปสำรวจเครือข่ายและทุนทางสังคมต่าง ๆ จนพบเครือข่ายที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ในการทำงานอื่น ๆ ”

นั่นจึงเป็นที่มาของเวทีงานเสวนาสาธารณะ Food for All: จากอาหารส่วนเกินสู่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อกลุ่มเปราะทางในเขตเมือง ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมือง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

และเช่นเดียวกัน – การสำรวจของเหล่านักวิชาการทำให้ชื่อของ กลุ่ม Food Not Bombs CNX กับ SOS Thailand ปรากฏขึ้น

“ทั้งสองแห่งไม่ใช่แค่องค์กรช่วยเหลือด้านอาหารแบบที่เคยเป็นภาพจำ อย่างการแจกข้าวแจกอาหารเท่านั้น มีการสร้างกระบวนการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในเมืองด้วย และนี่คือความยั่งยืนทั้งในแง่ของการจัดการ ทรัพยากร และการยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมโดยรวม” คุณอนรรฆ กล่าว “ผมมองว่ากิจกรรมที่ทั้งสองกลุ่มทำเป็นเหมือนการเรียนรู้ที่สร้างความพิเศษขึ้นในเมืองต่าง ๆ ”

Food Not Bombs CNX นักอนาธิปไตยทางการอาหาร

“อาหารคือสิทธิ ไม่ใช่อภิสิทธิ์” คุณณัฐนนท์ งามสง่า ตัวแทนจากกลุ่ม Food Not Bombs CNX บอกอย่างนั้น

เขาเล่าว่า กลุ่มนี้ได้เริ่มจากการนักศึกษาที่รวมตัวกันทำกิจกรรมแจกอาหารมังสวิรัติเพื่อประท้วงสงครามนิวเคลียร์และความยากจนในประเทศ โดยแยกเป็นกลุ่มย่อยซึ่งแต่ละกลุ่มต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน การตัดสินทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยการออกเสียง โดยกลุ่ม Food Not Bombs ก่อตั้งครั้งแรกในรัฐแมสซาชูเซตส์เมื่อปี 2000 และนักศึกษากลุ่มนี้ก็มองเห็นแนวคิดของตนอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับกลุ่มบุกเบิกที่อเมริกา

“เรามองความสัมพันธ์เป็นแนวราบ เราต่างมาเป็นอาสาสมัคร มาเป็นเพื่อนจึงไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร ใช้แนวคิดแบบอนาธิปไตยคือไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างบนลงล่าง เราเปิดโอกาสให้ทุกคนมีภาวะผู้นำในส่วนต่าง ๆ ตามความสามารถที่เขาจะรับผิดชอบได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบที่ต้องเอื้ออิงกับรัฐเท่าไหร่ คนที่เข้าร่วมทำก็มักจะมาจากคนในเฟสบุ๊กที่เห็นกิจกรรมแล้วส่งข้อความมาขอเข้าร่วม” คุณนวพร สุนันท์ลิกานนท์ ตัวแทนอีกคนอธิบายเพิ่มเติม

กิจกรรมหลักของกลุ่มแบ่งเป็นการไปรับอาหาร การทำอาหาร และการแบ่งปันอาหาร 

“การรับอาหารเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มกับพ่อค้าแม่ค้า โดยเราบอกเขาว่าถ้ามีผักผลไม้ที่ยังพอกินได้แต่ขายไม่ได้แล้วก็แบ่งมาให้เรา เดี๋ยวเราจะเอาไปทำอาหารแล้วแจกจ่าย จากความไม่เข้าใจในช่วงแรกก็ค่อย ๆ เข้าใจถึงสิ่งที่เรากำลังทำมากขึ้นผ่านข้อมูล การอธิบายบนหน้าเพจเฟสบุ๊กของเรา ซึ่งตรงนี้เรายังทำรายงานไว้ทุกครั้ง ไม่ได้ต้องรายงานใคร แต่พร้อมสำหรับประชาชนที่ต้องการตรวจสอบ”

