ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: การอยู่ร่วมกันระหว่างสังคมกับคนไร้บ้าน “ฮิปเตอร์” ในเมืองท่องเที่ยวต่างประเทศ

“จากประสบการณ์ที่ไปเห็นมาจากต่างประเทศ การออกมานอนข้างนอกในประเทศไทย รัฐหรือท้องถิ่นอาจจะมองว่า ทำไมคุณมาสร้างปัญหาในที่สาธารณะ …ซึ่งประเทศอื่นก็มีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะเต็มไปหมด เมืองที่นักท่องเที่ยวเยอะกว่าเชียงใหม่ก็มีคนไร้บ้านจำนวนมาก คือ เขาก็หากินกับการท่องเที่ยวเหมือนกัน และเขาก็เห็นว่าการมีคนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาสร้างปัญหาให้กับคนอื่นๆ”

คนไร้บ้านในพื้นที่ธนาคารประเทศสเปน

ผศ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นำเสนอประสบการณ์ที่ไปเห็นมาจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างการจัดการเมืองที่เน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างสังคมกับคนไร้บ้าน  ซึ่งการจัดการดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า  “คนทุกคนเป็นคน” มีสิทธิเลือกใช้ชีวิต และนั้นอาจเป็นจุดกำเนิดของวิถีชีวิตแบบ “ฮิปเตอร์”

———————————————————————–

จากประสบการณ์ที่ไปเห็นมาจากต่างประเทศ การออกมานอนข้างนอกในประเทศไทย รัฐหรือท้องถิ่นอาจจะมองว่า ทำไมคุณมาสร้างปัญหาในที่สาธารณะ อย่างที่เชียงใหม่ คุณมานอนอย่างนี้นักท่องเที่ยวมาเยอะนะ เขามาเห็น เขาจะกลัวไหม มันจะดูไม่ดีรึเปล่า ซึ่งประเทศอื่นก็มีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะเต็มไปหมด เมืองที่นักท่องเที่ยวเยอะกว่าเชียงใหม่ก็มีคนไร้บ้านจำนวนมาก คือ เขาก็หากินกับการท่องเที่ยวเหมือนกัน และเขาก็เห็นว่าการมีคนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาสร้างปัญหาให้กับคนอื่นๆ บางคนก็ไปถ่ายพรีเวดดิ้งด้วย

ที่กล่าวมา เพื่อจะให้เห็นว่า จริงๆแล้วมันควรอยู่ร่วมกัน คนทุกคนในช่วงหนึ่งของชีวิตอาจจะเกิดปัญหาจึงมาอยู่อย่างนี้ แต่คำถามคือ รัฐจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง คือมีที่อยู่ หรืออยู่โดยไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาอยู่ในที่สาธารณะ ช่วงหลังวิธีคิดของรัฐเปลี่ยนไป อันนี้ก็ไปถอดบทเรียนกับพอช.และหน่วยงานรัฐได้ว่า ทำไมวิธีคิดเปลี่ยนไป แต่เดาว่ารัฐคงเห็นแล้วว่า วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจริงๆ คือ ทำให้มีที่อยู่ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

วิธีคิดต่อมา คือ การมองคนที่อยู่ในที่สาธารณะ เราไม่ควรมองแค่ว่าพวกเขาเป็นคนอนาถา ต้องเอาของมาแจก เราต้องมองใหม่ ต้องมองว่า เขาเป็นคนที่อาจมีความสามารถอะไรบางอย่าง บางคนอาจจะทำอย่างโน้นได้ อย่างนี้ได้ มีคนที่เป็นศิลปิน หรือเป็นนักเขียนจำนวนไม่น้อยที่ช่วงหนึ่งในชีวิตของพวกเขามาอยู่ในที่สาธารณะ ถ้าตอนนั้นเขาไปอยู่ในที่สาธารณะแล้วมีคนมาทำร้ายเขา หรือเขาเกิดตายไป ก็อาจจะไม่มีศิลปินสร้างสรรค์งาน

ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งทำเรื่องท่องเที่ยว การจัดการเมืองให้น่าอยู่ ให้คนมาท่องเที่ยว ไม่ใช่การทำให้เมืองเป็นระเบียบสวยงาม หรือมีคนมาไล่คนนั่งในที่สาธารณะ แต่มันต้องมีลักษณะการดูแลอาชญากรรมมากกว่า สมมุติว่ามีคนอยู่ในที่สาธารณะ ไม่ใช่ไปกลั่นแกล้งเขา หรือผลักดันให้เขาไม่ให้มาอยู่ตรงนี้ เช่น ไปจุดไฟเผาไล่

จากประสบการณ์ที่ผมไปเห็นมาที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน  ซึ่งมีคนมาเที่ยวปีละ 60 ล้านคน  ตู้เอทีเอ็มจะเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนไร้บ้าน เช่นเดียวกับป้ายรถเมล์ เพราะเขาสามารถใช้หลบแดดหลบฝนได้ เมืองนี้จะมีกฎหมายเลยว่าห้ามไล่ในเวลาที่เขาต้องหลบฝนหลบแดด หลบหนาว อย่างตู้เอทีเอ็ม ถ้าเข้าไปหลังเที่ยงคืนจะเห็นเลยว่า มีคนอยู่สองสามคน ธนาคารจะเป็นสถานที่หลบ ถ้าคนไปหลบที่ธนาคารเกิดหนาวตาย คนก็จะประณามธนาคารว่าทำไมทำอย่างนี้ นี่คือวิธีคิดที่ต่างกันกับเรา คือ เขามองว่าคนทุกคนเป็นคน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไปเชื่อมโยงกับศาสนาของเขาด้วย ว่าจะช่วยเหลือหรือดูแลชีวิตคนอย่างไร นี่คือเรื่องที่ว่า เรามองคนที่ใช้ชีวิตสาธารณะอย่างไร

คนไร้บ้านในเมืองเชียงใหม่

ประเด็นต่อมา คือ ดูแลชีวิตด้านสาธารณสุข เขาจะมองว่าถ้าปล่อยให้คนอยู่ในที่สาธารณะเป็นโรคทำให้คนรังเกียจ มันไม่ใช่ความผิดของคนเป็นโรค เป็นความผิดของเมือง ของสังคม เพราะว่างบประมาณของทั้งประเทศที่ส่งคนไปเรียนเป็นหมอ ไม่ได้มีเป้าหมายส่งคนไปเรียนเพื่อให้เป็นหมออยู่โรงพยาบาลเอกชน และรักษาคนรวย แต่ส่งไปเรียนเพื่อกลับมารักษาคนในสังคม เพราะทุกคนไม่ว่าจะจนแค่ไหนเราก็เสียภาษี เราไปซื้อของสิบบาท เราก็เสียภาษีไปแล้วเจ็ดสิบสตางค์ เพราะมันบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว  อันนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า เขามีสำนึกว่าต้องคืนให้กับชุมชน สังคมที่สร้างเขามา ในการนี้โรงพยาบาลก็จะส่งคนมาดูแลคนเหล่านี้เป็นระยะ

ความงดงามของเมืองท่องเที่ยวที่แท้จริง อย่างเมืองบาร์เซโลน่า  พี่น้องคนไร้บ้านมีสองส่วน ส่วนแรกเขาจะมีโบสถ์ ถ้าเปรียบเทียบกับเราคือวัด คอยดูแลคนที่หลุดออกมาจากครอบครัว อยากเป็นอิสระอะไรอย่างนี้ ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ได้ อยากไปนั่งสวนสาธารณะที่ไหนก็ไป อยากไปเดินดูอะไรก็ไป แต่ช่วงเวลาอาหารก็มาทานอาหารที่โบสถ์ได้ทั้งตอนเช้า-เย็น อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นหน่วยงานรัฐ อันนี้ก็จะเป็นระบบหน่อย เขามองว่า คนไม่ได้อยากอยู่ที่สาธารณะ แต่ไม่มีเงินค่าเช่า ก็จะจัดสรรที่อยู่ให้ อยู่กันเป็นชุมชนเลย (คล้ายๆพอช.ทำ) ชอบทำตัวคล้ายกับวิถีฮิปเตอร์

