โกชีวอน (Goshiwon) เป็นคำเรียกที่พักอาศัยประเภทหนึ่งของเกาหลีใต้ ซึ่งมีขนาดประมาณ 3 – 6 ตารางเมตร ทำให้โกชีวอนส่วนใหญ่จะมีรูปแบบเป็นห้องสตูดิโอ บางที่อาจมีห้องน้ำในตัวด้วย
ห้องพักประเภทนี้ถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับที่พักรูปแบบอื่นๆ ในเกาหลีใต้ แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่ถูกกว่าเช่นกัน ค่าเช่าต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 – 300,000 วอน หรือประมาณ 5,000 – 8,000 บาทไทย ในขณะที่ราคาห้องเช่าประเภทอื่นๆ จะอยู่ที่เฉลี่ย 700,000 – 1,500,000 วอน หรือ 18,000 – 40,000 บาทไทย
ปี 1970 เป็นช่วงเวลาที่โกชีวอนถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่พักสำหรับนักเรียนที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้โกชีวอนมักกระจายตัวอยู่ใกล้ๆ กับมหา’ลัยที่เป็นที่นิยม เช่น มหา’ลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) รูปแบบของโกชีวอนจึงมักจะมีเตียงขนาดเล็กและมีโต๊ะสำหรับอ่านหนังสือโดยเฉพาะ บางที่มีห้องน้ำและห้องครัวรวมอยู่ในตัว เพื่อให้เด็กๆ สามารถโฟกัสกับการเรียนได้เต็มที่
ครั้งหนึ่งโกชีวอนเลยถูกมองว่า เป็นผลลัพธ์ของระบบการศึกษาเกาหลีใต้ที่เข้มข้น และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เมื่อเวลาผ่านไปโกชีวอนไม่ได้เปิดรับแค่คนวัยเรียนเท่านั้น แต่สำหรับทุกๆ คนที่ต้องการที่พักราคาถูก เนื่องจากเกาหลีใต้เองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่พักราคาถีบตัวขึ้นสูง เริ่มตั้งแต่ปี 1980 ที่เกาหลีใต้เผชิญกับภาวะการขาดแคลนที่อยู่อาศัย เหตุผลหนึ่งเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และการกลายเป็นเมือง ทําให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น
การสร้างที่พักอาศัยสำหรับคนที่มีทุนไม่เยอะจึงเกิดขึ้นในเกาหลีใต้มากมาย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงโซล เช่น พันจีฮา (Banjiha) ที่พักแบบ ‘ชั้นกึ่งใต้ดิน (semi basement)’ ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี เพราะมันเป็นที่พักอาศัยของตัวละครหลักในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง ‘ชนชั้นปรสิต (Parasite)’ ที่พักประเภทนี้ราคาเช่าจะอยู่ที่ 50,000 – 100,000 วอนต่อเดือน หรือประมาณ 1,500 – 3,000 บาทไทย
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้โกชีวอนและพันจีฮาราคาถูกกว่าที่พักประเภทอื่นๆ เพราะทำเลของมันถูกสร้างในที่ที่บางคนเลือกได้ก็จะไม่อยู่ อย่างพันจีฮาถูกสร้างชั้นใต้ดิน ทำให้พื้นที่ส่วนมากจะอับชื้น ก่อเชื้อโรคได้ง่าย รวมถึงได้ยินเสียงรบกวนอย่างเสียงรถยนต์ที่วิ่งผ่านถนนที่อยู่ หรือเสียงคนเดินผ่านไปมา ฝั่งโกชีวอนที่ส่วนมากไม่มีหน้าต่าง ถ้าห้องไหนที่มีห้องน้ำในตัว ด้วยความที่พื้นที่คับแคบ ทำให้ห้องน้ำถูกติดตั้งใกล้ๆ กับเตียงนอน หลายคนจึงตั้งคำถามถึงหลักสุขอนามัยที่ควรจะเป็น
ฝั่งรัฐบาลเองก็รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงพยายามออกนโยบายหรือมาตรการที่ช่วยเหลือพลเมือง โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยการพัฒนาที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ตามกฎหมายส่งเสริมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยปี 1972 และกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาที่ดินปี 1980 นอกจากนี้ มีการสร้างหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ เช่น การเคหะแห่งชาติเกาหลี (Korean National Housing Corporation 1973) และบรรษัทพัฒนาที่ดินเกาหลี (Korean Land Development Corporation1979)
