Food Not Bombs CNX: อนาร์คิสเชียงใหม่ หัวใจเพื่อคนเปราะบาง

ภาพโลโก้กลุ่ม Food Not Bombs CNX
ขอบคุณภาพจาก: เพจเฟซบุ้คกลุ่ม Food Not Bombs CNX

เขียนโดย: พงศกร สงวนศักดิ์ และสมาชิก(s)กลุ่ม FNB CNX

         ท่ามกลางภาวะวิกฤติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนต่างได้รับผลกระทบทั่วทั้งสังคม โดยเฉพาะ “กลุ่มคนเปราะบาง” ที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองได้น้อย ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ มีหลายภาคส่วนได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยรูปแบบการช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ ข้าวปลาอาหาร ฯลฯ อย่างไรก็ดี อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Food Not Bombs CNX ที่แม้ภารกิจของพวกเขาจะดูเรียบง่าย แต่แนวคิดและวิธีการของพวกเขาพิเศษและแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจน นั่นก็คือการให้ความช่วยเหลือไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้กับระบบทุนนิยมผ่านการทำอาหารแจกจ่ายช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง พวกเขาขับเคลื่อนกลุ่มภายใต้ปรัชญา “อาหารคือสิทธิ” ด้วยแนวทางแบบ “อนาร์คิส” (Anarchist) ในบทความนี้เราจะพาไปตอบคำถามว่า ทำไมอาหารต้องเป็นสิทธิ? แนวทางแบบอนาร์คิสเป็นอย่างไร? ทำไมต้องเป็นแนวทางแบบอนาร์คิส? และสุดท้าย การปรับตัวของกลุ่ม Food Not Bombs CNX ต่อบริบทของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร?

กำเนิด Food Not Bombs

            Food Not Bombs เป็นกลุ่มประชาสังคมแบบใหม่ที่ก่อกำเนิดในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกราว ค.ศ.1980 เพื่อประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Seabrook ทางตอนเหนือของบอสตันในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ คณะ Food Not Bombs กลุ่มแรกจัดกิจกรรมแบ่งปันอาหารให้แก่กัน ณ บริเวณนอกธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1981 ระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารแห่งบอสตันเพื่อประท้วงการแสวงหาประโยชน์จากระบบทุนนิยมและการลงทุนในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ต่อมากลุ่ม Food Not Bombs ได้วางเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ การมองว่า “อาหารคือสิทธิ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ (Food is the right, not privilege)” ด้วยเป้าหมายดังกล่าว พวกเขาจึงใช้แนวทางการทำงานแบบอนาร์คิส[1] หรือการทำงานในแนวระนาบที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคม เน้นเรื่องสวัสดิการด้านอาหาร ด้วยแนวทางการต่อสู้กับระบบทุนนิยมด้วยอาวุธของทุนนิยมเอง แล้วจึงดึงเอาผลประโยชน์จากทุนนิยมมาแบ่งปันให้ “กลุ่มคนเปราะบาง” ในสังคม เช่น การนำผักผลไม้ที่เหลือจากห้างของทุนใหญ่ในแต่ละวัน มาทำอาหารแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนเปราะบาง 

            ปัจจุบันในประเทศไทยมีกลุ่ม Food Not Bombs อยู่ 2 แห่งทั่วประเทศ คือ Food Not Bombs Thailand และ Food Not Bombs CNX จุดกำเนิดของ Food Not Bombs เชียงใหม่ (Food Not Bombs CNX) เริ่มต้นขึ้น ณ ร้านสนิมทุน หลังจากการพูดคุยในวงกินดื่มครั้งหนึ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 บรรดานักกิจกรรมเพื่อสังคมราว 10 คนทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาเอก ช่างสัก ครูสอนภาษาอังกฤษ ทุกคนล้วนเห็นว่าพวกเขาควรทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผู้คนต่างได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ใครบางคนในกลุ่มเสนอแนวทาง Anarchist แบบ Food Not Bombs ขึ้นมา คนในกลุ่มต่างรู้สึกถูกจุดประกาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มนับจากนั้น