อันที่จริงวิถีฮิปเตอร์ที่เมืองนอกอาจจะมาจากวิถีคนไร้บ้าน พวกแต่งตัวไว้เครา ผมเท่ห์ๆ เป็นศิลปิน  เขาอยากอยู่ในแบบที่ต่างจากคนอื่น ดูมีอิสระ เขาก็จะสร้างชุมชนที่เป็นอิสระ อยู่แถวนั้น แต่ก็จะมีการดูแลเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้มีอาชญากรรม ไม่ให้มีใครมารุมทำร้าย มีพื้นที่อบอุ่น นอนในที่ร่ม บางคนอาจจะเป็นพวกนักเขียนหรือศิลปินมาก่อน คนกลุ่มนี้ที่เป็นฮิปเตอร์ เป็นกลุ่มคนที่สร้างสรรค์ศิลปะบนท้องถนนในเมืองนั้น เขาไปพ่นพนัง รูปสวยๆ  ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาดู มีอยู่ชุมชนไหนก็ไปดูกัน นี่คือความหลากหลายของเมือง คือ ไม่ใช่มีคนใส่สูทผูกไท มีงานประจำอย่างเดียว มันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ชนชั้น รายได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรเมืองต้องดูแลคนพวกนี้อย่างเท่าเทียม

มีคดีหนึ่งที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีรัฐสวัสดิการดี ในประเทศเขามีคนใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะน้อยมาก ระยะหลังมีสถานการณ์คนอพยพมาจากประเทศอื่นเพื่อเข้ามาหางานทำ คนเหล่านี้มักจะเข้าเมืองถูกกฎหมายไม่ได้ เพราะถ้าเข้าไป แล้วไม่มีเอกสารจะถูกจับ เมื่อเข้าไปอยู่ต้องอยู่แบบหลบหนีเข้าเมือง พอเงินทุนเริ่มหมดก็จะออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เมื่อเกิดปรากฎการณ์นี้เทศบาลก็ไปไล่จับ แล้วพาไปอยู่สถานที่คล้ายคุก (แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าสถานที่กักกัน) ไม่ให้ทำงานไม่ให้ทำอะไร สภาพความเป็นอยู่คล้ายนักโทษ เครือข่ายเอ็นจีโอที่ทำงานในประเด็นนี้ไปเจอ จึงเรียกร้องว่า ทำอย่างนี้ไม่ได้เพราะจับเขาไปอยู่แบบนักโทษทั้งที่ยังไม่ได้ก่ออาชญากรรมอะไรเลย เขาแค่ไม่มีที่อยู่ ก็สู้กันไปถึงศาล ศาลก็ตัดสินออกมาว่า(หวังว่าวันหนึ่งศาลไทยจะพูดแบบนี้) การเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ เขาเป็นคน ปล่อยให้เขาตายหรือทำกับเขาแบบเป็นนักโทษทั้งที่เขายังไม่ได้ทำความผิดอะไร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พอฟ้องขึ้นไปต่อถึงศาลสูง ศาลก็ตัดสินออกมาเหมือนกัน และเพิ่มคำตัดสินเข้าไปอีกว่า ท้องถิ่นต้องนำเงินงบประมาณที่มีอยู่และจัดสรรเพื่อดูแลคน  นำมามาดูแลคนที่ไม่มีที่พึ่ง นี่เป็นตัวอย่างของประเทศสวิสฯที่ดูแลคนต่างด้าว

ถามว่าเกี่ยวกับเมืองไทยอย่างไร ผมมองว่า เชียงใหม่มีคนที่มีปัญหาเรื่องสถานะเยอะ อาจจะเป็นคนไทยอยู่แล้วเพียงแต่ไม่มีเลขบัตร ไม่ได้แจ้งเกิด ทำให้สูญหายไป อันนี้มองว่า เราควรมองคนเหล่านี้ก่อนว่าเป็นคน ก่อนที่จะมองว่าเป็นคนไทยรึเปล่า.

 


ถอดความจากงานเสวนา “ทิศทางการทำงานของเครือข่ายกับพี่น้องคนไร้บ้าน ในอนาคตอันใกล้” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559  ณ ลานกิจกรรมประตูข่วงท่าแพ