“เช่นเดียวกันกับการทำอาหาร ที่เพียงโพสต์ทางเฟสบุ๊กว่าจะทำวันและเวลาไหน ก็จะมีคนมากมายมาถามรายละเอียดและเข้าร่วม มีทั้งหน้าใหม่และเก่าทำให้มีเพื่อนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายกิจกรรมการแบ่งปันอาหารกับคนไร้บ้านและแรงงานรายวัน ซึ่งจริง ๆ คนกลุ่มนี้จะมีต้นทุนอยู่บ้าง ถ้าเราได้ผักบริจาคมามากก็จะแบ่งปันผักสด ผลไม้ไปให้เขาแทน แล้วก็จะนำอาหารกล่องหรืออาหารที่เราปรุงแล้วให้กับกลุ่มคนไร้บ้านเลย”

หลังจากนั้น ทางกลุ่มก็จะทำกิจกรรมที่ได้ทำมาสื่อสารต่อสาธารณะผ่านช่องทางเฟสบุ๊ก เป็นรายงานประมวลผลรวมถึงการแบ่งปันเนื้อหา แนวคิดการทำงาน รวมถึงการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของกลุ่มด้วย

“ความเป็นอนาธิปไตยของเราอยู่ในการจัดการความสัมพันธ์ทั้งในกลุ่มและต่อคนรอบข้าง ต้องอยู่บนความเป็นเพื่อน ไม่มองว่าเขารอคอยการช่วยเหลือ แต่เขาคือเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกระทำจากโครงสร้างสังคมไม่เป็นธรรมเหมือนกัน แค่มีต้นทุนที่อาจจะน้อยกว่า ทำให้ชีวิตลำบากมากกว่า”

SOS Thailand ผู้พิทักษ์อาหาร

“เราเรียกตัวเองว่าเป็นมูลนิธิพิทักษ์อาหารแห่งแรกในประเทศไทย” คุณณภัทร พงษ์แพทย์ ตัวแทนจากกลุ่ม SOS Thailand หรือ Scholars of Sustenance Thailand บอกอย่างนั้น “เพราะปัญหาขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่”

เขาเล่าว่า คนทั่วไปอาจมองปัญหาเศษอาหารเป็นเรื่องเล็กน้อย อาหารสามารถย่อยสลายได้ตามปกติ แต่ข้อเท็จจริงคือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นถูกทิ้งลงสู่หลุมฝังกลบทุกวัน และเศษอาหารเหล่านี้สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพลาสติกที่ถูกนำไปเผาได้ถึง 28 เท่า

“ทุก ๆ วัน เรากำลังผลิตอาหารที่ไม่มีคนกิน บางครั้งถูกทิ้งตั้งแต่ยังไม่ถึงชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือบนจานเรา สิ่งนี้เราเรียกมันว่าอาหารล่องหน แต่ขณะเดียวกันเรากลับมีผู้ขาดแคลนอาหารกว่า 7 พันล้านคนทั่วโลก ตอนนี้มีปัญหาอาหารผลิตมากเกินแต่คนก็ยังอดอยากอยู่ดี ตรงนี้เป็นสิ่งที่ SOS กำลังทำงานกับมัน” 

ทาง SOS ต้องการสร้างความเท่าเทียมทางอาหาร (Food Equality) คือ การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าตามโภชนาการที่ไม่แพงจนเกินไป หรืออยู่ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น หรือฐานะทางสังคม โดยคุณนภัทรเล่าว่า พันธกิจที่ทำคือโครงการรักษ์อาหาร เป็นการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม

“เพราะอาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน”

SOS มีโครงการที่ทำอยู่หลากหลายและสอดคล้องกัน ตั้งแต่โครงการรักษ์อาหารที่รับอาหารจากผู้บริจาคที่ตกลงกันไว้ ด้วยรถควบคุมอุณหภูมิความเย็นที่ 3-4 องศาเซลเซียสจากจุดประจำต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ จนถึงครัวรักษ์อาหารสู่ที่ห่างไกล

“สำหรับโครงการรักษ์อาหาร SOS จะเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างผู้บริจาคกับชุมชน เพราะชุมชนไม่สามารถเข้าถึงอาหารจากผู้บริจาคได้ วัตถุดิบที่มีมากเกินจำเป็นก็จะแบ่งกลับมาเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างขยะเพิ่มให้ชุมชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอาหารตรวจสอบก่อนบริจาคหรือแจกจ่ายหน้างาน และผู้ได้รับอาหารทุกคนจะมีการรับรองมาตรฐานโดย Ecolab มีการซ้อม เรียน และอบรมสำหรับการจัดการอาหารตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชัน Food Warrior ที่พัฒนาเพื่อจัดการแผนการขนส่ง”