Food Not Bombs อินเชียงใหม่ ไทยแลนด์

            จุดประสงค์ของกลุ่ม Food Not Bombs เชียงใหม่ ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก คือ การระดมหาวัตถุดิบมาทำอาหารแจกจ่ายกลุ่มคนเปราะบาง หากแต่สิ่งที่ซับซ้อนอย่างน่าสนใจคือ (1) แนวทางแบบ Anarchist ที่เคร่งครัดกับความสัมพันธ์แนวระนาบ ที่ทุกคนเท่ากัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์แนวดิ่งแบบองค์กร (หรือแม้แต่องค์กรภาคประชาสังคม) แบบเดิม และ (2) การต่อสู้กับทุนนิยม ในส่วนของเรื่องความสัมพันธ์แนวระนาบ คนในกลุ่มจะถือเป็นเพื่อนที่ผลัดกันขึ้นมานำตามความถนัดและความสนใจของตนเอง ไม่มีการแต่งตั้งใครเป็นผู้นำ หัวหน้า รองหัวหน้า เพราะเชื่อว่าลักษณะความสัมพันธ์แนวดิ่งดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการผูกขาดอำนาจและทำลายความสวยงามของความหลากหลายทางความคิดลงไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวเปรียบเสมือนจุดแข็งของกลุ่มในปัจจุบัน 

            อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องการต่อสู้กับทุนนิยมในสังคมไทยเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในสังคมไทย หลังจากที่กลุ่มเริ่มดำเนินการไปแล้วพบว่า ทุนใหญ่ของไทยนั้นตัวใหญ่เกินไป และแทบไม่เหลือช่องทางที่จะเข้าไปช่วงชิงทรัพยากรจากเขามาได้เลย กล่าวคือ ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ผักผลไม้หรือเนื้อสัตว์ที่เหลือในแต่ละวันจากห้างหรือซุปเปอร์มาเก็ตต่าง ๆ (ซึ่งถือเป็นตัวแทนของทุนนิยม) จะต้องถูกคัดทิ้งตามมาตรฐานของพวกทุนเอง กลุ่ม Food Not Bombs ในสหรัฐก็จะไปเก็บหรือขอเอาผักผลไม้มาทำอาหารแจกจ่ายให้กลุ่มคนเปราะบาง โดยทางกลุ่มนิยามว่านี่คือการต่อสู้กับระบบทุนนิยมโดยใช้อาวุธที่ได้จากทุนนิยมเอง แต่ในประเทศไทยผักผลไม้หรือเนื้อสัตว์ที่เหลือในแต่ละวัน จะไม่ถูกคัดทิ้งแบบในสหรัฐ แต่จะถูกนำไปแปรรูปกลับมาเป็นอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ แล้วนำกลับมาขายในตู้แช่แข็งของห้างหรือซุปเปอร์มาเก็ตของพวกเขาอีกครั้ง ดังนั้น Food Not Bombs ในไทยจึงไม่สามารถนำอาวุธของทุนมาใช้เล่นงานทุนได้อย่างในสหรัฐฯ เพราะกลุ่มทุนได้เก็บรักษาอาวุธของพวกเขาไว้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ความใหญ่โตของทุนไทยยังมีอำนาจผูกขาดอยู่ไม่กี่เจ้ายังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กลุ่ม Food Not Bombs ไม่สามารถแย่งชิงทรัพยากรมาจากกลุ่มทุนได้ ในขณะที่ในต่างประเทศ ห้างหรือซุปเปอร์มาเก็ตต่าง ๆ มีความหลากหลายและมีเจ้าของจากหลากหลายกลุ่มหลากหลายเอกชน ในไทยกลับมีเจ้าของห้างหรือซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่อยู่เพียงไม่กี่เจ้า ทำให้กลุ่มทุนสามารถหมุนเวียนส่งต่อทรัพยากรเหลือทิ้งทั้งหลายให้กันและกันได้อย่างสะดวก ไม่เหลือเล็ดลอดออกมาให้กลุ่ม Food Not Bombs แต่อย่างใด