แม้ว่าจะมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยออกมาเรื่อยๆ แต่รัฐบาลเกาหลีก็ต้องเผชิญกับราคาที่พักที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ช่วงปี 2002 -2005 ซึ่งรัฐบาลก็แก้ไขปัญหานี้โดยการระงับความต้องการซื้อเพื่อให้ราคาบ้านคงที่ และช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก ทําให้ผู้คนเริ่มมองหาการเช่าบ้านมากขึ้น รัฐบาลเกาหลีได้จัดสรรบ้านและอาคารสําหรับเช่า ภายใต้โครงการบ้านเช่าถาวร (Permanent Rental Housing1989 – PRH) หรือบ้านเช่าถาวรสาธารณะสําหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุด นับตั้งแต่ ปี1988 เป็นต้นมา ห้องสําหรับขายขนาดเล็กประมาณ 20 -36 ตารางเมตร และบ้านเช่าสําหรับกลุ่มรายได้ต่ำถึงปานกลางที่มีขนาดประมาณ33 – 50 ตารางเมตร
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้มีการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ เงินกู้เพื่อการวางมัดจําค่าเช่า (หรือ Chonsei Deposit ที่เกาหลีใต้จะมีระบบเช่าที่พัก 2 แบบ คือ จ่ายเป็นรายปีทีเดียว (Chonsei) หรือจ่ายเป็นรายเดือน ทำให้รัฐบาลออกเงินช่วยเหลือในส่วนของการวางมัดจำ ทำให้ค่าเช่าถูกลง)
ที่ไทยเองก็เผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน คือ ที่พักอาศัยราคาถีบตัวขึ้นสูง ประชาชนบางส่วนไม่สามารถจ่ายได้ ทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย เช่น การเคหะแห่งชาติ ที่มีหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยพร้อมสิ่งอํานวยความสะดวก รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชน
รายงานโครงการ “บทสำรวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ : กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร” โดย ผศ.ดร. พิชญ์พงษ์สวัสดิ์ และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำการวิเคราะห์นโยบายช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลไทยว่า ยังมีไม่มากนัก 3 – 4 โครงการเท่านั้น ได้แก่ โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านยั่งยืน และโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวก็มีการสร้างที่อยู่อาศัยในจํานวนที่จํากัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยังอยู่ไกลจากแหล่งงานหรืออยู่นอกเมือง เช่น แฟลตคลองจั่น แฟลตบางบัว แฟลตร่มเกล้า อาจแสดงว่ารัฐไม่ได้ให้ความสําคัญกับสิทธิการอยู่ในเมือง (Right to the city) ของผู้มีรายได้น้อย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ค่อยให้ความสําคัญกับการพัฒนาที่ดินในเมือง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายของต่างประเทศ ที่ให้ความสําคัญกับสิทธิในการอยู่ในเมือง เช่น นโยบายที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่นจะให้ความสําคัญกับการอยู่ใกล้กับแหล่งงานหรือ “ผู้คนสามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้”
จากสถานการณ์นี้เราในฐานะประชาชนคงทำได้เพียงเฝ้าดูและเตรียมตัวให้พร้อมรับมือ แต่อย่างน้อยเราอาจไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญ มีประเทศอื่นที่เจอและเตรียมแผนรับมือ เพื่อเป็นตัวอย่างหนึ่งให้คนทำงานหยิบมาใช้ได้
อ้างอิง
รายงานโครงการ “บทสำรวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ : กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร”
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/11/113_259187.html
https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000103/KorPorChor/FinalReport.pdf