ส่วนครัวรักษ์อาหารเกิดจากการที่มีอาหารมากเกินกว่าที่จะให้ชุมชนรับไหว จึงเกิดโครงการนี้ขึ้น เป็นครัวที่จัดตั้งขึ้นโดยอาสาชุมชนที่มีแรงใจแต่ขาดวัตถุดิบ ทาง SOS จึงเตรียมวัตถุดิบเพิ่มเพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการเข้าไปด้วย

“ปัจจุบันเรามีครัวรวมกันทั้งประเทศ 61 ครัว 25 ครัวในกรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน และเชียงใหม่ ทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หมุนเวียนสับเปลี่ยนเพื่อให้แน่ใจว่าได้ทำทุกครัวทั่วถึง”

นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มที่ SOS ได้สร้างขึ้นคือ Cloud Food Bank หรือธนาคารอาหารออนไลน์แห่งประเทศไทย เป็นแพลตฟอร์มในการจัดการเพื่อการบริจาคอาหาร และกรณีที่ต้องการรับความช่วยเหลือ เพื่อให้การช่วยเหลือและความต้องการสอดคล้องไปด้วยกัน อาหารมากมายจะได้ถึงมือคนที่ต้องการจริง ๆ

ข้อจำกัดและความท้าทายที่กำลังก้าวข้าม

ผลกระทบในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ลามมาถึงการทำงานของทั้งสองกลุ่มด้วย คุณณภัทร จาก SOS เล่าว่า อาหารที่ได้รับบริจาคจากภาคโรงแรมหายไปเกือบทั้งหมด ทำให้ต้องหาผู้บริจาครายใหม่จากกลุ่มค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ รวมถึงปรับวิธีการแจกจ่ายโดยให้ทีมงานของชุมชนมารับไปแจกจ่ายต่อเพื่อลดการสัมผัสและลดความเสี่ยงลง โดยใส่หน้ากาก ถุงมือ และเว้นระยะห่างในทุกขั้นตอน

เช่นเดียวกับทาง Food Not Bombs ที่ คุณนวพร เล่าว่ากระทบตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าที่ให้วัตถุดิบ จำนวนอาสาสมัครที่ลดลง และกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานรายวันก็ขาดรายได้ไปเลย ทำให้นอกจากการแบ่งอาหารแล้ว ก็ยังไปเป็นเพื่อนคุยและดูใจพวกเขาแบบรักษาระยะห่าง ซึ่งไม่เพียงแค่อาหารแต่ยังรับและแจกจ่ายหน้ากาก แอลกอฮอล์ และยากันยุงด้วย 

ไม่เพียงแค่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นข้อจำกัด แต่ทั้งสองกลุ่มยังมีความท้าทายอื่นที่ต้องรับมือ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของกลุ่ม

เปราะบางในชุมชนนั้น ๆ ทั้งผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ไม่สามารถมารับอาหารเองได้ อยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐเองยังเข้าไม่ถึง ก็ต้องมีการตรวจสอบที่รัดกุมเสมอ รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มองไปถึงโภชนาการโดยรวมด้วย และความท้าทายเรื่องเงินทุนและเวลา

“SOS เป็นมูลนิธิที่เหมือนการทำสาธารณะกุศลรูปแบบใหม่ เมื่อได้รับเงินบริจาคมาก็ไม่ได้นำไปแปรเป็นอาหารโดยตรง แต่ไปลงเป็นทางอ้อมกับการขนส่ง การปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน รถ พนักงาน ซอฟต์แวร์ ซึ่งอาจยังไม่จูงใจให้ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปสนใจสนับสนุนมากนัก” คุณนันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ จาก SOS บอก