            กิจกรรมรายสัปดาห์ของกลุ่ม เริ่มตั้งแต่เย็นวันเสาร์ โดยทางกลุ่มจะจ่ายตลาดและจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อเตรียมทำอาหารเพื่อแจกจ่ายในวันอาทิตย์ โดยราว ๆ  13.00 น. ของวันอาทิตย์ ทีมงานก็จะไปช่วยกันทำอาหาร ทุกสัปดาห์จะทำอาหารอยู่ประมาณ 50-80 กล่อง จากนั้นเริ่มออกแจกจ่ายราว 18.00 น. เป็นต้นไป การแจกจ่ายกระจายไปประมาณ 4 จุดในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่กลุ่มคนเปราะบางมักอาศัยอยู่ ในระหว่างแจกจ่าย สมาชิกของกลุ่มจะมีกระบวนการที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “เรื่องเล่าเพื่อเยียวยาความเป็นมนุษย์” โดยจะเน้นไปนั่งพูดคุยถามไถ่กับกลุ่มคนเปราะบางทุกคน ไม่ใช่เพียงมารับอาหารแล้วก็ไป กระบวนการนี้ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวน่าสนใจมากมาย เช่น เรื่องราวของพี่คนหนึ่งที่ต้องหาเงินรายวันมาเช่าโรงแรมให้ลูก 2 คนได้เรียนออนไลน์ เรื่องราวของอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จับผลัดจับผลูมากลายเป็นคนไร้บ้านในปัจจุบัน เรื่องราวมากมายเหล่านี้ในทางหนึ่งคือเป็นช่องทางให้กลุ่มคนเปราะบางได้เล่าระบายคลายความทุกข์ทั้งหลายที่พวกเขาแบกรับไว้เต็มบ่า และในอีกทางหนึ่งเป็นการเยียวยาความเป็นมนุษย์ของสมาชิกกลุ่มเอง ที่ได้รับรู้ว่าการกระทำของพวกเขาสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมได้ ทั้งยังได้รับรู้ว่ายังมีมนุษย์อีกมากที่ถูกกระทำโดยระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม และย้ำเตือนถึงความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันต่อไปในสังคม การงานในวันอาทิตย์ที่ว่ามานี้ บางครั้งไปจบเอาตอนสี่ทุ่มห้าทุ่มหรือบางครั้งลากยาวไปถึงเที่ยงคืนตีหนึ่งก็เคยมี ดังนั้นการประชุมสรุปงานที่วางกันไว้ บางครั้งก็ต้องทำในวันถัดไป

            จากการงานอันหนักหน่วงในวันอาทิตย์ วันจันทร์จึงเป็นวันสำคัญในการประชุมสรุปงาน ใครเจอเรื่องเล่าอะไรน่าสนใจบ้าง การใช้จ่ายเป็นอย่างไร ก็จะมาสรุปกันในวันนี้ ช่องทางการสื่อสารสำคัญของพวกเขาคือ การพิมพ์คุยกันในแอพพลิเคชั่นสื่อสารที่คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ (privacy security) ที่พวกเขาเห็นว่ามีความปลอดภัยในการพูดคุย ตามแผนแล้ววันอังคารจะเป็นวันที่ทางกลุ่มตั้งไว้ว่าจะเป็นวันโพสต์รายงานเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาพบเจอมาลงในเพจเฟสบุ๊คเพจ Food Not Bombs CNX โดยรายละเอียดของการโพสต์นั้นมีตั้งแต่การขอบคุณผู้ร่วมสนับสนุน (เงิน วัตถุดิบ คนที่มาช่วยทำอาหาร ฯลฯ) รูปกิจกรรม เชิญชวนคนมาร่วมสนับสนุนในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางแบบ Anarchist ที่ให้ความสำคัญกับทุกความคิดเห็น ทำให้บางครั้งกว่าจะโพสต์ได้ก็ลากยาวไปถึงวันเสาร์ทีเดียว 

ต่อไปในอนาคตของ Food Not Bombs CNX             

แม้ว่ากลุ่ม Food Not Bombs เชียงใหม่จะก่อตั้งมาได้เพียง 6-7 เดือน ทางกลุ่มก็เริ่มเห็นโจทย์ที่สำคัญร่วมกันอยู่ 2 ประเด็นคือ 1. จะสู้กับทุนนิยมไทยที่ยิ่งใหญ่เกินไปโดยไม่ทิ้งแนวทางแบบ Anarchist ได้อย่างไร? หากทุนใหญ่จะมาสนับสนุนวัตถุดิบหลักไปตลอด จะโอเคมั้ย จะเป็นการเข้ามาผูกขาดอำนาจของกลุ่มหรือไม่ อย่างไร?  2. ความเหนียวแน่นของกลุ่ม จะเกาะกลุ่มกันเล็ก ๆ แต่เข้าใจแตกฉานใน Anarchist เสียก่อน แล้วค่อยขยายกลุ่มไปสู่ภายนอก หรือจะเปิดรับผู้คนเข้ามาเป็นสมาชิกเลย โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางเป็นหลัก ซึ่งโจทย์ทั้ง 2 นี้ แน่นอนว่าหากดำเนินการตามแนว Anarchist จะไม่สามารถตอบได้ในวันสองวันหรือภายในเดือนนี้ หากแต่การถกเถียงแลกเปลี่ยนจะดำเนินไปอย่างเข้มข้น แล้วความงอกเงยของความคิดก็จะก่อกำเนิดออกมาตามแนวทางของพวกเขาอย่างแน่นอน


[1] Anarchist คือ แนวคิดที่เน้นการให้ประชาชนมีเสรีภาพจัดการตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลกลางแบบรวมศูนย์ (https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/128227)