74 และ 81 คือตัวเลข ‘อายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy)’ ของประชากรไทยที่มีกว่า 66 ล้านคนในตอนนี้
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า อายุขัยเฉลี่ยของประชากรผู้หญิงจะอยู่ที่ 81.05 ปี ส่วนของผู้ชาย 74.92 ปี ส่วนในภาพรวมทั้งโลก โมนาโก (Monaco) ถือเป็นประเทศที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรสูงที่สุดในโลก จากการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2023 อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 87 ปี ตามมาด้วยฮ่องกงที่ติดเป็นอันดับที่ 2 อายุขัยเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 85 ปี ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 73.16 ปี
ซึ่งการมีชีวิตที่ยืนยาวของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงได้ว่า สภาพแวดล้อมในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ เหมาะสมกับการใช้ชีวิต หรือทำให้พวกเขาสามารถหายใจและเดินบนโลกนี้ได้ถึงระยะเวลาเท่าไร
รัฐเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะหน้าที่คือการทำให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่จากข่าวที่เราเห็นกันมาตลอดปี คงทำให้เกิดความกังวลกับคุณภาพชีวิตไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควันที่ยังคงมีอยู่ และมีผลต่อสุขภาพของเรา รวมถึงเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสังคม คือ มีคนเสียชีวิตด้วยสาเหตุมะเร็งปอดแม้จะไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง แต่มีจุดร่วมเหมือนกันคืออาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือ
‘คนไร้บ้าน’ ที่ถือเป็นประชากรคนหนึ่ง อายุเฉลี่ยของพวกเขาอยู่ที่ 50 – 65 ปี จากการสำรวจของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชญานิศวร์ โคโนะ และเขียนลงในรายงานอายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ชญานิศวร์ให้เหตุผลว่า การใช้ชีวิตของคนไร้บ้านมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ มีโอกาสเกิดโรคจากการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ
ทำไมเราถึงต้องสนใจอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตของคนไร้บ้าน?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การมีชีวิตที่ยืนยาวถือเป็นสิทธิหนึ่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับ และรัฐมีหน้าที่ในการมอบสิ่งนั้นให้เรา ผ่านการมี ‘คุณภาพชีวิต’ ที่เหมาะสม คนไร้บ้านที่เป็นประชากรคนหนึ่งก็ต้องได้รับสิ่งนี้เช่นกัน แม้ว่าภาวะที่พวกเขากำลังเผชิญอาจทำให้บางคนตั้งคำถาม หรือมองข้ามไปว่าเขาเป็นพลเมืองเหมือนกัน
มีงานศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การไร้บ้านเป็นภาวะหนึ่งของช่วงชีวิตประชากร เราอาจเจอกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่าง ที่ทำให้เราต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่ภาวะนี้ก็สามารถหายไปได้ โดยเฉพาะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
งานวิจัยสำรวจอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านชิ้นนี้ เลือกสำรวจคนไร้บ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ แบ่งเป็นพักอยู่ในหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) ฯลฯ และข้อมูลจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนไร้บ้าน เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
สาเหตุของการเสียชีวิต ถ้าเป็นคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อ อุบัติเหตุ และอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง นอกจากนี้ สภาพอากาศก็มีผลต่อเรื่องนี้ เช่น ในฤดูร้อนมีคนไร้บ้านที่เสียชีวิตเพราะโรคลมแดด (Heat Stroke) ขณะที่ประชากรอื่นๆ มักเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
ส่วนคนไร้บ้านที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐ สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นเพราะโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือด และความชราภาพ แต่ว่าข้อมูลบันทึกการเสียชีวิตมักจะมีคำว่า ‘สันนิษฐาน’ ประกอบด้วย และไม่ได้มีการชันสูตรศพทุกราย
การจากไปก่อนวัยอันควรของคนไร้บ้าน 2 กลุ่มนี้ อาจเกิดขึ้นน้อยลง หากได้รับการสนับสนุนในการดูแลสุขภาวะของตัวเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ หรือได้รับข้อมูลในการดูแลตัวเองที่เพียงพอ
จากการสำรวจพบอีกว่า อายุเฉลี่ยที่คนจะเข้าสู่ภาวะนี้อยู่ที่ 40 ปี หมายความว่าการช่วยเหลือคนไร้บ้านจะมีระยะเวลาอยู่ที่ 10 ปีโดยเฉลี่ย ชญานิศวร์เขียนเสนอในรายงานว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสำรวจและเก็บข้อมูลของคนไร้บ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อออกแบบความช่วยเหลือต่อไป และที่สำคัญอาจทำให้พวกเขาหลุดจากสภาวะนี้ ได้พลเมืองที่เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศเพิ่ม ถือเป็นความจำเป็นหนึ่งในสภาวะที่ประชากรเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
อยู่หรือตาย อาจเป็นสิ่งที่เราควรได้เลือกเอง ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ก็ควรเป็นมิตรกับการใช้ชีวิตของเราเช่นกัน ไม่ทำให้เราต้องจากโลกนี้ไปทั้งๆ ที่ยังอยากมีชีวิตอยู่
อ้างอิง
รายงาน อายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชญานิศวร์ โคโนะ