สำหรับเรื่องเวลา คุณนวพร จาก Food Not Bombs ยอมรับว่ายังคงเป็นข้อจำกัดที่กำลังจัดการกันต่อไปโดยอาศัยการพูดคุยกันตลอดเวลานอกเหนือจากการมาพบกันเพื่อทำอาหาร “สำหรับเรื่องเงินทุน ทางเรามองว่าหากทำให้ความสัมพันธ์กับพ่อค้าแม่ค้าดีอย่างต่อเนื่อง ข้อติดขัดตรงนี้ก็จะค่อย ๆ ลดลงไป เราคงต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ ให้เขาเห็นว่าเราทำจริงและไม่ไปไหน”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดใดที่มีอยู่แล้วหรือเพิ่มขึ้นมา ทั้งสองกลุ่มก็เห็นตรงกันว่า หากยังคงตั้งใจทำต่อไปอย่างที่ตั้งใจแต่แรก ก็จะสามารถคลี่คลายข้อจำกัดเหล่านั้นได้

ต่อจิ๊กซอว์ความร่วมมือ

เมื่อทั้งสองกลุ่มต่างมีศักยภาพและเครือข่ายทั้งคู่ ผู้เข้าร่วมหลากหลายท่านในงานจึงสนใจที่จะพัฒนาความร่วมมือกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนนามกุล นักวิชาการอิสระ ที่ได้พูดถึงการนำโมเดลของการแบ่งปันอาหารลักษณะนี้ในขอนแก่น ซึ่งเป็นเมืองค่อนข้างใหญ่และมีปัญหาเรื่องการจัดการอาหารเหลือท่ามกลางกลุ่มคนอดอยากที่มีมาก โดยเสนอตัวเป็นผู้ประสานงานประจำท้องถิ่นให้

ขณะเดียวกัน ดร.วรงค์ นัยวินิจ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ที่เสนอว่ากาญจนบุรีมีแหล่งวัตถุดิบมากมาย ยินดีที่จะเป็นส่งให้พื้นที่ใกล้เคียงอย่างกรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนในการเชื่อมโยงรัฐเข้ากับกลุ่มเปราะบางแล้วสร้างกลไกเครือข่ายที่ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มเอกชน ทำให้เกิดเป็นระบบขึ้นมาเพื่อให้เห็นความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน 

“แนวคิดของทั้ง SOS และ Food Not Bombs จึงมีประโยชน์มาก ๆ กับทีมของกาญจนบุรี โดยเฉพาะเรื่องของระบบอาสาสมัครซึ่งเราอยากจะให้เกิดขึ้นมาก รวมถึงการสร้างจิตอาสาที่ไม่ง่ายเลย คงต้องขอเรียนรู้กับทางกลุ่มต่อไป”

เช่นเดียวกับอาจารย์พงศกร สงวนศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่มองว่าการสร้างจิตอาสาไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะทำให้ทั้งสองกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันได้ราบรื่นขึ้นจึงอาจทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่ส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ทั้ง Grab LINE MAN Foodpanda และอื่น ๆ หรือจะเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่เข้ามาช่วยขนส่งอาหาร โดยแทนที่จะเป็นเพียงจิตอาสา ก็มีค่าตอบแทนให้ทั้งสองทางเลือกในส่วนนี้ ก็จะยิ่งช่วยกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการมากขึ้น

“อย่างเช่นในช่วงโควิดระบาดหนักก็มีบางหมู่บ้านที่มีแต่คนกักตัวจนร้านอาหารขายไม่ได้ จึงเกิดการจัดตั้งคนกลุ่มหนึ่งมาเพื่อรับออเดอร์จากแต่ละบ้านไปให้ร้านต่าง ๆ และนำอาหารไปส่ง แม้ตรงนี้จะเป็นอาสาสมัครระดับหมู่บ้าน แต่ถ้านำมาขยาย โดยมีค่าเหนื่อยให้ด้วย ก็น่าจะเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้”

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม SOS ที่พยายามเปลี่ยนโครงสร้างเชิงระบบเพื่อจับคู่และส่งต่ออาหาร หรือกลุ่ม Food Not Bombs CNX ที่อยู่ระดับหน้างาน ติดต่อสื่อสารสร้างส่วนร่วมกับสังคมต่อไป ก็ล้วนแต่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การจัดการอาหารเหลือไปสู่กลุ่มที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมีการร่วมมือและมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนต่อไปก็จะยิ่งทำให้แนวทางของทั้งสองกลุ่มสำเร็จไปได้มากขึ้นไปอีก ซึ่งผลสุดท้าย ประโยชน์ทั้งหมดก็จะอยู่ที่กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มด้อยโอกาส และกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมเมืองตามที่ทุกฝ่ายตั้งใจ